เกษียร เตชะพีระ | จังหวะประชานิยมจากการเลือกตั้ง

เกษียร เตชะพีระ

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดในระยะยาวต่อการเมืองไทยช่วงปลี่ยนผ่านที่การเลือกตั้งครั้งนี้นำมา คือการอุบัติขึ้นของจังหวะประชานิยมทางการเมือง (the political populist moment)

เงื่อนไขที่มาบรรจบกันจนเกิดเป็นโครงสร้างโอกาสทางการเมือง (political opportunity structure) ให้แก่การปรากฏตัวขึ้นของพลังประชานิยมทางการเมือง ได้แก่ :-

– การหายไปจากสังคมการเมืองไทยของสองผู้นำประชานิยมเดิมในช่วงผลัดแผ่นดินและการลี้ภัยเองทางการเมือง (self-imposed political exile)

– ระเบียบอำนาจแม่น้ำทั้งห้าสายของ คสช.ที่ทั้งต้องสงสัยมัวหมองว่าทุจริตฉ้อฉล ทว่าอยู่เหนือการตรวจสอบ และใช้อำนาจเด็ดขาดโดยไม่รับฟังเสียง ไม่สนองตอบ และเพิกเฉยต่อความเรียกร้องต้องการของประชาชน

– ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ลงมากในหมู่คนชั้นรากหญ้า

– การเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้ผู้นำประชานิยมทางการเมืองเกิดขึ้นและน่าจะทะลวงผ่านด่านเลือกตั้งเข้าสู่ระบบการเมืองได้ (electoral breakthrough)

– จังหวะประชานิยม (the populist moment) ในทางสากล เช่น การผงาดขึ้นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา, ประชามติเบร็กซิทในสหราชอาณาจักร, การขึ้นสู่อำนาจและกระแสสูงของพรรคและผู้นำการเมืองประชานิยมในหลายประเทศยุโรปและทวีปอื่นๆ

– การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ค่อยๆ จุดติดขึ้นและสำเร็จในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย, เวเนซุเอลา, แอลจีเรีย เป็นต้น

ในแง่หนึ่ง การเมืองแบบเปิดของไทยที่ผ่านมาได้ปรากฏผู้นำและการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบประชานิยมขึ้นไม่ขาดสาย ทั้งฝ่ายชนชั้นนำและฝ่ายค้านในอดีต เช่น

– อุปมา populist king ในรัชกาลที่แล้ว (ธงชัย วินิจจะกูล, “ประวัติศาสตร์ไทยแบบ ราชาชาตินิยม”, ศิลปวัฒนธรรม, 23 : 1, พ.ย. 2544)

– ขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งชูคำขวัญ “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” จากวรรคทองในบทกลอนของคุณวิสา คัญทัพ

– สมัชชาคนจน

– ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น

ในความหมายนี้ ประเพณีการเมืองแบบประชานิยมมีเป็นพื้นเพและมรดกทางการเมืองวัฒนธรรมอยู่ในสังคมการเมืองไทยแต่เดิมแล้ว รอให้คนรุ่นหลังจดจำ ผลิตซ้ำ และหยิบมาใช้รณรงค์เคลื่อนไหว

สัมฤทธิผลที่เห็นได้ชัดของพลังการเมืองแบบประชานิยมที่ผ่านมาระหว่างช่วงการตั้งพรรคการเมืองต่างๆ และรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (ราวไม่ถึงหนึ่งปี) ได้แก่ :

การปักธงทั้งในแง่ระเบียบวาระประเด็นทางการเมืองและขยายพรมแดนวาทกรรมทางการเมืองที่พูดได้และยอมรับได้ในที่สาธารณะ (agenda setting) จนพรรคฝ่ายอื่นๆ ต้องหันมาถกเถียงเรื่องนี้บ้าง เช่น ต่อต้านเผด็จการ ลบล้างมรดก คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ การเมืองในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

– ความนิยมที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนเขตเมืองและมหาวิทยาลัยต่างๆ ต่อพรรคการเมืองและผู้นำบางรายซึ่งน่าจะแปรเป็นคะแนนเสียงที่เข้มแข็งในการเลือกตั้งได้ (electoral strength)

– ผลกระทบเชิงนโยบาย (policy impact) ซึ่งจะปรากฏชัดขึ้นหลังการเลือกตั้ง

– ปัญหาของผู้นำประชานิยมในการเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะได้ล่วงเลยเรื่องการทะลุทะลวงฝ่าด่านเลือกตั้ง (electoral breakthrough) ไปแล้ว คำถามถัดไปคือ จะธำรงรักษาการยืนหยัดอยู่ในระบบการเมืองอย่างยั่งยืนผ่านการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง (electoral persistence) ได้อย่างไร? ซึ่งก็คือปัญหาการสร้างพรรค/ขบวนการทางสังคมแบบประชานิยมนั่นเอง ทั้งในแง่เกาะติดพื้นที่ฐานเสียงแน่ชัดของพรรค, แนวนโยบาย และผู้ปฏิบัติงาน

ส่วนผลกระทบของพลังการเมืองประชานิยมต่อช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในทิศทางไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้นของไทยจากระบอบอำนาจนิยมเต็มใบหรือแบบปิด (full or close authoritariansim) ไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบแข่งขันหรือจากการเลือกตั้ง -> competitive or electoral authoritarianism) อาจประเมินตามข้อประมวลสรุปของคาส มูด์เด และคริสโตวัล โรวีรา คัลต์วัสเซอร์ ในประชานิยม : คู่มือฉบับพกพา (เกษียร เตชะพีระ แปล, 2561, น.172) ได้ว่ามีผลเชิงบวก (ดูแผนผังในรูปวงรี)

