บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / เมื่อ ปชป.เท ‘ประยุทธ์’ คะแนนจะไหลไปหา ‘ลุงหรือมาร์ค’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อ ปชป.เท ‘ประยุทธ์’

คะแนนจะไหลไปหา ‘ลุงหรือมาร์ค’

สัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียง บรรดาพรรคการเมืองต่างพากันงัดสิ่งที่คิดว่าเป็น “ไพ่เด็ด” มาเล่นงานคู่แข่ง ด้วยหวังว่าจะจูงใจให้ประชาชนเทคะแนนเสียงให้ตัวเอง

อย่างที่ทราบกัน การเลือกตั้งรอบนี้ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด มักใช้วาทกรรมซ้ำๆ ตีไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยปลุกกระแสว่า หากเลือกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น พอถึงโค้งสุดท้าย ก็มีอะไรแปลกๆ กับเขาเหมือนกัน อย่างกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายรักถึงคนไทย บนเวทีดีเบตแห่งหนึ่ง เนื้อหาในจดหมายก็สรุปว่า เลือกประชาธิปัตย์ดีที่สุด เพราะถึงแม้จะไม่เร้าใจ แต่จะไม่มีวันทำร้ายคุณ (คนไทย)

เนื้อหาจดหมายนั้น แม้แต่แฟนๆ ของ ปชป.หลายคนก็ยังส่ายหน้าว่าเพ้อเจ้อไปหน่อย

เท่านั้นยังไม่พอ นายอภิสิทธิ์ประกาศชัดว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะขัดกับอุดมการณ์พรรคที่จะไม่สนับสนุนการทุจริตและสืบทอดอำนาจ และ พล.อ.ประยุทธ์จะกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง

ดังนั้น จึงหมดเวลาเกรงใจ (ประยุทธ์) กันแล้ว

 

ไม่แน่ใจว่าการกล้าออกมาแถลง ไม่เอาประยุทธ์ในครั้งนี้ทาง ปชป.ได้ตรวจสอบกระแสของประชาชนที่เคยเป็นฐานเสียงพรรคหรือไม่ เพราะหากตรวจสอบปฏิกิริยาของคนที่เคยเลือก ปชป. จำนวนไม่น้อยก็ดูเหมือนจะผิดหวัง และกลายเป็นว่าทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะเลือกใคร

เมื่อประกาศออกมาอย่างนี้แล้ว คงเป็นไปได้ยากที่ ปชป.จะได้คะแนนมากกว่าเดิม เพราะถึงแม้ไม่ออกมาแตกหักกับ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนของ ปชป.ก็ถูกแบ่งไปโดยซีกของกลุ่ม กปปส. ที่ตอนนี้ก็คือพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อยู่แล้ว

ถึงแม้เสียง ปชป.เดิมก่อนหน้านี้จะถูกแบ่งไปอยู่กับกลุ่ม กปปส. ก็ยังจัดได้ว่าอยู่ในซีกไม่เอาทักษิณ แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศตัดขาด พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไปสวนทางกับจุดยืนของ รปช.ก็อาจจะส่งผลตามมาคือจะทำให้คนที่เคยเหนียวแน่นกับ ปชป. แต่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้หันไปเทคะแนนเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐ

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนที่ไม่เอาทักษิณอาจเห็นว่า ถึงอย่างไรเสีย ปชป.ก็คงได้คะแนนแค่อันดับ 2 เลือกไปก็เสียของ เพราะตั้งเงื่อนไขว่าจะรวมกับพลังประชารัฐต่อเมื่อไม่มีบิ๊กตู่และไม่สืบทอดอำนาจ ดังนั้น สู้เทคะแนนให้กับพลังประชารัฐเพื่อให้ตีตื้นขึ้นมาเป็นที่ 2 แทน ปชป. แล้วผลัก ปชป.ไปอยู่อันดับ 3 ดีกว่า จะได้หมดปัญหา

การออกมาห้าวเป้งของ ปชป.ในครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่ามีความมั่นใจว่าประชาชนฝ่ายกลางๆ ที่ไม่เอาทั้งทักษิณและประยุทธ์จะหันมาเทคะแนนให้ก็เป็นได้ แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกัน เพราะที่ผ่านมาการบริหารของ ปชป.ก็ไม่ได้ถึงกับโดดเด่น และถูกมองว่าขาดความเด็ดขาดในฐานะผู้นำ ปล่อยให้เสื้อแดงล้มประชุมอาเซียน

แถมเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องพึ่งพาทหาร โดยนายอภิสิทธิ์นั้นพึ่งพา พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ปี 2553 ช่วงเกิดวิกฤตการเมืองสูงสุดที่มีคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมขับไล่ที่แยกราชประสงค์

ถ้าสมัยหน้าได้เป็นนายกฯ อีก จะ “เอาบ้านเมืองอยู่” โดยไม่พึ่งทหารได้หรือไม่

 

ในอีกทางหนึ่งหากฟังคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ให้ดี ก็คล้ายจะบีบพลังประชารัฐให้มารวมกับ ปชป.จัดตั้งรัฐบาล โดยอยู่บนพื้นฐานที่มั่นใจว่าอย่างน้อยคะแนนจะมาเป็นอันดับ 2 รองจากเพื่อไทย และต้องให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

