จรัญ มะลูลีม : เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (4)

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษา

ชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ตอนล่างและตอนบนให้ความเคารพและภาคภูมิใจบทบาทของโรงเรียนปอเนาะ (pondok) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาและส่งต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ภาษาและศาสนา

แต่พวกเขาก็อ่อนไหวต่อความพยายามใดๆ ของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนปอเนาะไปสู่สถาบันการศึกษาสมัยใหม่

พวกเขาหวังว่า “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ และรวมเอาหลักสูตรศาสนาและการศึกษาสมัยใหม่เข้าด้วยกันจะมีบทบาทในการรักษาและส่งทอดชาติพันธุ์มาเลย์และเอกลักษณ์ทางศาสนาเอาไว้ (Imtiyaz Yusuf, Many faces of Islam, Bangkok Post, August 10, 2007, p.4)

มาเลเซียควรใช้ความรู้ด้านอิสลามศึกษาถ่ายทอดให้กับประเทศไทยเพื่อให้การแนะนำและการสนับสนุนทางการเงินเพื่อความสะดวกต่อการจัดระเบียบและทำให้ปอเนาะและมัดเราะซะฮ์ที่เป็นสถาบันการศึกษาแบบดั้งเดิมของอิสลามในภาคใต้ของไทยมีความทันสมัย

ความช่วยเหลือนี้จะต้องกระทำผ่านการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของไทยที่เกี่ยวข้องและด้วยวิธีการที่โปร่งใส

เป็นความคิดที่ดีเช่นกันที่ทั้งไทยและมาเลเซียจะร่วมกันนำเสนอสันติศึกษาในหลักสูตรของโรงเรียนของพวกเขา

ยิ่งไปกว่านั้นมาเลเซียควรให้ทุนการศึกษากับนักเรียนไทยในภาคใต้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีศาสนาใดเป็นพื้นฐานก็ตาม เพื่อเข้าไปศึกษาในสถาบันชั้นสูงของมาเลเซีย

รวมทั้งการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และควรให้การสนับสนุนนักศึกษาปริญญาตรีด้วย

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่าไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดรูปแบบความมั่นใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นความต้องการของทั้งสองประเทศ

(Omar Farouk Bajunid, The Malaysian Factor in the Prospects for Peace in Southern Thailand in Imtiyaz Yusuf and Lars Peter Schmidt (eds) Understanding Conflict and Approaching Peace in Southern Thailand (Bangkok : Konrad Adenauer Stiftung) pp, 232-33)

 

ในด้านศาสนาได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือของผู้นำทางศาสนาของทั้งสองประเทศด้วยความร่วมมือของชัยคุลอิสลาม (จุฬาราชมนตรี) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดกับผู้นำทางศาสนาอื่นๆ จากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง

ในด้านการศึกษาขั้นสูงนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนภาษามาเลย์ (Bahasa Malaysia) และมาเลย์ศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสำหรับปริญญาตรี แม้ว่าภาษามาเลย์จะถูกสอนเป็นวิชาโทในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาตั้งแต่ปี 1926 และต่อมาจะเปิดเป็นวิชาเอกในปี 1989 กระนั้นกว่ามาเลย์ศึกษาจะได้เริ่มสอนจริงๆ ก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 1996

ในที่สุดการศึกษาภาษามาเลย์และมาเลเซียศึกษาก็ได้นำไปสู่ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมาเลเซีย รวมทั้งรัฐบาล สถาบันการศึกษาและสถาบันของเอกชนและเนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ของมาเลเซีย

การมีความใกล้ชิดและข้อได้เปรียบที่ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงมีโอกาสที่จะมีบทบาทนำในการเปิดสอนภาษามาเลย์และมาเลย์ศึกษา

ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยในด้านที่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจระหว่างสองประเทศได้มากขึ้น

 

ด้วยความคิดดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหลายฉบับว่าด้วยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งของมาเลเซีย

