ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 เมษายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
เรียกว่าเป็นพรรคที่เจอกับอิทธิฤทธิ์ขนานใหญ่ของบัตรใบเดียว มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่ออกแบบโดย “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำหรับพรรคเก่าแก่อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กับตัวเลข ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่ออกมาต่ำร้อย ด้วยตัวเลขกลมๆ อย่างไม่เป็นทางการ คือ 55 ที่นั่ง
ตัวเลขผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องถือว่าเหนือความคาดหมาย หักปากกาเซียนแทบทุกสำนัก เพราะตัวเลข 55 เสียง นอกจากจะต่ำกว่า 100 เสียง ยังส่งผลให้ “อดีตหัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศไขก๊อกแสดงสปิริตเมื่อผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ หลังรู้ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังปิดหีบนับคะแนนเมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 มีนาคม
ซึ่ง “อภิสิทธิ์” เคยประกาศให้คำมั่นก่อนการเลือกตั้งไว้ว่า “หากผลการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ส.ต่ำกว่า 100 เสียง ในฐานะหัวหน้าพรรคก็จะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ”
ยิ่งหากจะสแกนพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องเสียที่นั่ง ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองน้องใหม่มาแรง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงที่แข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร ถือเป็นนัยยะและปัจจัยที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ต้องนำไปวิเคราะห์เพื่อสรุปบทเรียนถึงความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในครั้งนี้
โดยพื้นที่ภาคใต้มี ส.ส.ทั้งหมด 50 เขต พรรคประชาธิปัตย์รักษาเก้าอี้ไว้ได้เพียง 22 เขต และเสียที่นั่งให้กับพรรคคู่แข่งไปถึง 28 เขต แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 13 เขต พรรคภูมิใจไทย 8 เขต พรรคประชาชาติ 6 เขต และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 เขต
ที่สำคัญ ในพื้นที่ภาคใต้เกิดปรากฏการณ์ล้มช้าง คือ อดีต ส.ส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่ง ทั้ง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต ส.ส.พัทลุง “วิทยา แก้วภราดัย” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช “วิรัตน์ กัลยาศิริ” อดีต ส.ส.สงขลา “ศิริโชค โสภา” อดีต ส.ส.สงขลา
ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากที่พรรคประชาธิปัตย์เคยครองแชมป์เก่าในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่กวาดเก้าอี้ ส.ส.ไปถึง 23 เสียง จาก ส.ส.ทั้งหมด 33 เสียง
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้พื้นที่ กทม.มีการชิงชัย ส.ส. 30 เขต พรรคประชาธิปัตย์ถึงกับ “สูญพันธุ์” ไม่สามารถปักธง ส.ส.ได้สักเก้าอี้เดียว โดนพรรคคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชารัฐเข้าป้ายมาอันดับที่หนึ่ง คือ 12 ที่นั่ง รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ พรรคละ 9 ที่นั่งเท่ากัน
ส่วนทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจาก “อภิสิทธิ์” ประกาศไขก๊อกหลังจากนั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 โดยจุดยืนทางการเมืองที่ “อดีตหัวหน้ามาร์ค” ประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐก่อนการเลือกตั้งนั้น อาจจะต้องจบลงไปด้วย
เพราะ “อภิสิทธิ์” บอกกับสมาชิกพรรคไว้ว่า หลังจากประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค ได้แต่งตั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นผู้ดำเนินการรักษาการหัวหน้าพรรคแทน โดยจะมีเรื่องที่จำเป็นตามข้อบังคับพรรคคือ ต้องจัดใหญ่เพื่อให้มีการรับรองงบดุลประจำปี และจัดการให้มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ภายใน 60 วัน
รวมไปถึงการตัดสินใจทางการเมืองซึ่งเป็นหน้าที่ของ กก.บห.และ ส.ส.ชุดใหม่ที่จะตัดสินใจร่วมกัน
แน่นอน ทิศทางและจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จะอยู่ที่การตัดสินใจของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 และ กก.บห.ชุดใหม่ ซึ่งจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากที่ กกต.ประกาศผลรับรองผลการเลือกตั้งวันที่ 9 พฤษภาคม
โดยคาดว่าจะเป็นวันที่ 23 พฤษภาคมนี้
ในเวลานี้แคนดิเดตคู่ชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เหลือเพียง 2 คน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค สายตรงของนายหัว “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และนายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค เพื่อนซี้ของ “อดีตหัวหน้ามาร์ค” ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับทั้ง “ถาวร เสนเนียม” ว่าที่ ส.ส.สงขลา สายตรงของลุงกำนัน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีจุดยืนชัดเจนคือ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ
โดยทีมของนายจุรินทร์ มีชื่อนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.ตาก วางตัวเป็นเลขาธิการพรรค
ขณะที่ทีมของนายกรณ์ มีชื่อของนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรค จะขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค
เพราะทิศทางและจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ก๊ก นั่นคือ ก๊กที่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี “ถาวร เสนเนียม” เป็นแกนนำกลุ่ม
โดยยกเหตุผลที่ว่า ขณะที่เสียงของแกนนำพรรคที่ฟอร์มเสียงตั้งรัฐบาลทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายยังค่อนข้างสูสีกัน อยู่ที่ 245 กับ 250 เนื่องจากต้องรอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
หากพรรคประชาธิปัตย์เล่นบทฝ่ายค้านอิสระ หรือไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจทำให้การเมืองเข้าสู่ทางตัน ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้
และจะยิ่งเข้าทางให้ “บิ๊กตู่” และ คสช. ยังมีอำนาจเต็มบริหารงานได้อีกต่อไป
อีกทั้งหากเข้าร่วมรัฐบาล นโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมการไว้จะมีโอกาสได้นำไปปฏิบัติในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ช่วยเรียกศรัทธา ความเชื่อมั่นและผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ต่อประชาชน
ขณะที่ฝ่ายของผู้อาวุโสภายในพรรคให้ความเห็นไปอีกแนวทางว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรจะผลีผลามและควรมีการสงวนท่าทีในการเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วของพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับดักคอว่า เข้าใจว่ามีคนสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะอยากเป็นรัฐมนตรี แต่อย่าทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรค
สอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มนิวเดม ที่นำโดย “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขตบางกะปิ ที่มีข้อเสนอว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรครวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ เห็นด้วยกับแนวทางให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการออกมาประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ว่าใครหรือฝ่ายไหนจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม เพื่อความสง่างามของพรรคและรักษาอุดมการณ์ สิ่งสำคัญคือการเคารพ 3.9 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้กับพรรคด้วย แนวทางนี้จะเป็นแนวทางที่ซื่อตรงที่สุดต่อประชาชน
ท้ายที่สุดคงต้องอยู่ที่ว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 จะเลือกทางเดินให้กับพรรคสีฟ้าไปในทิศทางไหน และจะกอบกู้ศรัทธา ความเชื่อมั่นให้กลับมาได้มากน้อยเพียงใด