มูด์เดและโรวีราบรรยายความตอนนี้ว่า :

“ผลกระทบของประชานิยมต่อกระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยอาจแบ่งออกได้เป็นสามฉากตอนด้วยกัน ได้แก่ การเปิดเสรี การเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตย และการหยั่งประชาธิปไตยลึกลงไป (liberalization, democratic transition, and democratic deepening)

“ในระหว่างขั้นตอนแรกของ “การเปิดเสรี” (ซึ่งก็คือขั้นตอนการเลือกตั้งปัจจุบัน ในสังคมการเมืองไทย – ผู้เขียน) เมื่อระบอบอำนาจนิยมผ่อนคลายข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งต่างๆ ลงและขยายสิทธิบางประการของปัจเจกบุคคลและกลุ่มออกไป กล่าวอย่างหยาบๆ แล้ว ประชานิยมมีแนวโน้มจะเป็นพลังบวกต่อประชาธิปไตย (เน้นโดยผู้เขียน) เนื่องจากประชานิยมช่วยถกแถลงชี้แจงข้อเรียกร้องเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนและการปกครองด้วยเสียงข้างมากออกมา ซึ่งตั้งคำถามกับรูปแบบการกำราบปราบปรามของรัฐที่ดำรงอยู่ มันจึงอุทิศคุณูปการให้แก่การก่อร่างสร้าง “กรอบแม่บท” ที่ผู้นำฝ่ายค้านสามารถอาศัยไปรณรงค์ขับเคลื่อนบรรดาผู้คัดค้านระบอบปกครอง (ทั้งปวง) ได้ ตัวอย่างที่ดีของการนี้หาพบได้ในบทบาทที่ประชานิยมแสดงในขบวนการฝ่ายค้านอันกว้างขวางบางขบวนในยุโรปตะวันออกสมัยอยู่ใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดได้แก่สหภาพแรงงานโซลิดาริตี้ในโปแลนด์” (น.173-174)

ฉะนั้น ภายใต้โครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่เปิดออกให้เป็นจังหวะประชานิยม (ด้านอุปสงค์หรือ demand ของประชานิยม) นี้ หากแม้นพลังการเมืองประชานิยมที่ปรากฏขึ้น (ผู้นำ, ขบวนการสังคม, พรรคการเมือง อันเป็นด้านอุปทานหรือ supply ของประชานิยม) สามารถแปรเปลี่ยน วางรากฐานและพัฒนาคืบหน้า กว้างและลึกต่อไปได้ในสังคมการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา กล่าวคือ

ไม่หยุดแค่เป็นเพียง “ผู้นำกระแสนิยม” ชั่วครู่ชั่วคราว (an ad hoc popular leader ตามข้อสังเกตอันแหลมคมของเพื่อนนักข่าววัยเยาว์ของผู้เขียนท่านหนึ่ง) หากพัฒนาไปเป็น “ผู้นำประชานิยมบารมี” (a charismatic populist leader) เต็มที่

ไม่หยุดแค่เป็นเพียง “พรรคเลือกตั้งเชิงหลักนโยบาย/พาหนะเลือกตั้งส่วนตัวบุคคล” (a programmatic electoralist party/a personalist electoral vehicle) หากขยายตัวเติบใหญ่ไปเป็น “พรรคประชานิยมอิงฐานมวลชน” (a mass-based populist party) เต็มรูปแบบ ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทางบวกแก่กระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในระยะปัจจุบันได้

คำถามคือ แล้วฉากทัศน์การเมืองหลังการเลือกตั้งน่าจะเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่าอาจเป็นเช่นนี้คือ :

– พลังอุปสงค์ประชานิยมทางการเมืองที่ตื่นตัวขึ้นจากการรณรงค์หาเสียงและผลการเลือกตั้งจะปะทะชนในเวลาอันรวดเร็วกับขอบเขตจำกัดของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่อไปในทิศทางประชาธิปไตยจากโครงสร้างอำนาจของรัฐธรรมนูญ คสช. 2560 (วุฒิสภาดังที่เป็นอยู่, เผยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, อำนาจเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งครอบงำกำกับอยู่เหนือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ) ซึ่งมีพลังฝ่ายอนุรักษนิยม-อำนาจนิยมเดิมหนุนหลังอยู่

– หากเกิดการแข็งขืนขัดขวางกระบวนการริเริ่มปฏิรูปการเมืองสืบต่อไป ก็น่าวิตกว่า ความผิดหวังและอาการตาสว่างต่อระเบียบอำนาจเดิมจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (rising disappointment & rising disillusionment with the Establishment) ส่งแรงผลักดันความขัดแย้งให้กระฉอกทะลักล้นออกไปนอกกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง ในลักษณะการเมืองภาคประชาชนตามสิทธิเสรีภาพที่มีภายใต้กฎหมาย

– ทางออกน่าจะได้แก่ การเปิดขยายพื้นที่ความเป็นไปได้ภายในกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง (รัฐสภา, รัฐบาล, พรรคการเมือง ฯลฯ) ให้เป็นเวทีเจรจาต่อรองที่เชื่อมโยงกับพลังประชาชนภายนอก เพื่อรองรับการริเริ่มกระบวนการปฏิรูประเบียบอำนาจใหม่มากขึ้น

นำไปสู่การค่อยๆ หาจุดบรรจบผสานระหว่างเจตนารมณ์ทั่วไปเพื่อการปฏิรูประเบียบการเมืองใหม่ทั้งจากชนชั้นนำเบื้องบนและประชาชนเบื้องล่าง