เทศมองไทย : เศรษฐกิจ กับภาวะ ราคาน้ำมันขาขึ้น

AFP PHOTO / PRAKASH SINGH

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขยับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (โอเปค) ทำความตกลงกันได้ที่จะลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อมา กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปคก็ทำความตกลงตามไปด้วยอีกระลอก กำหนดจะลดการผลิตของกลุ่มลงราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน

เท่านั้นยังไม่พอ ซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโอเปค ยังออกมาสำทับอีกว่า จะลดกำลังการผลิตของตนลงมากกว่าโควต้าตามที่ได้รับมาก่อนหน้านี้

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ต้องการแก้ปัญหาภาวะน้ำมัน “ล้นตลาด” ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับราคาที่เคยพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความพยายามดูดซับน้ำมันดิบส่วนเกินออกจากตลาดโลกนี้มีเป้าหมายชัดเจนอีกเหมือนกันว่าต้องการดึงราคาน้ำมันให้สูงขึ้น

อย่างน้อยก็ควรเกิน 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อลดทอนความยุ่งยากทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศผู้ผลิตทั้งหลายที่งอมพระรามไปตามๆ กันในช่วงที่ผ่านมา หลังจากรายได้จากการขายน้ำมันลดน้อยลงอย่างฮวบฮาบ

AFP PHOTO / JOE KLAMAR
AFP PHOTO / JOE KLAMAR

การร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของการร่วมมือระหว่างโอเปคกับน็อนโอเปคในรอบสองทศวรรษ

คำถามที่ทุกคนถามกันก็คือ ความร่วมมือครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ และจะดึงราคาน้ำมันขึ้นไปถึงระดับใด?

ที่น่าสนใจก็คือ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเพียงไม่กี่วันก็เริ่มอ่อนกำลังลง ตกกลับลงมาแกว่งตัวอยู่ในระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญในวงการน้ำมันหลายคนยังคงกังขาว่า การลดกำลังการผลิตในระดับนี้จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในระยะยาวจริงหรือไม่

บางคนชี้ให้เห็นว่า การลด 1.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้กำลังการผลิตรวมของโอเปคลดลงมาอยู่ที่ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่ “เกินความต้องการ” ของตลาดอยู่ดี

Steve Moore
สตีเฟน มัวร์

สตีเฟน มัวร์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากฟรีดอม เวิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการลดกำลังการผลิตครั้งนี้อาจจะได้ผล หากภาวะ “ล้นตลาด” ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากปัญหามีผลผลิตออกมามากเกินไปจริง

แต่มัวร์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยังเชื่อว่า ภาวะล้นตลาดครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการที่แต่ละประเทศผู้ผลิต ผลิตน้ำมันดิบออกมาให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อขายให้มากเข้าไว้ชดเชยกับระดับราคาที่ต่ำลง แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะปัญหาภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกต่างหาก

เศรษฐกิจชะลอตัว โรงงานผลิตสินค้าชะลอหรือยุติการผลิต ย่อมต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดน้อยลงตามไปด้วยโดยปริยาย

ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ก็คือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระดับราคาน้ำมันที่ต่ำมากๆ น่าจะช่วยให้ “กำลังซื้อ” ในมือของผู้บรีโภคในแต่ละประเทศมีมากขึ้น และช่วยให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าออกมามากขึ้นเศรษฐกิจน่าจะกระเตื้องขึ้น ไม่ตกอยู่ในสภาพชะลอตัวอย่างชัดเจนเหมือนเช่นในเวลานี้

 

ประเด็นที่สำคัญยิ่งอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลกลงราวครึ่งหนึ่งของที่เคยสั่งซื้อ น้ำมันดิบที่หายไปครึ่งหนึ่งนั้นถูกแทนที่ด้วยกำลังการผลิตภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปได้เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากหินน้ำมัน หรือเชลล์ออยล์

นักวิชาการเชื่อว่า ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากหินน้ำมันในสหรัฐอเมริกา พัฒนาเทคโนโลยีของตนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่เคยสูงให้มาอยู่ในระดับที่สามารถทำกำไรได้จากระดับราคาน้ำมันปานกลาง 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว

ในเวลาเดียวกันแนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกในหลายๆ ประเทศ ก็จะกลายเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่า ราคาน้ำมันจะยังไม่พุ่งขึ้นสูงถึงระดับที่เคยสูงเมื่อ 2 ปีก่อนง่ายๆ นัก ถ้าหากเศรษฐกิจโลกยังตกอยู่ในสภาพเช่นที่เป็นอยู่ ไม่วิ่งฉิวปลิวลมเหมือนก่อนหน้านี้