จรัญ มะลูลีม : อัตตาธิปไตยอิหร่าน สู่การปรากฎตัวของ “โคมัยนี”

จรัญ มะลูลีม

มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี (ต่อ)

ดังได้กล่าวมาแล้วในสมัยของพระองค์ รัสเซียได้ถูกเกลี้ยกล่อมให้ออกจากอาเซอร์ไบจานได้สำเร็จ นักชาตินิยมหนุ่มๆ บางคนที่มีหัวปฏิรูปและมีความสามารถได้ถูกนำเข้ามาทำงานในรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ส่วนปัญหาข้อแรกคือ สถานภาพของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ นั้นก็ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาข้อที่สองนี้คือ ใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ตัวพระองค์เองนั้นพยายามแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ถาวรให้แก่อิหร่าน ในขณะเดียวกันก็หาความมั่นคงให้แก่สถานภาพของตัวเองด้วย ส่วนใหญ่ก็ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

ด้วยการอาศัยตัวบุคคลที่สำคัญที่สุดในคณะรัฐบาลคือตัวนายกรัฐมนตรี เป็นความจำเป็นที่พระองค์จะต้องทรงเลือกนายกรัฐมนตรีที่ทรงเห็นว่าจะเข้ากับพระองค์ได้ เมื่อไม่ทรงถูกพระทัยก็สั่งปลดเสียและแต่งตั้งคนใหม่แทนไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ได้ตัวนายกรัฐมนตรีที่ต่อต้านพระองค์เช่นมุศ็อดดีก เป็นต้น

ตั้งแต่ ปี 1941 ถึงปี 1946 พระองค์ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์ แต่หนังสือพิมพ์ที่ถูกสั่งปิดก็ไปปรากฏในชื่ออื่นๆ ต่อไปและขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าการจลาจลประท้วงการขาดแคลนขนมปังในกรุงเตหะรานเมื่อปี 1942 จะทำให้รัฐบาลต้องออกกฎข้อบังคับเพิ่มขึ้นอย่างเข้มงวดก็ตาม แต่ทั่วกรุงเตหะรานก็มีหนังสือพิมพ์ถึงประมาณ 200 ฉบับ

นโยบายต่างประเทศของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ นั้นวางไว้เพื่อรับใช้การต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐทั่วโลก ในเดือนพฤษภาคม ปี 1955 ด้วยการยุยงของสหรัฐ พระองค์ได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาแบกแดด (Baghdad pact) ซึ่งตุรกีและอิรักเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1955 ต่อมาอังกฤษและปากีสถานได้ลงนามด้วย ดูเผินๆ แล้วสนธิสัญญานี้คือสนธิสัญญาป้องกันตัวและเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ แต่อันที่จริงมันคือสัญญาต่อต้านคอมมิวนิสต์

ต่อมาพระองค์ก็ได้กลายเป็นมิตรสนิทของอิสราเอล แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเข้าเป็นสมาชิกค่ายประเทศมุสลิมซึ่งกษัตริย์ฟัยซ็อล แห่งซาอุดีอาระเบีย และกษัตริย์ฮุสเซน (Hussein) แห่งจอร์แดนตั้งขึ้น การที่ทรงผูกมิตรกับอิสราเอลทำให้ชาวอิหร่านไม่พอใจ การสนับสนุนของสหรัฐทำให้พระองค์ได้รับความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศของพระองค์เท่าที่เกี่ยวข้องกับโลกตะวันตก แต่สำหรับภายในประเทศ พระองค์ไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้ พระองค์ทรงประเมินความเข้มแข็งของผู้ต่อต้านพระองค์ต่ำเกินไป

ต่อมาพระองค์ได้จัดตั้งหน่วยซาวัก (Savak เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือตำรวจ) และองค์การสืบราชการลับ (Sazeman-e-Ettela “at va Ammeyat-e Keshwar) ขึ้น

ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ นายพลติมูร บัคติยาร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยซาวักนั้นทำงานเหมือนกับหน่วยสืบราชการลับ CIA และ FBI โดยมีที่ปรึกษาเป็นชาวอิสราเอลและสหรัฐ

ในเดือนตุลาคมปี 1958 พระองค์ได้จัดตั้งมูลนิธิปาห์ลาวีขึ้นเพื่อคุมเอกสิทธิ์ในผลกำไรจากการขายที่ดิน ซึ่งไม่อาจแจกจ่ายหรือตัดออกได้นั้นให้ผลประโยชน์เป็นของพระองค์เอง พระองค์ทำให้การปฏิวัติขาว (หมายถึงการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ) ตามแบบสหรัฐเป็นที่นิยมของประชาชน แล้วต่อมาพระองค์ก็ได้เอาแนวความคิดนั้นมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของพระองค์เอง

โปรแกรม 12 ข้อคือหลักของการปฏิวัติขาว (White Revolution) ซึ่งพระองค์อ้างว่าพระองค์ทรงคิดขึ้นเอง ซึ่งได้แก่ 1.การปฏิรูปที่ดิน 2.การจัดป่าและทุ่งเลี้ยงสัตว์เป็นสมบัติของชาติ 3.ขายโรงงานที่เป็นของรัฐบาลเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายในเรื่องปฏิรูปที่ดิน 4.แบ่งผลกำไรในการอุตสาหกรรม 5.ปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้งให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ 6.ต่อต้านการไม่รู้หนังสือ 7.จัดตั้งหน่วยบูรณะและพัฒนา 8.จัดตั้งหน่วยสุขาภิบาล 9.ตั้งศาลในท้องถิ่นชนบท 10.ยึดทางน้ำเป็นสมบัติของชาติ 11.บูรณะชาติให้แข็งแกร่ง 12.ปฏิวัติการศึกษาและการบริหารประเทศ

โปรแกรมการปฏิรูปเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่วนใหญ่เป็นของใหม่ในอิหร่านเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 1963 เป็นต้นมา กิจกรรมทั้งหมดของชาติได้มุ่งอยู่ที่การทำตามโปรแกรมเหล่านี้ แต่ข้อที่ทำเป็นล่ำเป็นสันก็คือการปฏิรูปที่ดินและต่อต้านการไม่รู้หนังสือ ส่วนข้ออื่นนั้นหากจะมีการทำบ้างก็มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

การปรากฏตัวของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี

แนวหน้าแห่งชาติได้เรียกร้องให้มีการประชุมของมวลชนในวันที่ 25 มกราคม ปี 1963 เพื่อประณามการปกครองแบบเผด็จการของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ความทารุณป่าเถื่อนของซาวักและการที่ตำรวจทหารและชาวตะวันตกนักล่าเมืองขึ้นมามีอำนาจเหนืออิหร่าน แต่รัฐบาลก็สั่งห้ามมิให้มีการประชุม

ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้น ก็ได้มีฝ่ายค้านกลุ่มสำคัญแสดงตัวออกมาอีกนอกจากแนวหน้าแห่งชาติแล้ว กลุ่มนี้นำโดยอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatullah Khomeini) ก้าวทั้งสามของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ซึ่งตั้งใจจะทำให้เกิดความมั่นคงของระบบกษัตริย์ ก็คือการปราบปรามแนวหน้าแห่งชาติในปี 1962 การประกาศการปฏิวัติขาวในปี 1963 และการปราบปรามการคัดค้านที่นำโดยนักการศาสนาในเดือนมิถุนายน ปี 1963

ในระหว่างนั้น การคัดค้านของพวกนักการศาสนาก็เป็นไปอย่างกว้างขวางจนน่าเกรงขาม

แม้แต่อะยาตุลลอฮ์ บูรูเญอร์ดี (Ayatullah Burujerdi) ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำของโลกชีอะฮ์ทั้งหมดก็ยังถูกสาวกคนสำคัญๆ ของเขารบเร้าให้ทำการคัดค้านการปกครองของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์

การตัดสินใจของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ ที่จะจัดให้มีการออกเสียงแสดงประชามติในเรื่องการปฏิวัติขาวของพระองค์ก็ทำให้อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี โจมตีเรซา ชาฮ์ มากขึ้นอีก ในวันที่ 22 มกราคม ปี 1963 ตลาดกรุงเตหะรานปิดเพื่อประท้วงการลงประชามติตามคำเรียกร้องของนักการศาสนา

มุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ และนายกรัฐมนตรีได้เตือนพวกผู้นำทางศาสนาว่าจะใช้มาตรการอันรุนแรงปราบปรามถ้าหากมีการก่อกวนการลงประชามติ แนวหน้าแห่งชาติและพวกผู้นำฝ่ายค้านอื่นๆ ก็มาชุมนุมกันก่อนจะมีการลงประชามติสามวัน

ตัวมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ เองได้เสด็จมาที่เมืองกูม (Qum) และกล่าวหาว่าพวกนักการศาสนาเป็นพวกทรยศ ในความเป็นจริงชาวอิหร่านเองมิได้มีความประทับใจในการลงประชามตินี้เลย การคัดค้านของนักการศาสนาก็มิได้สงบลง พิธีระลึกถึงอิมามฮูเซนจะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 1963 คาดว่าจะเป็นระยะที่มีการเผชิญหน้าอย่างแท้จริงระหว่างพวกนักการศาสนากับกำลังตำรวจของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์

อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก้าวต่อไปโดยประกาศให้วันขึ้นปีใหม่ของอิหร่าน (21 มีนาคม) เป็นวันแสดงความเศร้าโศกในการสิ้นชีวิตของอิหม่ามท่านที่ 6 คือ อิมามยะอ์ฟัร อัศ-ศอดีก (Jafar al-Sadeq) ผู้มาร่วมในพิธีหลายพันคนได้มาชุมนุมกันในโรงเรียนสอนศาสนาฟัยซียะฮ์ (Fayziyah)

ในเมืองกูมมีทหารและตำรวจซึ่งแต่งกายเป็นชาวไร่ชาวนาบุกเข้าไปทำร้ายผู้คนจนล้มตายไปจำนวนหนึ่งและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หัวหน้านักศึกษาถูกจับ มัสญิด สถานที่สักการะและโรงเรียนสอนศาสนาถูกปิดโดยกำลังทหารและตำรวจ แต่อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี สั่งห้ามมิให้ทำการตอบโต้ใดๆ ตำรวจและทหารแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อพวกนักการศาสนาอย่างเต็มที่ พวกนักการศาสนาจึงได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนทั่วไป อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีว่า แม้หอกปลายปืนก็ไม่อาจปิดปากเขาเสียได้

หลังจากถูกปล่อยตัวจากการกักบริเวณในบ้าน อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็เริ่มพิมพ์คำสั่งประณามนโยบายของรัฐบาล คำสั่ง (ฟัตวา) ได้นำเอาทัศนะของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี กระจายไปทั่วประเทศ บางฉบับก็ไปถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา

พวกนักศึกษาจากแนวหน้าแห่งชาติก็ได้อ่านเทปบันทึกเสียงคำปราศรัยของเขาซึ่งกระจายไปทั่วประเทศเช่นเดียวกัน สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของมุฮัมมัด เรซา ชาฮ์ นั้น อะยาตุลลอฮ์ โคมัยนี ได้ประณามความร่วมมือระหว่างอิหร่าน อิสราเอล และสหรัฐ

การยอมรับฐานะของประเทศอิสราเอลของเรซา ชาฮ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ปี 1960 ได้ถูกประณามว่าเป็นการทรยศต่ออิสลามและอิหร่าน