ยิ่งเมื่อนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ปชป.ออกมาย้ำในวันต่อมาว่า เป้าหมายของ ปชป.คือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ชัดเจนว่า หาก ปชป.ได้คะแนนมากกว่า พปชร. เมื่อมีการจับมือเพื่อตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ก็ต้องเป็นนายกฯ ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์

หากดูตามโพลไม่ว่าจะกี่ครั้ง พบว่า พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นอันดับ 1 ในฐานะบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง เพราะมีภาวะผู้นำ กล้าตัดสินใจ ส่วนคะแนนพรรคนั้น เพื่อไทยมาที่ 1 ปชป.อันดับ 2 และ พปชร.อันดับ 3

สมมุติผลเลือกตั้งออกมาตามโพลจริง หากพรรคที่ได้คะแนนรองลงมามีการจับมือตั้งรัฐบาล ซึ่งอย่างน้อยก็จะมี 2 พรรคหลักคือ ปชป.และ พปชร.จับมือกัน ทาง ปชป.ก็อาจคิดว่าหากตัวเองได้คะแนนเสียงมากกว่า พปชร. คนที่ควรจะเป็นนายกฯ ก็คืออภิสิทธิ์

ดังนั้น หากซีกที่ไม่เอาทักษิณ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ต้องเทคะแนนให้พลังประชารัฐ เพื่อให้ได้คะแนนอันดับ 2 แทน ปชป. และหากจะให้ดี ต้องให้ ปชป.ได้ต่ำกว่า 100 เก้าอี้ (บางโพลบอกว่าได้แค่ 83) เพื่อที่นายอภิสิทธิ์จะได้ลาออกตามสัญญา

 

ท่าทีของนายอภิสิทธิ์และ ปชป. ยังสร้างจุดแตกหักชัดเจนกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ ปชป. และอดีตแกนนำ กปปส.ที่ร่วมเป็นร่วมตายกับนายอภิสิทธิ์มาในคราวเผชิญศึกเสื้อแดง โดยนายสุเทพไปปราศรัยหาเสียงช่วยพรรค รปช.ที่ภาคใต้ มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ที่จริงผมไม่อยากพูดถึงเลยนะครับ ผมออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ 37 ปี ผมเป็นเลขาธิการพรรค เป็นผู้บริหารพรรคคนสำคัญคนหนึ่ง ผมบอกกับพี่น้องตรงๆ ผมเป็นคนทำให้อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่ใช่เพราะผม ไม่รู้ว่าชาติหน้ามันจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นี่แหลงกันตรงๆ

แต่วันนี้อภิสิทธิ์ประกาศออกทีวีแล้วว่าเลือกตั้งคราวนี้ เขาไม่สนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน ผมก็ข้องใจ อยากจะถามอภิสิทธิ์ว่า ตกลงอภิสิทธิ์ยืนข้างเดียวกับทักษิณเต็มตัวแล้วใช่มั้ย นี่แสดงว่าถ้าฝ่ายทักษิณเทคะแนนให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เอาทันทีใช่มั้ย นี่แสดงว่าอาจจะอยากเป็นนายกฯ จนลืมหัวกูแล้วใช่มั้ย”

การแถลงจุดยืนของ ปชป.และนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้ นับว่าเดิมพันสูง เพราะหมายถึงคะแนนเสียงอาจพลิกขั้วแบบขาดลอยไปเลย กล่าวคือ หากประชาชนเห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ก็จะเทคะแนนไปให้ ปชป.ล้นหลาม

แต่หากไม่เห็นด้วยเพราะหมั่นไส้เนื่องจากเห็นว่า “คบไม่ได้” ชอบเอาตัวรอด ออกมาประกาศตัดขาด พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตัวเอง ทั้งที่เคยไปหลบภัยในค่ายทหาร คะแนนก็อาจจะเทไปให้ พปชร.ของลุงตู่

นายองอาจอ้างว่า หลังจาก ปชป.ประกาศจุดยืนชัดเจน ปรากฏว่าได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก

แต่ก็ไม่รู้ว่าที่อ้างมานั้นเป็นประชาชนฝั่งไหน อาจเป็นฝั่งตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเชียร์ ปชป.ให้ “ตีงูให้กากิน” (แปลว่าลงแรงทำในสิ่งที่ไม่เป็นคุณแก่ตัวเอง แล้วผลประโยชน์ไปตกแก่คนอื่น) มากกว่า ที่สำคัญอาจไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะเลือก ปชป.

อาจจะเข้าทำนองที่ว่า “เทประยุทธ์ให้ตาย ก็ไม่เลือก ปชป.”

 

24 มีนาคม ก็คงได้รู้กันว่า คะแนนจะไหลไปหามาร์คหรือหาลุง

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางวาทกรรมกล่าวหาคนอื่นว่า “สืบทอดอำนาจ” ของกลุ่มที่อ้างว่าอยู่ซีกประชาธิปไตย ประชาชนก็ต้องคิดให้ดีว่าแท้จริงแล้วซีกนี้กำลัง “สืบทอดอำนาจให้กับบางคน” ที่อยู่แดนไกลหรือไม่ อย่าเพิ่งฝันหวานว่าเลือกซีกประชาธิปไตยแล้วบ้านเมืองจะสงบ

แต่ดูท่าทางแล้ว เลือกซีกไหนก็ “สืบทอดอำนาจ” ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะสืบทอดอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวกลุ่มเล็กๆ หรือเพื่อคนทั้งชาติ