นิยาม แห่ง อัตตา รวบยอด ตัวกู และ ของกู อัตตวาทุปาทาน

ในงานชื่อ “โอสาเรตัพพธรรม” ท่านพุทธทาสภิกขุได้บรรยายถึง “อัตตา” ว่า เป็นเพียงความโง่ ความยึดมั่น ความสำคัญเอาเองว่าตัวกู ว่าของกูนี้เรื่อยขึ้นมา

จนโต จนแก่ จนเฒ่า

อัตตามาจากธาตุของศัพท์ว่า อต ก็ได้ หรือ อส ก็ได้ อตธาตุแปลว่าไปหรือถึงหรือติดต่อกันเป็นนิจ อตธาตุลงวิภัตติปัจจัยเสร็จแล้วสำเร็จรูปเป็นอัตตา

ฉะนั้น อัตตา แปลว่า ผู้ไปหรือผู้ถึง โดยติดต่อกันเป็นนิจ

หมายความว่ามีสิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งไปไหนมาไหนอะไรติดต่อกันอยู่เป็นนิจ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่คนอื่น ก็มีวิญญาณ หรือเจตภูต หรือมีตัวตน หรือมีอะไรก็ตามที่เป็นผู้ไปนั่นมานี่ ทำนั่นทำนี่ ติดต่อกันอยู่เป็นนิจ โดยเป็นคนคนเดียวกันเป็นนิจ

นั่นเป็นคำอธิบายจาก อตธาตุ

กระนั้น เมื่อสัมพันธ์กับ “จิตว่าง” และ “ความว่าง” ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงวิธีวิทยาของท่านพุทธทาสภิกขุอย่างมากด้วยความแยบยล

ขอให้อ่าน

ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยสำหรับคำว่า อัตตา ที่เป็นภาษาบาลีโดยใช้คำประสมว่า “ตัวกู-ของกู” อีกด้วย

ท่านกล่าวว่า

 

การเข้าถึงสัจธรรมเรื่อง “อนัตตา” ก็คือ การตัดขาดจากความยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง คือ ตัดขาดจากความเห็นว่ามี “ตัวกู” หรือมีสิ่งที่เป็น “ของกู” นั่นเอง

คำเตือนของท่านก็คือ “อย่าเห็นอะไรๆ เป็น “ตัวกู” หรือ “ของกู” แต่จงทำอะไรๆ ด้วยความรู้ตัวอย่างแจ่มแจ้ง แล้วเราก็จะไม่เป็นทุกข์”

ท่านพุทธทาสเชื่อว่า ความเห็นผิดไปว่ามี “ตัวกู” ที่สามารถนำวัตถุแห่งความปรารถนามาครอบครองเป็น “ของกู” ได้นั่นเอง คือ รากเหง้าของความยึดมั่นทางอารมณ์

ตามหลักคำสอนเรื่อง “อนิจจตา” แล้ว ความอยากในสิ่งที่ไม่เที่ยงอาจนำไปสู่ “ตัวกู” หรือตัวผู้อยากที่เป็นทุกข์เมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไปในที่สุด ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า คนเราจะต้องเลิกละความเห็นว่ามี “ตัวกู” หรือมีตัวตนเสียก่อน

แล้วจะพ้นทุกข์ได้

ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามี “ตัวกู” เสียแล้ว ความรู้สึกอยากครอบครองของ “ของกู” ก็จะไม่มี ทำให้ทั้งความยึดติดและความทุกข์ที่จะมีมาพร้อมกัน

พลอยหมดไปด้วย

 

ท่านพุทธทาสอธิบายว่า “จิตว่าง” หมายถึงจิตที่ว่างจากความเห็นผิดเกี่ยวกับ “ตัวกู” และ “ของกู” นั่นคือ “จิตว่าง” เป็นจิตที่สมดุลทางจริยธรรม

เป็นจิตที่ปลอดจากความบกพร่องในทางศีลธรรมอันเป็นสิ่งรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การพ้นทุกข์

“จิตว่าง” จึงเป็นแนวคิดทางจริยธรรมพร้อมๆ กับที่เป็นแนวคิดทางจิตวิทยา และเป็นสถานะที่คนเราควรจะพัฒนาขึ้นในจิตใจเพื่อจะได้เข้าถึงนิพพาน

ท่านได้กล่าวถึงเรื่อง “กินอาหารของ “ความว่าง” ซึ่งพรรณนาถึงความเป็นอยู่ในภาวะที่จิตว่างที่ปราศจากความคิดในเรื่อง “ตัวกู” และ “ของกู” ไว้ดังนี้ ทั้งผู้ที่กินและสิ่งที่ถูกกินต่างก็เป็น “ความว่าง” เป็น “ของว่าง””

“ผู้ที่กินในลักษณะนี้ได้ชื่อว่า “ว่าง” เพราะเขาไม่ได้เป็นสัตวะหรือปัจเจกบุคคล ของที่ถูกกินก็เป็น “ของว่าง” หรือเป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ”

“ความว่าง” หรือ “สุญญตา” อันเป็นภาวะที่ว่างจากมลทินทางศีลธรรมและความหลงในตัวตนนี้ไม่มีนัยของความว่างเชิงปรากฏการณ์แต่อย่างใดเลย สิ่งที่ “ว่าง” หรือหายไปก็คือ ความรู้สึกว่ามี “ตัวกู” และ “ของกู” เป็นศูนย์กลางของตัวตน

ในข้อความข้างบนนี้ท่านพุทธทาสชี้ให้เห็นว่า “ความมี “จิตว่าง” ในการกินนั้นไม่ควรเป็นไปในลักษณะที่คิดว่า “ตัวฉัน” กำลังกินอาหารนี้”

แต่ควรคิดว่า “ธาตุขันธ์ต่างๆ ที่ประชุมกันเป็นร่างกายนี้กำลังธาตุต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นอาหาร”

 

ย้อนกลับไปยังธรรมเทศนาว่าด้วย “โอสาเรตัพพธรรม” ของท่านพุทธทาสภิกขุอีกคำรบ 1 ก็จะประจักษ์ในความหมายอันรวบรัดของ “อัตตา”

ไม่ว่าจะมองจาก อตธาตุ ไม่ว่าจะมองจาก อสธาตุ

“มนุษย์เมื่อเริ่มรู้สึกว่าต้องมีอะไรอย่างหนึ่งแน่ที่จะเป็น ผู้กิน ผู้ใช้ ผู้อยู่ ผู้ไป ผู้พูด ผู้นึก ผู้คิด ผู้รู้สึก ผู้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร”

อันนี้แหละเรียกว่า “อัตตา”

แล้วมีความหมายอันใหญ่หลวง คือ เป็นผู้กิน : เป็นผู้กินโลก กินสิ่งทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลก นี่คืออัตตาตามตัวหนังสือ

ขณะเดียวกัน จากหนังสือ “คู่มือมนุษย์” ท่านพุทธทาสภิกขุก็นิยามความหมายแห่ง “อัตตวาทุปาทาน” อย่างรวบรัดว่า

“การยึดถือด้วยการกล่าวว่าเป็นตัว เป็นตน”