เมื่อทุกอย่าง ‘ล็อกไว้หมดแล้ว’

กติกาที่เอารัดเอาเปรียบ ท่าทีของผู้มีอำนาจที่ไม่สะดุ้งสะเทือนกับข้อครหา เหมือนเห็นการเลือกตั้งเป็นสมรภูมิ หรือสนามรบที่เป้าหมายอยู่ที่ชนะข้าศึก ส่วนจะชนะด้วยวิธีไหนไม่ใช่เรื่องสำคัญ

แต่ที่หนักกว่านั้นคือความกังวลที่เลยไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ 250 ส.ว.เป็นเงื่อนไขสำคัญ

ประชาชนต้องการแบบหนึ่ง แต่กระบวนการจัดการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลจะไม่เป็นไปอย่างที่ประชาชนต้องการ

ความเป็นไปที่ต้องประเมินคือ ประชาชนจะทำใจได้หรือไม่

นักวิเคราะห์การเมืองจำนวนไม่น้อยชี้ว่า โอกาสที่จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นสูง

แต่ข่าวจากวงในชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วงอะไรมากนัก เพราะมีข้อมูลที่ปูพื้นให้ทำใจกับความเป็นไปเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องมาแล้ว

นั่นคือโพลของสำนักสำรวจต่างๆ ที่เป็นทางการเมือง ออกมาในทิศทางเดียวกันหมด

ทุกครั้งสำรวจจะออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ฝากความหวังไว้ที่พรรคเพื่อไทย แต่เมื่อถามว่าจะเลือกตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่กลับตอบว่าเลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เลือกตั้งที่กาบัตรใบเดียวส่งผลทั้งต่อ ส.ส.เขต, ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และนายกรัฐมนตรี กลับกลายเป็นไปคนละทาง เหมือนคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้

ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาการเมืองชี้ให้เห็นว่า ผลของโพลที่ออกมาย้ำในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมา ย่อมชี้นำความคิดของคนให้รู้สึกมาอย่างต่อเนื่องแล้วว่า ไม่แปลกอะไรหากเลือกพรรคหนึ่งแล้วคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะมาจากอีกพรรค

และนั่นเป็นความคาดหวังของคนส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ

ด้วยผลโพลที่ปูทางให้เห็นความเป็นไปมาตลอดเช่นนี้ ทำให้เชื่อว่าความยุ่งยากไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของผู้คน

เหมือนกับว่าเป็นต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ที่จะต้องเสียความรู้สึกจะมีแต่นักการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่มีข้อมูลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสกปรกที่สุด แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกเรื่องราวล้วนเตรียมการมาให้เป็นเช่นนั้นเรียบร้อยก่อนการลงคะแนนอยู่แล้ว

นักการเมืองกลุ่มนี้ทำสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้งหลังการลงคะแนน และรู้ว่า ผลออกมาเป็นอย่างไร แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นการสำรวจที่ไม่เป็นทางการ

ทุกอย่างล็อกไว้หมดแล้ว

อย่าว่าแต่ปลดล็อก แม้แค่คลายให้พอหายอึดอัด ก็เป็นไปไม่ได้