‘ชวน หลีกภัย’ – รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในความทรงจำของชาวประมง

ผมร่วมก่อตั้งสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด เมื่อปี 2524 โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมาจากกลุ่มเกษตรกรทำประมงแม่กลอง

ในปี 2524 สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ได้ทดลองจัดตั้งตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง ผมเป็นทั้งเลขานุการสหกรณ์และผู้จัดการตลาดปลา แต่ดำเนินงานอยู่ได้ 7 เดือนก็ต้องยุติกิจการลงชั่วคราวเนื่องมาจากภาวะหนี้สูญที่อาจเกิดขึ้นจนทำให้สหกรณ์ล้มได้

จนปี 2532 ตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ก็ได้เปิดดำเนินการอีกครั้งในวิธีการบริหารแบบใหม่ที่ผมวางแผน ดำเนินงานก้าวหน้าจนเป็นตลาดปลาสหกรณ์ประมงที่มีขนาดใหญ่ ก้าวหน้าที่สุดในประเทศไทยตราบจนทุกวันนี้

สร้างงานและสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้ลูกหลานชาวประมงแม่กลองมีงานทำจำนวนมหาศาล

ปี2525 ผมได้รับเชิญเข้าร่วมสัม,นาเรื่อง “สหกรณ์ประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Fisheries Cooperatives In Southeast Asia)” จัดโดยสหพันธ์สหกรณ์ประมงแห่งชาติญี่ปุ่น (National Federation Fisheries Cooperative Association of Japan) หรือ ZENGYOREN

ที่กรุงโตเกียว พร้อมทัศนศึกษาดูงานประมงและสหกรณ์ประมงญี่ปุ่นที่เมืองนาโกยา และเกาะอิเสะชิมะ (Ise Shima) ไปดูสาวญี่ปุ่นงมหอยมุกที่เกาะนี้

ผมนำเรื่องการจัดตั้งตลาดปลาของสหกรณ์ประมงแม่กลองเสนอในที่สัมมนา ถึงแม้จะยังทำได้ไม่สำเร็จ แต่เป็นแนวคิดที่ก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับของ ZENGYOREN ซึ่งส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและติดตามผลงานโดยตลอดผ่านทางผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นประจำ SEAFDEC (Southeast Asian Fisheries Development Center) ศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำ สมุทรปราการ

ผมได้รับเลือกจากผู้เข้าร่วมสัมมนา 7 ประเทศให้เป็นตัวแทนไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสัมมนาร่วมกับ ดร.จากอินเดียทางทีวี NHK ตลอดการสัมมนามีกล้องของ NHK ติดตามถ่ายภาพตลอดเวลา

การเข้าร่วมสัมมนากับ ZENGYOREN ในปี 2525 ทำให้ได้เห็น “โลกกว้าง” ได้เรียนรู้ความก้าวหน้าด้านการประมงของญี่ปุ่น ได้เห็นการเพาะเลี้ยงที่ทันสมัย เขาพาไปดูการเพาะเลี้ยงปลาไหลญี่ปุ่นอูนางิ (Unagi) ที่เพาะเลี้ยงในถังถ่ายเทไปตามอายุและขนาดของปลา จน 18 เดือนก็นำออกสู่ตลาด

ได้เห็นวิธีนำแท่งคอนกรีตมาทำปะการังเทียมเพื่อสร้างบ้านให้ปลาอยู่อาศัยใต้ทะเล มีการลบหัวแท่งคอนกรีตให้มนเพื่อไม่ให้เกี่ยวอวนชาวประมง

ได้เรียนรู้ปรัชญาการทำประมงของชาวประมงญี่ปุ่นที่จะช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการไปช่วยกันปลูกป่าที่ต้นน้ำ เพื่อให้แนวป่าช่วยประคองตลิ่ง ป้องกันกระแสน้ำไม่ให้ไหลแรงลงมาทำลายตัวอ่อนที่ปากอ่าว

เหนืออื่นใด ได้รับรู้วิธีการให้ความช่วยเหลือชาวประมงของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิดที่ว่าชาวประมงเป็นอาชีพที่อ่อนแอ ไม่สามารถกำหนดราคาปลาได้ ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดในขณะนั้น ไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถกำหนดราคาขายได้

ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้ความช่วยเหลือชาวประมงด้วยการช่วยลดต้นทุนด้วยวิธีช่วยลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมง

ภายใต้แนวคิดว่า

“รัฐบาลไม่ต้องสร้างถนนให้เรือวิ่ง”

(เหมือนรถยนต์ที่รัฐบาลต้องตอบแทนภาษีด้วยการสร้างถนนให้รถวิ่ง).

