ขอ “สัญชาติไทย” ยาก หรือ “ระบบราชการไทย” มีปัญหา?

ปัญหาในการขอสัญชาติไทยยังคงสร้างอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มคนไร้สัญชาติ, คนต่างด้าว และคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยข้อจำกัดของ “สถานะบุคคล” ส่งผลให้การใช้ชีวิตและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในประเทศไทยมีความยากลำบากกว่าผู้อื่น อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกแปลกแยกให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานหลายสิบปี หรือตั้งแต่เกิด

ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็น “คนมีรัฐ” ก็คือการได้รับสัญชาติไทย

 

นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยว่า เดิมทีพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม อนุญาตให้บุตรของชาวต่างชาติที่คลอดในประเทศไทยได้รับสิทธิ์ถือสัญชาติไทย

แต่ภายหลังปี 2515 ได้มีประกาศจากคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 หรือ ปว.337 ขึ้นมาว่า เนื่องด้วยปัญหาความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำการยกเลิกไม่ให้สัญชาติไทยแก่บุตรของชาวต่างชาติและผู้ลี้ภัยที่เข้ามาเกิดในประเทศไทย รวมถึงถอนสิทธิ์คนที่เคยได้รับสัญชาติไทยในกรณีดังกล่าวด้วย

“ต้องเรียนว่าเรื่องพวกนี้มันเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ราชการต้องตรวจสอบก็คือข้อกฎหมาย ว่าคุณเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยหรือเปล่า? พ่อแม่อยู่ในกลุ่มผู้ยกเว้นให้อยู่ในประเทศไทยหรือเปล่า? คุณมีประวัติทางด้านคดีอาญา ยาเสพติด ความมั่นคงอะไรพวกนี้ไหม?

“ซึ่งกระบวนการพวกนี้ การจะได้เป็นสัญชาติไทย ก็ต้องยอมรับว่ามีการตรวจที่ค่อนข้างเข้ม ทั้งจากฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ทั้งฝ่ายสภาความมั่นคง ที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนกลุ่มนี้ไม่เป็นภัยกับบ้านเรา เราก็ถึงจะให้สัญชาติไทย” ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ได้คืนสิทธิ์ในการถือสัญชาติไทยให้แก่บุตรของชาวต่างชาติ และกลุ่มที่ถูกถอนสัญชาติอีกครั้ง แต่มีข้อกำหนดไว้คือ

1. บิดามารดาต้องเข้าในประเทศไทยมาก่อนปี 2538

2. ต้องได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ

และ 3. ต้องอยู่ใน 22 ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในประเทศไทยและได้แยกประเภทไว้แล้ว

สำหรับหลักในการขอสัญชาติไทย จะถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม คือ 1.หลักสายโลหิต 2.หลักการแบ่งดินแดน 3.หลักพระราชบัญญัติคนไทยพลัดถิ่น และ 4.การขอแปลงสัญชาติ โดยแต่ละกลุ่มจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป

อย่างกรณีโค้ช “เช ยอง ซอก” หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ที่อาศัยอยู่ประเทศไทยมานานนับสิบปี กระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความผูกพันของโค้ชเชที่มีต่อประเทศไทย เจ้าตัวจึงตัดสินใจทำเรื่องขอสัญชาติไทย โดยมีสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยเหลือ

เพื่อให้ยอดผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้ได้ปักหลักและพัฒนาวงการกีฬาไทยต่อไปในอนาคต

“เพราะว่าครอบครัวอยู่ที่นี่ ตอนนี้ก็วางแผน (เรื่องขอสัญชาติ) ผมก็ (จะ) อยู่ที่นี่นานๆ ไม่รู้ว่าผม (จะ) เป็นโค้ชทีมชาติไทยได้อีกนานเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าไม่ได้เป็นโค้ชก็จะอยู่ที่ไทย แล้วผมก็อยากช่วยที่สมาคมเทควันโดไทย หรือถ้าเป็น กกท. ก็ได้ครับ ผมอยากช่วยเรื่องกีฬา แล้วถ้ามีสัญชาติไทย หลายอย่างก็ทำได้ดีกว่าเยอะ” เช ยอง ซอก กล่าว

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการขอสัญชาติไทยของโค้ชเช ขณะนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติคำขอแล้ว แต่เจ้าตัวต้องตัดสินใจทิ้งสัญชาติเดิม เนื่องด้วยข้อกฎหมายการขอสัญชาติของประเทศไทยระบุว่า “ห้ามบุคคลใดถือสองสัญชาติ”

ซึ่งต้องรอโค้ชเชตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง

 

น่าสังเกตว่าเมื่อเกิดกรณีปัญหา “คนดัง” ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะดำเนินการร้องขอมายาวนาน ก็มักมีหน่วยงานต่างๆ พยายามยื่นมือเข้ามาแสดงความช่วยเหลือตามกระแสสังคม

อาทิ กรณี “หม่อง ทองดี” หนุ่มน้อยบุตรของชาวเมียนมา ผู้เคยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ด้วยการคว้ารางวัลจากการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2552 จนกลายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและสังคม

หลังจากนั้น หลายองค์กรต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือน้องหม่องหลายด้าน ทั้งเรื่องการศึกษา รวมถึงการขอสัญชาติ

แล้วเรื่องราวก็ค่อยๆ เงียบหาย … กาลเวลาผ่านไป 7 ปี หม่อง ทองดี ก็ยังเป็นเด็กไร้สัญชาติเช่นเดิม

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

สำหรับกฎหมายสัญชาติไทย น้องหม่องไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน โดยผลอัตโนมัติของกฎหมายทั้งๆ ที่เกิดในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะบุพการีเป็นคนต่างด้าว ซึ่งมีลักษณะการเข้าเมืองไม่ถาวร

