ลึกแต่ไม่ลับ : “มาตรา 5” ส่งเค้า “ยกเครื่องใหม่” บางส่วน

จรัญ พงษ์จีน
AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

“คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “กรธ.” ที่ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ปล่อยของ ว่าด้วย “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” หมวดพรรคการเมือง หรือ “กฎหมายลูก” เป็นร่างที่ “กรธ.” พิจารณาแล้วเสร็จเบื้องต้น และได้นำเผยแพร่ต่อผู้เกี่ยวข้อง-ประชาชนเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็น

ซึ่ง “กรธ.” ได้จัดเวทีกลาง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไข ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม และปรากฏว่า 2 พรรคการเมืองขาใหญ่ คือ เพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ พร้อมใจกันเล่นแง่

 

โดย “เพื่อไทย” ประกาศบอยคอต ไม่ส่งตัวแทนพรรคไปร่วมสังฆกรรม อ้างว่า “กรธ.” ทำเป็นพิธีกรรม กำหนดการสัมมนาให้เวลาผู้เข้าร่วมเพียง 30 นาที ขณะที่ “กรธ.” มีเวลาชี้แจงถึง 2 ชั่วโมง

จึงเห็นว่า “กรธ.” มีความตั้งใจที่ไม่ให้ผู้เข้าร่วม แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล ผู้ที่ไปร่วมเท่ากับไปร่วมพิธีกรรมให้สังคมเห็นว่าได้รับความคิดเห็นแล้ว หรือแม้กระทั่งหนังสือเชิญไม่ได้มีเป็นกิจจะลักษณะ เพียงแต่ส่งข่าวการประชาสัมพันธ์

จึงมองได้ว่า ใจแคบ เพื่อรวบหัวรวบหาง ใจแคบ ผูกขาดความเห็นตนเองเป็นใหญ่ แทนที่จะใช้ห้วงเวลาอันสำคัญนี้ นำประเทศสู่สังคมโลกอย่างสง่างาม ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ “กรธ.” กลับมองข้ามการมีส่วนร่วม

ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ตามข่าวระบุว่า แม้แกนนำหลายคนจะออกมาวีน ไม่ตอบรับ “กฎหมายลูก” แต่กรณีเดียวกัน กลับเล่นแตกต่างลีลากับเพื่อไทย ด้วยการส่ง “ธนา ชีรวินิจ” อดีต ส.ส.กทม. ไปเป็นตัวแทน อ้างว่านำเอกสารความเห็นไปมอบให้ “กรธ.”

201606031117338-20061002150127-e1481703734461

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีทั้งสิ้น 37 หน้า แบ่งเป็น 10 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 129 มาตรา

ประกอบด้วย “หมวดที่ 1” การจัดตั้งพรรคการเมือง “หมวด 2” การดำเนินกิจกรรมของพรรรคการเมือง “หมวด 3” การส่งผู้สมัคร “หมวด 4” การเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง “หมวด 5” รายได้ของพรรคการเมือง

“หมวด 6” กองทุน “หมวด 7” การใช้จ่ายของพรรคการเมือง “หมวด 8” การสิ้นสุดของพรรคการเมือง “หมวด 9” การควบรวมพรรคการเมือง “หมวด 10” บทกำหนดโทษ และ “บทเฉพาะกาล”

ประเด็นที่ตัวแทนพรรคการเมือง ร้องแรกแหกกระเชอกันมากที่สุด คือ มีหลายจุด อาทิ การก่อตั้งพรรคการเมือง ที่ไปฝังชิพไว้ใน “บทเฉพาะกาล” ว่าด้วย จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจรวมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง

และผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง จะต้องเสียค่ากองทุนประเดิมคนละอย่างน้อย 2,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องเปิดเผยข้อมูลผู้เสียค่ากองทุนประเดิมพรรคการเมืองด้วย

รวมถึงหมวดจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 32 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน ต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา

โดยกำหนดให้สาขาแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขานั้นไม่น้อยกว่า 500 คน

และสมาชิกที่ประสงค์จะยังเป็นสมาชิกอยู่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในเวลา 180 วัน ผู้ซึ่งไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้เป็นอันพ้นจากสมาชิกพรรค และให้พรรคการเมืองแจ้งให้คณะกรรมการทราบว่าด้วยหลักฐานแสดงการชำระค่าบำรุงพรรค

ซึ่งตัวแทนพรรคการเมือง มองว่า “กรธ.” ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กำหนดกฎกติกาหยุมหยิมเกินไป เพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น ทำให้คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่อยากร่วมกันตั้งพรรค ไม่ทางเลือก

แค่ฉบับแรกของ “กฎหมายลูก” เปิดประเด็นด้วย “พรรคการเมือง” ทาง “กรธ.” ก็ชักศึกเข้าบ้านได้เพียบ แต่บังเอิญว่า เครดิตของ “คนการเมือง” เวลานี้ตกต่ำดำดิ่ง อะไรที่เป็นโทษกับนักเลือกตั้ง ไม่ว่ายอดเยี่ยมหรือไม่เอาไหนอย่างไร กระแสสังคมขานรับกันเกรียวกราว

จริงๆ แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มของ “กรธ.” มีอยู่หลายหมวดหมู่ ที่ แม่น้ำ 3 สาย อันได้แก่ “คสช.-ครม.-สนช.” ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ลงเรือลำเดียวกันแล้วก็น่าจะหยวนๆ อวยๆ กันตามประสาคนกันเอง

ว่ากันว่า มาตราที่มีแนวโน้มจะถูกยกเครื่องใหม่มากที่สุด จะใช้กลไกใดมาแก้ไขปรับปรุง อยู่ที่ “วิธีการ”

คือ “มาตรา 5” ที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย”

“ในการประชุมร่วม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่ การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงขี้ขาด”

“มาตรา 5” หมวด 1 บททั่วไป เชื่อว่าน่าจะส่องกล้อง ยกเครื่องใหม่บางส่วน