ต่างประเทศ : “เบร็กซิท” กับ “พรีเมียร์ลีก”

ท่ามกลางเค้าลางอันมืดมนของอนาคต “เบร็กซิท” ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงและต่อรองในวงการการเมืองอังกฤษในเวลานี้

อีกหนึ่งคำถามที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ติดตามการเมืองและกีฬาต่างประเทศก็คือ “เบร็กซิท” จะส่งผลอย่างไรกับ “พรีเมียร์ลีก” ลีกฟุตบอลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่คนไทยรู้จักกันดี

เวลานี้ “ข้อตกลงเบร็กซิท” ยังคงไม่ผ่านมติเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนกับภาคธุรกิจของอังกฤษอย่างกว้างขวางไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจกีฬาอย่าง “พรีเมียร์ลีก”

หนึ่งสิ่งที่ส่งผลกระทบกับพรีเมียร์ลีกแล้ว คือ “ค่าเงินปอนด์” อ่อนตัวลง โดยเฉพาะหลังประกาศผลการลงประชามติ ที่ชาวอังกฤษเลือกที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปี 2016 นั่นส่งผลให้ค่าตัวนักเตะที่สโมสรฟุตบอลในอังกฤษต้องจ่ายให้กับสโมสรในลีกคู่แข่งในยุโรปต้องเพิ่มสูงขึ้น

นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ “เมาริซิโอ โปเชตติโน” กุนซือสโมสร “ท็อตแนม ฮอตสเปอร์” ระบุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้สโมสรไก่เดือยทองไม่สามารถเซ็นนักเตะใหม่ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาลได้ พร้อมทั้งเปรียบเทียบ “เบร็กซิท” เป็นเหมือนดังอุบัติเหตุ “รถชน”

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการฟุตบอลก็บอกเช่นกันว่า “ค่าเงินปอนด์” ที่อ่อนลงนั้นมีส่วนทำให้ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เสียแชมป์ในฐานะสโมสรที่ร่ำรวยที่สุดในโลกให้กับสโมสร “บาร์เซโลน่า” และ “รีล มาดริด” สองสโมสรยักษ์ใหญ่จากสเปนไปแล้ว

นอกจากค่าเงินที่ส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษแล้ว เบร็กซิทยังอาจส่งผลกับการคว้าตัวนักเตะหน้าใหม่เข้าสู่สโมสรด้วย

ริชาร์ด สคูดามอร์ อดีตประธานบริหารพรีเมียร์ลีก เคยระบุไว้ระหว่างการรณรงค์สนับสนุนฝ่าย “คงอยู่กับอียู” เมื่อปี 2016 ว่า การแยกตัวจากอียูของอังกฤษนั้นไม่สอดคล้องกับแนวทางของพรีเมียร์ลีกที่ต้องการเปิดให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ

ผลจากเบร็กซิทจะทำให้ความสามารถในการดึงนักเตะที่ดีที่สุดของโลกเข้ามาในอังกฤษนั้นลดต่ำลง ผลจากข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตการทำงาน หรือ “เวิร์กเพอร์มิต” ที่ยุ่งยากมากขึ้น

เงื่อนไขอย่าง “จำนวนการลงเล่นในระดับชาติ” “ค่าตัว” “ค่าเหนื่อย” รวมถึง “ประวัติการเล่น” จะถูกนำมาพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการบริหารรับรอง (จีบีอี) ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เพื่อรับรองว่านักเตะแต่ละรายจะสามารถลงเล่นในพรีเมียร์ลีกได้หรือไม่

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้สันทัดกรณีในวงการฟุตบอลอังกฤษระบุว่านั่นจะทำให้นักเตะอย่าง “เอ็นโกโล กองเต้” ของเชลซี และ “ริยาร์ด มาเรซ” ปีกค่าตัวทำสถิติของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ก่อนที่จะถูกดึงตัวมาจากลีกในฝรั่งเศส ช่วย “เลสเตอร์ ซิตี้” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015-2016 ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สื่ออังกฤษอย่างบีบีซีรายงานเอาไว้เมื่อปี 2016 ว่า มีนักเตะในลีกสูงสุดในสหราชอาณาจักร 2 ลีกอย่างพรีเมียร์ลีก และสก็อตติช พรีเมียร์ลีก จำนวนถึง 332 คน ที่จะไม่ผ่านมาตรฐานสำหรับแข้งนอกอียูที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ หลังอังกฤษแยกตัวออกจากอียูแล้วจะเป็นการปิดประตู “พรีเมียร์ลีก” จากการเซ็นนักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปีจากชาติต่างๆ ในยุโรปลง เว้นแต่อังกฤษจะยังคงอยู่ในเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีอีเอ) ต่อไป ซึ่งนั่นก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก

สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือฟีฟ่า มีข้อห้ามการซื้อขายนักเตะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ก็มีข้อยกเว้นการซื้อขายในอีอีเอ ทำให้ก่อนหน้านี้สโมสรในอังกฤษอย่างอาร์เซนอลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถดึงตัวนักเตะอย่าง “เชส ฟาเบกาส” และ “ปอล ป็อกบา” มาในอังกฤษได้ตั้งแต่มีอายุได้เพียง 16 ปีเท่านั้น

เบร็กซิทอาจส่งผลกระทบกับรายได้สโมสรในทางอ้อมด้วยเช่นกันหากเงินในกระเป๋าของชาวอังกฤษลดน้อยลง แน่นอนว่ายอดขายตั๋วและสินค้าสโมสรย่อมลดน้อยลงเป็นเงาตามตัว

เมื่อบวกกับแนวโน้มสัญญาในการให้สิทธิถ่ายทอดสดกับต่างประเทศในช่วงปี 2019-2022 ที่มีมูลค่าลดลงจากมูลค่าสัญญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้น่าคิดว่า อนาคตลีกฟุตบอลยอดฮิตแดนผู้ดีแห่งนี้จะเผชิญแรงกระแทกจาก “เบร็กซิท” ได้มากน้อยเพียงใด