อย่างไรก็ดี กฎหมายไทยดังกล่าวก็รับรองสิทธิในการให้สัญชาติไทยแบบมีเงื่อนไขตาม ม.7 ทวิ วรรค 2 แก่น้องหม่อง ในลักษณะเดียวกับคนเกิดในไทยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา

โดยเงื่อนไขจะสัมฤทธิผลก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองสิทธิในการใช้สัญชาติไทยให้แก่เขา

ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่าน้องหม่องเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าว และพ่อกับแม่เพิ่งอพยพเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมอบสัญชาติให้

ส่วนกรณีหน่วยงานต่างๆ พยายามเข้ามาช่วยเหลือในการขอสัญชาติให้แก่น้องหม่องนั้น ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องเป็นไปตามขั้นตอนและข้อกฎหมายเท่านั้น

 

อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ คือ เมื่อไม่นานมานี้ นายศิลา นามเทพ มือกีตาร์วง Zeal ได้ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการต่อสู้ของเขาและครอบครัว ในการขอสัญชาติให้กับแม่คือ “นางอายุ นามเทพ” อาจารย์สอนวิชาดนตรี ประจำภาควิชาดุริยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

โดยนายศิลาเล่าว่าคุณแม่ได้ยื่นขอสัญชาติมานานหลายสิบปีแล้ว นับตั้งแต่อพยพเข้ามาประเทศไทยเมื่อปี 2498 จนขณะนี้อายุ 62 ก็ยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ก็ได้คำตอบแต่เพียงว่าต้องไปหาใบยืนยันตัวตนของแม่มาเท่านั้น และไม่เคยได้รับคำแนะนำใดๆ เลย

“อย่างตอนแรกแม่ขอเสร็จให้กลับไปหาใบเกิด ใบเกิดหาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเราอยู่ “ตรงนู้น” มันไม่มีอะไรเหลือที่ “ตรงนั้น” เลย ไล่เราออกประเทศก็ไม่ได้ ไล่ไปไหนล่ะ?

“มันจะเป็นวนลูป ตรงนี้โยนกลับไป ตรงนี้โยนไปข้างหน้า ตรงนี้โยนกลับไป ตรงนี้โยนไปข้างหน้า คือจะโยนไปโยนมาโยนไปโยนมา อันนี้คือตั้งแต่จำความได้เลย ไปหานู่นมาไปหานี่มา มันไม่สามารถหาอะไรไปมากกว่านี้แล้ว” นายศิลา กล่าว

“ชีวิตของแม่ทั้งชีวิตนะ เท่าที่จำความได้ แม่ก็อยู่ในประเทศไทย ความรู้สึกของเราก็เหมือนคนไทยคนนึง เคยมีคนมาเสนอนะ เออเนี่ยก็กลับไปที่พม่า ไปขอเอกสารกลับมา (เพราะ) เราเกิดที่นู่น

“(แต่) คือแม่ไม่มีอะไรผูกติดกับพม่าเลย แล้วจะให้ฉันไปขอทำไม ฉันไม่เคยรู้จักใครที่นั่น แล้วถ้าอยากจะมี มันก็น่าจะเป็นที่นี่ใช่มั้ย ปัญหาเดียวคือแม่เกิดที่ชายแดนเขตนู้น (และอาศัยอยู่จนถึงอายุ) 10 เดือน แล้วหลังจากนั้นทั้งชีวิต ตอนนี้แม่ 61 จะเข้า 62 ก็อยู่ในเมืองไทยตลอด แล้วคิดว่าเราเป็นใครล่ะ” นางอายุ กล่าว

 

เมื่อนำปัญหาที่นางอายุ ได้ต่อสู้เพื่อขอสัญชาติไทยมานานหลายสิบปี ไปสอบถามผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน นายวิเชียรยอมรับว่า กรณีทำนองนี้มีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาอันเกิดจากความไม่แม่นยำในระเบียบกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

“ปัญหาก็คือความไม่แม่นในระเบียบกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ (และยังมีเรื่อง) การเก็บข้อเท็จจริง หลักฐาน พยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งในอดีตเก็บไว้ด้วยระบบกระดาษทั้งหมด

“ระบบกระดาษเนี่ยมันต้องยอมรับว่าความปลอดภัยมันต่ำ มันมีการเพิ่มเติมขึ้นมา แก้ไขอะไร ซึ่งทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ” ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กล่าว

นายวิเชียร ชี้แจงต่อว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้ลดการใช้ดุลยพินิจของปลัดอำเภอในการพิจารณาสัญชาติแก่กลุ่มคนเหล่านี้แล้ว เพื่อลดปัญหาความผิดพลาด และกำลังจะเปลี่ยนมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเพื่อความแม่นยำของข้อมูล

นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางขอสัญชาติไทยให้คนกลุ่มนี้ จากเดิมที่มีเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคนเดียวเท่านั้นที่อนุมัติได้ ปัจจุบัน รมว.มหาดไทย ก็ได้มอบอำนาจดังกล่าวให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด

เพราะฉะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นกลไกในการพิจารณาสัญชาติแทนที่รัฐมนตรี ซึ่งจะช่วยให้การอนุมัติสัญชาติไทยแก่กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลหลายชุดจะพยายามหาทางแก้ปัญหาให้แก่กลุ่มคนไร้สัญชาติ, คนต่างด้าว และคนต่างชาติ ที่ต้องการสัญชาติไทย แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ต้องติดตามต่อไปว่าวิธีแก้ไขปัญหาต่างรูปแบบต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนมาใช้ระบบเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ จะช่วยให้สถานการณ์บรรเทาเบาบางลงได้หรือไม่