ทราย เจริญปุระ : มัณฑะเลย์

-กลิ่นหมาก-

แดดแรงแข็งกล้าฟ้าใส เจ้าหน้าที่สนามบินสวมหมวกซานต้าสีแดงมีตุ้มขาวฟูห้อยตรงปลาย ใส่สูทกับโสร่งและรองเท้าแตะยิ้มแย้มต้อนรับนักเดินทางที่เดินหยีตาออกมาจากเครื่องบิน

มัณฑะเลย์

ทุกคนทำหน้าตกใจตอนรู้ว่าฉันจะไปพม่า 11 วัน

“ไปทำอะไรนานจัง”

ให้ตอบตรงๆ ฉันเองก็ไม่รู้

เพื่อนฝูงคนรอบตัวไปญี่ปุ่น ไปยุโรป ไปเกาหลี

ฉันอยู่พม่า หรี่ตาดูประกายแดดที่เต้นระยิบบนลานจอดรถ มือกุมกระป๋องเบียร์ที่คลายความเย็นลงอย่างรวดเร็ว กลิ่นชานหมากอวลอยู่ในอากาศ

มัณฑะเลย์, หนึ่งในเมืองแสนเศร้าเมื่อเราพอทราบเรื่องราวของผู้คน

ฉันเคยเขียนถึงเรื่องของพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตไปแล้ว (จากหนังสือราชันผู้พลัดแผ่นดิน) คงเป็นการไม่ยุติธรรมนักที่จะตัดสินไปว่าเมืองนี้น่าเศร้าโศกจากเรื่องราวของคนเพียงสองคน แต่ฉันก็อดไม่ได้ มันมีความหลบเร้นลึกลับบางอย่างซ่อนอยู่บนแผ่นดินฝั่งตะวันออกไกล จิตวิญญาณของพวกเราไม่ได้สูงส่งหรือยิ่งใหญ่ไปกว่าเผ่าพันธุ์อื่น แต่มันมีความเจ็บปวดและเมินเฉยต่อชะตากรรมบางอย่าง

เราไม่ค่อยตั้งคำถาม

เราแค่เดินหน้าต่อไป

เราไม่อยากสงสัย

เพราะเรารู้ว่าจะไม่มีวันได้คำตอบ

ออร์เวลล์อาจจะมองเห็นสิ่งนี้ในแววตาของชาวพม่าก็ได้ จึงทำให้เขาตัดสินใจออกจากราชการ กลับยุโรป และเริ่มเขียนนิยาย

-เอริก อาร์เธอร์ แบลร์-

“จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์” (Finding George Orwell in Burma) เป็นหนังสือกึ่งบันทึกการเดินทาง กึ่งบทความการเมือง ซึ่งตามรอยประสบการณ์ของออร์เวลล์ในพม่าช่วงศตวรรษที่ 20 และขณะเดียวกันก็ใส่ใจสำรวจสภาพความเป็นจริงของชีวิตประจำวันภายใต้ระบบเผด็จการอันโหดร้ายที่ครองประเทศทุกวันนี้…

ความเรียงไร้อคติของลาร์คิน ร่างภาพปฏิกิริยาตอบสนองของชาวพม่าต่อสถานการณ์ที่พวกเขาประสบด้วยข้อมูลครบครันแต่ไม่ฟูมฟาย ให้ความกระจ่างแต่ไม่ตัดสิน

“จอร์จ ออร์เวลล์ ใช้ชีวิตอยู่ในพม่าช่วงทศวรรษ 1920 ในฐานะเจ้าหน้าที่กองตำรวจจักรวรรดิ ตลอดเวลา 5 ปี เขาสวมเครื่องแบบกางเกงขี่ม้าสีกากีรัดแน่นจากหัวเข่าถึงข้อเท้า และรองเท้าบู๊ตสีดำเป็นเงาวับ พกปืนและความรู้สึกของผู้มีศีลธรรมสูงส่งกว่าติดตัวไปด้วย

