เทศมองไทย : กำแพงวัดใจ ที่ชายแดนไทย-มาเลย์

เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ เนื้อหาน่าสนใจชิ้นหนึ่ง ปรากฏทั้งในเบอร์นามา สำนักข่าวทางการของมาเลเซีย กับในแชนเนลนิวส์ เอเชีย สื่อโทรทัศน์และเว็บไซต์ของสิงคโปร์ เป็นเรื่องของการตอบคำถามในสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียในวันเดียวกันนั้น

เจ้าของกระทู้คำถามเป็น ส.ส. 2 คนจากรัฐทางตอนเหนือสุดของประเทศมาเลเซีย

คนแรกคือ ส.ส.จากเขตเลือกตั้งเมืองอาเรา ในรัฐปะลิส ชื่อชาฮิดาน คัสซิม

คนที่สองคือ ส.ส.เขตเมืองเมอร์บ็อก ในรัฐเคดาห์ ชื่อนอร์ อัซรีนา ซูริป เป็นกระทู้ถามรัฐบาลมาเลเซีย มี ดร.วัน อซิซาห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบ

ประเด็นของกระทู้ เป็นเรื่องของความตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในการก่อสร้าง “กำแพง” ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา

ส.ส.อาเรา ถามเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินการตามความตกลงดังกล่าวว่า ไปถึงไหนแล้วในเวลานี้

ส่วน ส.ส.จากเมอร์บ็อก ถามต่อเนื่องว่า รัฐบาลมาเลเซียจะเอาอย่าง เลียนแบบสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งมั่นเหลือหลายจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนด้านใต้ติดต่อกับประเทศเม็กซิโก เพื่อกันผู้อพยพหลบหนีข้ามแดนหรืออย่างไร?

คำตอบของรองนายกฯ มาเลเซียชวนให้คิดครับ เธอบอกต่อสภามาเลเซียเอาไว้ว่า กำแพงที่ว่านั้นน่ะมีสนนราคาถึง “กิโลเมตรละ 1 ล้านริงกิต” (ราว 7.8 ล้านบาท) มีความยาวทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร รวมแล้ว 11 ล้านริงกิต หรือราว 85-86 ล้านบาท

รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียบอกว่า “แพงเกินไป” และ “ควรมีการทบทวน”

 

นั่นเป็นคำตอบของกระทู้แรก ส่วนคำตอบของกระทู้ถัดมา ดร.วัน อซิซาห์ บอกอย่างนี้ครับ

“ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี (โดนัลด์) ทรัมป์ ยังไม่ได้รับความเห็นชอบให้สร้างกำแพงระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกเลย ก็เหมือนกันกับในที่นี้ เพราะราคาค่าก่อสร้างมันแพงเกินไป”

แชนเนลนิวส์ เอเชีย ให้ “ปูมหลัง” อันเป็นที่มาของกำแพงไทย-มาเลเซียว่า มีการหยิบยก “ความคิดนี้” ขึ้นมา โดยนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเวลานั้น ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนปี 2016 ต่อมาโครงการนี้ได้รับ “ไฟเขียว” จากที่ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-มาเลเซีย ในการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2018

การประชุมจีบีซีดังกล่าวมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมของไทย กับฮิชัมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

“กำแพงตามแนวชายแดนดังกล่าว ถูกคาดหวังว่าจะช่วยในการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด, อาวุธเถื่อนและน้ำมันเถื่อน รวมไปถึงช่วยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์” แชนเนลนิวส์เอเชียระบุเอาไว้โดยอ้างรายงานจากการประชุมดังกล่าวก่อนหน้านี้

ในรายงานของเบอร์นามาให้รายละเอียดเพิ่มเติมเอาไว้ว่า หลังจากที่ประชุมจีบีซีจะเปิดไฟเขียวนั้น มีการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลเขตแดนทางบกครั้งที่ 25 ร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยมีกรมแผนที่และการสำรวจรังวัดของมาเลเซียทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมขึ้นในมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม จนถึง 2 สิงหาคม เมื่อปีที่ผ่านมา

ที่ประชุมเห็นชอบการก่อสร้างกำแพงขึ้นเป็นรั้วกั้นชายแดนดังกล่าวนี้ด้วย

“คณะทำงานฝ่ายมาเลเซียได้ดำเนินการในส่วนของมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการฝ่ายไทยคาดว่าจะได้ข้อสรุปสุดท้ายหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทยแล้วเสร็จ” รองนายกฯ มาเลเซียอธิบายต่อที่ประชุม

แต่ ดร.วัน อซิซาห์ บอกกับที่ประชุมเทวันรัคยัต หรือสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียเอาไว้ด้วยว่า มาเลเซียกับไทยคงต้องนั่งลงหารือเรื่องนี้กันให้ชัดอีกครั้งว่าจะสร้างอย่างไร ตรง “ตามแนวชายแดน” หรือ “ก่อนถึงชายแดน”

 

นั่นคือปัญหาแรก ปัญหาต่อมาก็คือ นี่ไม่ใช่กำแพงแห่งแรกที่กั้นตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งมีความยาวรวม 656 กิโลเมตรตามข้อมูลของเบอร์นามา ซึ่งระบุไว้ด้วยว่า ตามแนวชายแดนทั้งหมดมี “กำแพง” อยู่แล้วรวมระยะทาง 111 กิโลเมตร

ตัวเลข 1 ล้านริงกิตต่อกิโลเมตร ได้มาจากการสร้างกำแพงเดิมที่ว่านี้

ถ้าจะสร้างเพิ่ม นั่นหมายความว่า กำแพงเดิมที่ผ่านมาต้องมี “ประสิทธิภาพ” ให้เห็น ถ้ายังไม่มี “ต้องเสริมเพิ่มเติม” ให้มี

อ่านข่าวจบแล้ว ผมยังไม่แน่ใจว่า กำแพงความยาว 11 กิโลเมตร จากด่านนอก ถึงด่านสะเดาของไทย ที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับรัฐเคดาห์และรัฐปะลิสของมาเลเซียที่ว่านี้จะมีการสร้างตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่

เพราะนัยของคำว่า “แพง” และ “ควรมีการทบทวน” นั่นส่อให้เห็นเช่นนั้น เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลไทยจะ “มือเติบ” ออกเงินก่อสร้างเองทั้งหมดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

วัดใจกันให้เห็นๆ กระจะๆ อย่างนี้แหละครับ