“ฮอท-พีรภัทร ศิริเรือง” “นักวิทยาศาสตร์การกีฬา” จากอังกฤษ ผู้เข้ามายกระดับวงการ “มวยไทย”

“มวยไทย” ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย และปัจจุบันกลายเป็นกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัวแล้ว

จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีค่ายมวยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ท่ามกลางการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความเข้มข้น

ดังนั้น แต่ละค่ายจึงพยายามพัฒนาขีดความสามารถของนักมวย เพื่อให้นักกีฬาของตัวเองได้เปรียบคู่ต่อสู้มากที่สุด

เช่นเดียวกับค่ายมวยเพชรยินดีของ “เสี่ยโบ๊ท-ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์” หัวหน้าค่ายและโปรโมเตอร์หนุ่มไฟแรง ลูกชายคนโตของ “เสี่ยเน้า-วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์” ผู้ก่อตั้งค่ายมวยเพชรยินดี ที่มีความคิดนอกกรอบ โดยนำวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัยมาใช้กับนักมวยในค่าย

คนที่รับผิดชอบงานในส่วนนี้คือ “ฮอท-พีรภัทร ศิริเรือง” นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้เคยทำงานให้กับสโมสรฟุตบอล “คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้” ในลีกอังกฤษ มาแล้ว

“ผมเคยออกรายการวิทยุ เอฟเอ็ม 99 สปอร์ต เรดิโอ ประมาณปี 2011 โดยพูดเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาให้คนฟัง ซึ่งตอนนั้นเสี่ยโบ๊ทฟังอยู่พอดี หลังจากนั้นเขาติดต่อมาหาผม และนัดเจอก่อนที่ผมจะเดินทางไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

“เสี่ยโบ๊ทบอกว่า ถ้าเรียนจบให้มาทำงานที่ค่ายมวยเพชรยินดี และสุดท้ายผมก็ได้มาทำงานกับเขาในช่วงปี 2016” ฮอทเผยเบื้องหลังการทำงานกับค่ายมวยเพชรยินดี

จากนั้นฮอทเล่าย้อนไปถึงการทำงานกับสโมสรคาร์ดิฟฟ์ฯ โดยบอกว่า เขามีโอกาสได้ไปเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และปริญญาโทด้านขีดความจำกัดของมนุษย์ ที่มหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ ประเทศอังกฤษ

หลังจากเรียนจบมีวีซ่าเหลืออยู่ที่สหราชอาณาจักรอีก 1 ปี จึงอยากจะหาประสบการณ์ที่ประเทศอังกฤษต่อ และด้วยความที่อังกฤษขึ้นชื่อเรื่องฟุตบอลอยู่แล้ว ทำให้เขาสนใจที่จะทำงานกับสโมสรฟุตบอล

ฮอทคิดว่าสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ น่าจะเป็นสโมสรที่ติดต่อง่ายที่สุด เนื่องจากประธานสโมสรคือ “วินเซนต์ ตัน” เป็นคนมาเลเซีย ก็เลยสมัครเข้าไปเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาประจำสโมสรคาร์ดิฟฟ์ฯ

และทำงานอยู่ที่สโมสรนี้ 1 ฤดูกาล ช่วงปี 2014-2015

“ขอบเขตงานของผมจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ชีวกลศาสตร์การกีฬา สรีรวิทยาการกีฬา คือดูแลสมรรถภาพให้กับนักเตะคาร์ดิฟฟ์ฯ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน ทีมสำรอง รวมถึงนักเตะตัวจริง

“นอกจากนี้ ก็ตรวจเช็กอาการบาดเจ็บของนักเตะ เช่น กล้ามเนื้อ หรือข้อต่อของร่างกายในส่วนต่างๆ และเช็กร่างกายของนักเตะก่อนแข่งว่ามีความฟิตขนาดไหน โดยวัดค่าการใช้ออกซิเจนสูงสุด จากนั้นส่งข้อมูลไปให้เฮดโค้ช เพื่อใช้ประกอบในการจัดตัวผู้เล่นลงสนามแต่ละนัด

“สมมุติว่าจะแข่งอีก 3 วันข้างหน้า โค้ชจะให้โจทย์ว่าตำแหน่งปีกขวาจะเลือกใครลงสนามดี และด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งโค้ชก็จะดูเรื่องความสามารถ ส่วนผมจะดูเรื่องสมรรถภาพเป็นหลัก

“อันดับแรกดูว่านักเตะคนนั้นมีอาการบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหน และต่อมาดูเรื่องการบีบตัวของหัวใจ การใช้ออกซิเจนสูงสุดของเขาเท่าไหร่ ผมจะส่งข้อมูลของนักเตะเป็นชอยส์ให้ผู้จัดการทีมเลือกนักเตะลงสนาม”