กองตำรวจจักรวรรดิจะลาดตระเวนตามชนบท เพื่อดูแลพื้นที่ห่างไกลของจักรวรรดิอังกฤษแห่งนี้ให้อยู่ในความเรียบร้อย

แต่แล้วโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าใดๆ เขาก็หุนหันเดินทางกลับอังกฤษและยื่นหนังสือลาออก แล้วเริ่มอาชีพนักเขียนโดยทันที

เปลี่ยนจากการใช้ชื่อจริง “เอริก อาร์เธอร์ แบลร์” ไปใช้นามปากกา “จอร์จ ออร์เวลล์” ยามค่ำคืนอันเปียกชื้นและหนาวเหน็บของกรุงลอนดอน เขาสวมใส่เสื้อผ้าสกปรกมอมแมมแบบคนจรจัดแล้วย่ำออกไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวของบรรดาผู้ยากไร้

ออร์เวลล์เขียนเบอร์มีส เดย์, นิยายเรื่องแรกจากประสบการณ์ของเขาในตะวันออกไกล แต่นิยายรุ่นหลังๆ ของเขา อาทิ แอนิมอล ฟาร์ม และ ไนน์ทีน เอตที-โฟร์ ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีวิสัยทัศน์และเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20

กระทั่งในพม่ามีเรื่องพูดแซวกันขำๆ ว่า ออร์เวลล์ไม่ได้แต่งนิยายเกี่ยวกับพม่าเพียงเรื่องเดียว แต่เป็นผลงานไตรภาคอันประกอบด้วยเบอร์มีส เดย์, แอนิมอล ฟาร์ม และ ไนน์ทีน เอตที-โฟร์”*

ฉันไม่รู้ว่าสัมผัสแรกที่กระทบสู่ประสาทของออร์เวลล์ในดินแดนพม่าคืออะไร

แต่ฉันเชื่อว่ามันจะติดตัว ครอบงำ และหลอกหลอนเขาไปจนวันสุดท้ายบนเตียงในโรงพยาบาล

-ศตวรรษที่ 21-

“เขาไม่บล็อกกูเกิลเหรอ?” เพื่อนชาวยุโรปถามขึ้นลอยๆ ระหว่างนั่งรถผ่านร้านขายโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ผุดขึ้นมากมายทั่วทุกมุมถนนในเมืองมัณฑะเลย์

“ไม่รู้สิ” ฉันตอบ

“บางทีคนเราก็มีความเชื่อมั่นแบบแปลกๆ น่ะ ว่าเราดีและมีแต่คนรัก หรือไม่เราก็ใช้ตัวเองตัดสินคนอื่นมากเกินไป คิดว่าที่เป็นอยู่นี้ก็ดีแล้ว และคงไม่มีใครอยากให้มันเปลี่ยนแปลง”

“นี่เธอพูดถึงอะไรเนี่ย” เพื่อนฉันถามเจือเสียงหัวเราะจางๆ ในรถเงียบไปพักใหญ่ก่อนฉันจะตอบ

“ความสัมพันธ์น่ะ ฉันหมายถึงความสัมพันธ์ทุกชนิดบนโลกเลย”

อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว เสียงเพลงดังสนั่นปะปนกันทั้งเสียงเครื่องดนตรีพื้นเมืองและกีตาร์ไฟฟ้า กลิ่นกับข้าวปนกับกลิ่นฝุ่นลอยเข้ามาทางหน้าต่างรถที่เปิดอยู่ ไฟฟ้าจากบ้านสองข้างทางดับวูบกะทันหัน คนขับรถเปิดไฟสูงแล้วพูดเชิงขอโทษว่าบางทีไฟมันก็ดับแบบนี้แหละ เขาชินแล้ว

นี่คือมัณฑะเลย์แบบที่ฉันเห็นมา

“จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์” (Finding George Orwell in Burma) เขียนโดย Emma Larkin แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม, 2559 โดยสำนักพิมพ์มติชน


*ข้อความจากในหนังสือ