ผมกลับมาเมืองไทย นำแนวคิดเรื่อง “ขอให้รัฐบาลคืนภาษีน้ำมันให้ชาวประมง เพราะรัฐบาลไม่ต้องสร้างถนนให้เรือวิ่ง” มาจุดประกายเผยแพร่โดยเขียนบทความแสดงความคิดเห็นที่ได้เรียนรู้จากการสัมมนาในญี่ปุ่นลงเต็มหน้า น.ส.พ.มติชนรายวัน

นายไพโรจน์ ไชยพร นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทยในขณะนั้นก็นำประโยคที่ว่า “ขอให้รัฐบาลคืนภาษีน้ำมันให้ชาวประมง เพราะรัฐบาลไม่ต้องสร้างถนนให้เรือวิ่ง” มาเป็นเหตุผลร้องเรียนรัฐบาลให้คืนภาษีน้ำมันให้ชาวประมง

การร้องเรียนนี้ดำเนินผ่านรัฐบาลมาราวสิบปีเศษ หลายสมัย แต่ไม่เป็นผล

จนความเดือดร้อนของชาวประมงถึงขั้นสุกงอมในปลายปี 2537 มีชาวประมงหัวรุนแรงนัดหมายกันจะนำเรือไป “ปิดอ่าว” ทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้ส่งสัญญาณมายังนายจำนงค์ สุขภูติ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ขอร้องชาวประมงไม่ให้ปิดอ่าว รัฐบาลจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเรื่องลดภาษีน้ำมัน

นายจำนงค์ สุขภูติ ได้จัดประชุมสมาชิกสมาคมประมงแห่งประเทศไทยที่โรงแรมแม่น้ำ มีนายกสมาคมประมงจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมประชุมเรื่องความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ และขอให้รัฐบาลลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมง

มีการนัดหมายกับอดีต ส.ส.สมุทรสงครามพรรคประชาธิปัตย์ ให้นายจำนงค์นำนายกสมาคมประมงทั่วประเทศเข้าพบนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้รัฐบาลลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมง ณ ทำเนียบรัฐบาลตอนบ่ายสองโมง

ผมเป็นผู้ร่างหนังสือร้องเรียนฉบับนั้น

พอถึงเวลานัดหมาย นายจำนงค์พร้อมด้วยนายกสมาคมประมงทั่วประเทศรวมทั้งผมด้วย ทั้งหมดเกือบ 20 ชีวิต ยืนตากแดดหัวแดงคอยอยู่นอกประตูทำเนียบที่ยอมเปิดให้เข้าไปพบนายกฯ ชวนมื่อเกือบ 5 โมงเย็น

และในที่สุดรัฐบาลชวน 1 ไม่ได้ลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมงตามที่รับปากไว้ นัยว่าคุณชวนไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวจะสร้าง “แต้มต่อ” ให้ชาวประมงเหนืออาชีพอื่น

นายชวน หลีกภัย ไม่เห็นชาวประมงอยู่ในสายตา

นายจำนงค์ สุขภูติ แสดงความรับผิดชอบต่อชาวประมง ลาออกจากนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทยวันรุ่งขึ้น

และลาออกจากประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์จังหวัดสมุทรสงครามในวันเดียวกัน

ต่อมานายจำนงค์เปลี่ยนชื่อเป็นนายเอนก สุขภูติ

ไม่นานต่อมานายชวน หลีกภัย และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณี ส.ป.ก.4-01 จนต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่

นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 กลางปี 2538

นายสุวโรช พลัง ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน ให้เลขาฯ โทร.มาหาผมที่สมาคมประมงสมุทรสงคราม ขณะนั้นผมเป็นเลขานุการสมาคมประมงสมุทรสงคราม ขอตัวเลขการใช้น้ำมันของชาวประมงเพื่อไปร้องเรียนให้รัฐบาลนายบรรหารลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมง

ผมตอบไปว่า

“น้ำหน้าอย่างพวกคุณ พรรคประชาธิปัตย์ วันที่เป็นรัฐบาลยังไม่มีปัญญาลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมง ทั้งๆ ที่มี ส.ส.จากจังหวัดชายทะเลในพรรคเป็นสิบคน วันนี้เป็นฝ่ายค้านจะมีน้ำยาอะไรมาช่วยชาวประมงได้”

ต่อมา นายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา เซ็นลดภาษีน้ำมันทุกตัวให้ชาวประมงภายในปีแรกที่ดำรงตำแหน่งตามคำร้องเรียนของชาวประมง

นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา คือผู้ที่เห็นใจความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจลดภาษีน้ำมันให้ชาวประมง โดยที่พรรคชาติไทยไม่มี ส.ส.จากหัวเมืองชายทะเลเลยแม้แต่คนเดียว

นโยบายลดภาษีน้ำมันให้ประมงนี้ยังคงอยู่จนทุกวันนี้

วันนี้การเลือกตั้งปี 2562 ผมจึงไม่แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่จะได้ที่นั่งในสภาเหลือแค่ระดับไม่กี่สิบที่นั่ง

เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยจริงใจช่วยเหลือประชาชน ได้แต่ใช้วาทะหลอกล่อไปวันๆ เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัว

ประชาชนเขารู้ทันหมดแล้ว