ขณะเดียวกันฮอทยอมรับว่า ด้วยความที่เป็นคนเอเชีย เลยมีอุปสรรคบ้างในการทำงาน เพราะฝรั่งจะมองคนเอเชียเป็นอีกระดับหนึ่ง แต่เมื่อทำงานด้วยกันแล้ว เขาแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ข้อจำกัดด้านภาษาหรือเชื้อชาติ จึงไม่ใช่ปัญหาหลักในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในสโมสร

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจกับสโมสรคาร์ดิฟฟ์ฯ ฮอทตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย และเริ่มทำงานกับค่ายมวยเพชรยินดี โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยพัฒนาศักยภาพของนักมวย

จนทำให้ค่ายมวยเพชรยินดีเป็นค่ายมวยเดียวในประเทศไทยที่นำเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงกว่า 5 แสนบาทต่อเดือน

“หน้าที่ของผมหลักๆ คือจะคอยดูแลนักกีฬา เรื่องความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ รวมถึงดูแลสมรรถภาพของนักกีฬา เพราะที่ผ่านมาเคยมีนักฟุตบอลระดับโลกช็อกหรือเสียชีวิตคาสนามมาแล้วหลายคน ผมก็จะคอยสกรีนนิ่งให้นักมวย เพราะนักมวยเป็นกีฬาที่เทรนไม่ต่ำกว่า 300 นาทีต่อสัปดาห์

“การเทรนที่มากกว่า 300 นาทีต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจโต หรืออาจมีความผิดปกติจากการเต้นของหัวใจ”

“นอกจากนี้ นักมวยก็จะได้รู้สมรรถภาพร่างกายตัวเอง ผ่านอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งนักมวยในค่ายจะได้มาเทสต์ร่างกายผ่านเครื่อง CPAP เราจะดูว่านักมวยมีระดับการใช้ออกซิเจนในการออกกำลังกายเท่าไหร่ ใช้ออกซิเจนคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ระดับการหายใจเป็นอย่างไร

“เช็กความฟิต การลดไขมันของนักมวยว่าควรจะไปในทิศทางไหน ก่อนขึ้นชก” นักวิทยาศาสตร์การกีฬาหนุ่มวัย 28 ปี กล่าว

ฮอทสะท้อนมุมมองได้อย่างแหลมคมว่า ปัจจุบันนี้มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาจำนวนมากในประเทศไทย แต่มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ลึกรู้จริงด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

คนเหล่านั้นพร้อมที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาวงการมวยไทย แต่ค่ายมวยส่วนหนึ่งกลับยังคงยึดมั่นกับความเชื่อเดิมๆ จึงไม่เปิดใจรับนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเท่าที่ควร

เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬาก็อาจไม่เข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ ในวงการมวย จึงทำให้ค่ายมวยกับเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่สามารถเดินไปพร้อมกันได้

“ผมจะบอกว่า ผมไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงวงการมวย เพราะว่าหลายๆ อย่างของมวยไทยในสมัยก่อนที่เขาทำๆ กันมาก็ถือว่าดีแล้ว เอาเป็นว่าเรามาหาจุดกึ่งกลางระหว่างวิทยาศาสตร์การกีฬาสมัยใหม่ กับขนบธรรมเนียมของมวยไทยในสมัยก่อน คือเราไม่ได้มาหักล้างในสิ่งที่คุณคิดว่ามันดีอยู่แล้วนะ

“ผมไม่อยากเห็นนักมวยต้องมาบ้วนน้ำลายหน้าตาชั่ง เพื่อทำให้น้ำหนักลดลง หรือเข้าไปเต้นในตู้โทรศัพท์ อยู่ในห้องเซาน่า อบสมุนไพร เพื่อเอาเหงื่อออก น้ำหนักจะได้ลด

“ผมไม่อยากเห็นนักมวยที่บาดเจ็บ กระดูกหัก มีปัญหาเรื่องเอ็น แล้วต้องไปหาหมอเทวดา หมอแมะ เพื่อทำการรักษา หรือดูสีเหงื่อว่าเม็ดไหนข้น เม็ดไหนใส เพื่อเช็กว่านักมวยฟิตหรือไม่ฟิต ปัจจุบันเรามีเครื่องมือ เครื่องวัด เทคโนโลยีรองรับหมดแล้ว และสามารถบอกค่าต่างๆ ของนักมวยได้เที่ยงตรง”

ฮอทกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้คนในวงการมวยเล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬา และนักวิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ได้มาหักล้างธรรมเนียมปฏิบัติของค่ายมวย

ดังนั้น ทั้งค่ายมวยและนักวิทยาศาสตร์การกีฬาควรหาจุดกึ่งกลางร่วมกัน เพื่อยกระดับวงการมวยไทยให้ก้าวหน้ามากกว่านี้