ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (5)

ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

มีท่านผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของผม (ท่านไม่ยอมให้เอ่ยชื่อ) ตั้งข้อสังเกตว่า พระอัญญาโกณฑัญญะบวชวันเพ็ญเดือน 8 ในวันนั้นเองตอนเย็นหรือตอนค่ำ พระวัปปะและภัททิยะคงได้บวชด้วย รุ่งเช้าขึ้นมา ทั้งสามรูปก็ออกบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงทั้งหกชีวิต สายๆ หรือเย็น วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 นั่นเอง มหานามะและอัสสชิก็ได้บวช

“เข้าใจอย่างนี้ไม่ขัดพระบาลี” ท่านย้ำ ผมเรียนถามท่านว่า ท่านมีเหตุผลอะไรที่เชื่อเช่นนั้น

“คุณลืมไปแล้วหรือ วันแรม 1 ค่ำ เป็นวันเข้าพรรษาถ้าอีก 4 รูปที่เหลือบวชหลังวันเข้าพรรษา ก็นับพรรษาไม่ได้ละสิ”

เออ จริงแฮะ ผมคิด ฝากท่านผู้มีการศึกษาพิจารณาด้วยก็แล้วกัน

คราวนี้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาอนัตตลักขณสูตรต่อไป พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงยก “ขั้น 5” ขึ้นมาอธิบายให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือจะเรียกให้ถูกหลักวิชาจริงๆ ก็ต้องว่า อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา เรียกว่า ไตรลักษณ์ (ลักษณะที่ปรากฏให้เห็นสามอย่าง) หรือสามัญ (ลักษณะที่มีเหมือนกันแก่สรรพสิ่ง)

อนิจจตา พระท่านแปลว่า “ความไม่เที่ยง” ฟังแล้วยังงงๆ อยู่ จนเด็กถามว่า ไม่เที่ยงนี้หมายถึงยังเช้าอยู่ หรือว่าบ่ายไปแล้ว! ความจริงถ้าจะแปลว่า “ความเปลี่ยนแปลง” จะเข้าใจทันที

ผมเมื่อก่อนยังดำสลวยเป็นเงางามชวนมอง เดี๋ยวนี้กลายเป็นสีดอกเลา แล้วก็ขาวโพลน นี่ก็อนิจจตา

ผิวพรรณเคยผ่องใส มีน้ำมีนวล เดี๋ยวนี้เหี่ยวย่น ตกกระ กระดำกระด่างน่าเกลียดจัง ถามดวงตาที่เคยดำกลับงามยิ่งกว่าตาเนื้อทราย (วรรณคดีว่างั้น) ไม่รู้กามันเหยียบเมื่อใดมีรอยตีนกาเต็มไปหมด นี่ก็อนิจจตา

ทุกขตา ท่านแปลว่า “ความทนไม่ได้” หมายถึงภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ตลอดกาล ภาวะที่ขัดแย้งในตัว ไม่สมบูรณ์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อนิจจตากับทุกขตา ใกล้เคียงกันมาก ถ้าจะให้เข้าใจง่ายให้กำหนดดังนี้ครับ อาการปรากฏชัดภายนอก หรือความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น เช่น ผมหงอก ฟันหลุด หนังที่เหี่ยวย่น เป็นอนิจจตา ความไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองความบกพร่องภายใน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นทุกขตา

พูดง่ายๆ ว่า ความเปลี่ยนแปลง (change) คือ อนิจจตาสาเหตุของความเปลี่ยนแปลง (subject to change) เป็นทุกขตา

ส่วน อนัตตา มีความหมาย 2 นัย คือ (1) “ไม่ใช่ตน” หมายถึงไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่ว่าธาตุสี่ขันธ์ห้ารวมกันแล้วก็สมมติว่า นายนั่น นางนี่ เท่านั้นเอง แท้จริงแล้วไม่มีตัวตนที่แท้จริง ถึงเวลาก็ดับสลายไปตามเหตุปัจจัย

พระบาลีอธิบายไว้ชัดแล้วว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเป็นตนของใครจริงแล้ว เขาย่อมบังคับหรือขอร้องมันได้ เช่น บอกมันว่า ผมเอ๋ย ให้แกดำงามอยู่อย่างนี้นะเว้ย อย่าได้หงอกเป็นอันขาด ฟันเอ๋ย เอ็งอย่าโยกคลอนนาเว้ย เคี้ยวอะไรลำบากว่ะ กำลังวังชาขอให้เข้มแข็งอยู่อย่างนี้นา อย่าได้ “บ้อลั่ก” เป็นอันขาด ขอให้ “เตะปี้บ” ดังปังๆ ตลอดไป

มันฟังเราไหม? เปล่าเลย ถึงเวลาผมมันก็หงอก ฟันมันก็โยกคลอนหรือหลุดไป และหมดเรี่ยวหมดแรงลงตามลำดับขนาดขึ้นบันไดยังหอบแล้วหอบอีก

นี่คือความหมายของอนัตตานัยที่หนึ่ง

ส่วนความหมายนัยที่สองคือ “ไม่มีตัวตนถาวร” อันนี้หมายถึง ไม่มีอัตตา หรืออาตมันถาวร อย่างที่คนสมัยนั้นเชื่อถือและสั่งสอนกัน คือชาวอินเดียสมัยโน้นสอนกันว่า ร่างกายแตกดับสลายไปแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งไม่ดับไปด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ “สมบูรณ์ที่สุด” (the absolute) สิ่งนี้เรียกกันว่า “อัตตา” (หรือ อาตมัน) บ้าง “ชีวะ” บ้าง

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีอัตตาอย่างที่ว่านั้น

พระพุทธองค์ทรงบอกให้พระปัญจวัคคีย์วิเคราะห์แยกแยะขันธ์ 5 ไปทีละอย่างๆ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ความไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตน เมื่อแยกพิจารณาแล้วก็ให้พิจารณารวมอีกทีว่า เมื่อแยกแต่ละชิ้นส่วนออกแล้ว มันยังไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตน เวลารวมกันแล้วมันจะเที่ยงแท้แน่นอน มีตัวตนและเป็นตัวตนอย่างไร

ขันธ์ 5 คืออะไร คงไม่ต้องแจงอีกนะครับ เพราะได้พูดไว้ย่อๆ ในตอนก่อนแล้ว พระองค์ทรงใช้วิธีถามให้คิดตะล่อมให้เข้าจุด ในที่สุดปัญจวัคคีย์ก็ได้คำตอบด้วยตนเองเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและได้ใช้บทบาทแห่งปัญญาของตนคิดและเข้าใจโดยอิสระปราศจากการครอบงำและยัดเยียด นับเป็นวิธีการสอนที่ทันสมัยอยู่เสมอ

ผู้เรียนวิชาครูลองศึกษาเทคนิควิธีการสอนปัญจวัคคีย์ในพระสูตรนี้ ของสมเด็จพระบรมครูดูสิครับ บางทีท่านอาจ “ตรัสรู้” ก็ได้