รวมทั้งมหาวิทยาลัยซายห์ มาเลเซีย (University Sains Malaysia) มหาวิทยาลัยนานาชาติอิสลาม มาเลเซีย (Islamic international University of Malaysia) มหาวิทยาลัยปูเตรา มาเลเซีย (University Utera Malaysia) และเดวัน บาฮาซา ดัน ปุสตากอ (Dewan Bahasa da Pustaka)

บันทึกความเข้าใจเหล่านี้บังเกิดผลได้อย่างแท้จริงในหลายๆ ด้าน (Voravit Baru, Cooperation – Malay Studies between Thailand and Malaysia, Rajaphruek Bunga Raja, 50 years of everlasting friendship between Thailand and Malaysia 1957-2002, p.135)

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในปี 2007 เมื่อนายกรัฐมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์ เดินทางไปเยือนมาเลเซีย บันทึกความเข้าใจนี้เป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของสองประเทศ ตามบันทึกความเข้าใจที่จะมีการแลกเปลี่ยนเครื่องมือการสอน รวมทั้งโครงการแลกเปลี่ยนและการประชุมสัมมนา ฯลฯ

โดยเน้นความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและศาสนศึกษา รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรพิเศษและการยอมรับหลักสูตรการศึกษาของแต่ละฝ่าย

 

นักศึกษาไทยในมาเลเซีย

ปัจจุบันมีนักศึกษามาเลเซีย ศึกษาในประเทศไทยหลายระดับ นักศึกษาบางคนก็มาเรียนหลักสูตรระยะสั้น (short course) เป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง บางคนก็มาศึกษาหนึ่งภาคการศึกษา

ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยกำลังศึกษาในประเทศมาเลเซียอยู่ 734 คน โดย 186 คน ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง 200 คนอยู่ในสถาบันของรัฐ 157 คนอยู่ในโรงเรียนเอกชน และ 191 คนอยู่โรงเรียนรัฐบาล

ปี 2014 ในระดับมัธยม มีนักศึกษาไทย 60 คน ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอิสลามนานาชาติ อัดนี (Adni International Islamic School) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงของมาเลเซีย

จุดมุ่งหมายสำคัญของผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานไปศึกษาในมาเลเซียก็เพื่อให้รู้ภาษาอังกฤษและบาฮาซา มาเลเซีย (Bahasa Malaysia) หรือภาษามาเลย์

และด้วยความเชื่อที่ว่าระบบการศึกษาของมาเลเซียนั้นค่อนข้างก้าวหน้า นักเรียนไทยส่วนหนึ่งได้เข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติในมาเลเซียเพื่อเพิ่มพูนความรู้ภาษาอังกฤษและภาษามาเลย์

นักเรียนเหล่านี้จะมาจากทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง

ในรายงานของผู้ปกครองไทย การศึกษาของมาเลเซียจะมุ่งความสนใจไปที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ

และวิชาต่างๆ ก็สอนเพื่อให้นักศึกษาสอบผ่านระดับ “O” (“O” level) จากเคมบริจด์ (สัมภาษณ์ นิ อับดุล รากิบ บิน นิ ฮัซซัม (Nik Abdul Rakib bin Nik Hassan) หัวหน้าศูนย์นูซันดาราศึกษา (Head Nusantara Studies) สาขาภาษามาเลย์และมาเลย์ศึกษา (Department of Malay Languagl and Malay Studies) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ณ ห้อง Rusamilae Ballroom, โรงแรม C.S. ปัตตานี, 8 กุมภาพันธ์, 2014)

ในด้านศาสนาอิสลามได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือของผู้นำทางศาสนาของทั้งสองประเทศ ในฝ่ายของไทยนำโดย ชัยคุลอิสลาม (จุฬาราชมนตรี) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดทางศาสนาและผู้นำทางศาสนาจากจังหวัดต่างๆ รวมทั้งที่มาจากภาคใต้ตอนบนและภาคใต้ตอนล่าง

ในระดับการศึกษาชั้นสูง จะมีการให้ทุนนักศึกษาที่มาจากภาคใต้ตอนล่างเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยกะบังสะอัน (University of Kabangsaan Malaysia) หรือ UKM

ทั้งนี้ นักศึกษาไทยจะศึกษาอยู่ในสาขาต่างๆ ที่มีความหลากหลาย