ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เลือกตั้ง 24 มีนา ปิดฉากทหารการเมืองและกลุ่มสุดโต่งอนุรักษ์นิยม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การเลือกตั้ง 24 มีนาฯ เป็นการเลือกตั้งที่มีประชาชนรอคอยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะนับตั้งแต่เผด็จการทหารยึดอำนาจในปี 2557 เสียงเรียกร้องให้ คสช.คืนอำนาจก็ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรวมกลุ่มผลักดันให้มีการเลือกตั้งเป็นไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ทุกคนจะรู้ว่ามีโอกาสถูกรัฐบาลทหารจับดำเนินคดี

ตรงข้ามกับประชาชนที่ปรารถนาจะได้อำนาจกลับมาโดยเร็ว คณะรัฐประหารทำทุกวิถีทางในการเตะถ่วงเลือกตั้งตั้งแต่ต้น การเลือกตั้งเกิดขึ้นเพราะทหารรู้ว่ายื้อเลือกตั้งกว่านี้ไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือทหารมั่นใจว่ากุมสภาพทางการเมืองได้ทั้งหมด แต่สถานการณ์ตอนนี้ชี้ว่าคนกลุ่มนี้ประเมินประชาชนผิดจากความจริง

พูดให้ชัดเจนขึ้น ความหมายของคำว่า “กุมสภาพ” คือความมั่นใจของผู้มีอำนาจว่าสามารถกำหนดสถานการณ์ให้ไปสู่จุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกต่อ , กองทัพควบคุมประเทศผ่านวุฒิสภาและกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และพรรคการเมืองที่หนุนทหารได้ ส.ส.มากกว่าพรรคที่ต่อต้านทหารการเมือง

เพื่อที่จะผลักดันแผนการข้างต้นให้ลุล่วงไป คณะรัฐประหารอำนวยการให้เกิดรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการเลือกตั้งซึ่ง คสช.เลือกผ่าน สนช.,

วุฒิสภาที่มีอำนาจเลือกนายก, การจัดเขตเลือกตั้งใหม่, คดีโต๊ะจีนพลังประชารัฐล่าช้า ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นจิ๊กซอว์ย่อยในแผนการใหญ่เพื่อสืบทอดอำนาจระบอบนายพล

ด้วยความเชื่อมั่นในการ “กุมสภาพ” พลเอกประยุทธ์จึงยอมให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่มั่นใจว่าจะได้กลับมาเป็นนายกอีกรอบอย่างเต็มที่ พรรคพลังประชารัฐของสี่รัฐมนตรีในรัฐบาลทหารเปิดตัวด้วยงานระดมทุนซึ่งหาเงินได้กว่า 600 ล้าน เช่นเดียวกับพรรคสุเทพก็หาทุนได้กว่า 300 ล้าน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลายอย่างเป็นสัญญาณว่าผลเลือกตั้งปี 2562 จะต่างจากที่ผู้มีอำนาจคิด และในเมื่อความตื่นตัวของประชาชนในการเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 87% ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาฯ สถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจคิดว่า “กุมสภาพได้” ย่อมมีโอกาสไม่เป็นไปอย่างที่ผู้มีอำนาจเข้าใจด้วยเหมือนกัน

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ มีสัญญาณสองอย่างที่ชี้ว่าผลการเลือกตั้งจะจบแบบตรงข้ามกับที่ คสช.วางแผน หนึ่งคือความถดถอยของพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และสองคือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเอาชนะพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ต่อให้ คสช.จะใช้เครื่องมือทุกอย่าง แม้แต่เครื่องมือทางอุดมการ

หนึ่งในพรรคที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกคือพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่นับจากวันเปิดตัวพรรคอย่างยิ่งใหญ่จนระดมทุนได้กว่า 300 ล้าน สถานะของพรรคก็ถดถอยจาก “พรรคหลัก” สู่ “พรรคทางเลือก” และในที่สุดคือพรรคที่คงต้องปิดสุราษฎร์ฉลอง หากได้ ส.ส.สักคน

นับตั้งแต่ คสช.ปลดล๊อคพรรคการเมืองเพื่อเปิดทางให้ทุกพรรคหาเสียงได้จริงๆ พรรครวมพลังไม่เคยมี คะแนนนิยมจนอยู่แถวหน้าในการสำรวจครั้งไหน หัวหน้าผู้เป็นทั้งหม่อมราชวงศ์และอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติไม่เคยติดกลุ่มคนที่ประชาชนอยากให้เป็นนายก ซ้ำแทบไม่มีใครรู้ว่านโยบายพรรคนี้คืออะไร

จากสถานะพรรครวมพลังประชาชาติที่วางตัวเองไว้เพื่อถล่มพรรคอันดับหนึ่งอย่างเพื่อไทย พรรคค่อยๆ ลดเป้าหมายไปไฝว้กับพรรคอันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ จากนั้นก็เลื่อนชั้นไปฟัดกับพรรคเด็กอย่างอนาคตใหม่ และในที่สุดก็คือการแดกดันพรรคเล็กอย่างเพื่อชาติซึ่งแทบไม่เคยหาเสียงโดยมีเรื่องกับใคร

พรรครวมพลังเริ่มต้นด้วยความเชื่อว่าความสำเร็จของคุณสุเทพในการจัดตั้ง กปปส.เพื่อล้มเลือกตั้งในปี 2557 จะเป็นแรงส่งให้พรรคประสบผลระดับเดียวกันในการเลือกตั้ง 2562 แต่ความถดถอยของพรรคพิสูจน์ว่าสมมติฐานนี้ผิด ส่วนพรรคอาจมีอายุในการเลือกตั้งครั้งนี้ครั้งเดียว หากพรรคไม่ได้ร่วมรัฐบาล

ในการปราศรัยใหญ่ครั้งล่าสุด คุณสุเทพถึงขั้นระดมอดีต กปปส.โดยให้ทุกคนแขวนนกหวีดพ่วงมือตบ แต่ผลลัพธ์คือมีคนฟังปราศรัยน้อยจนช่วงหัวค่ำอาจอยู่แค่หลักร้อยเท่านั้น จากนั้นผู้สมัคร ส.ส.โพสท์เฟซขู่ว่าทหารยึดอำนาจแน่ๆ หากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ขณะที่คุณสุเทพย้ำว่าถ้าอย่างนั้นเจอกันที่ราชดำเนิน

พรรครวมพลังประชาชาติเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงปลายปี แต่ยิ่งเดินหน้าหาเสียงโดยยุทธวิธีชูประยุทธ์เป็นนายก การตอบรับก็ยิ่งเรียวแคบจนพรรคต้องใช้วิธีขู่ม๊อบป่วนประเทศในที่สุด ผลทั้งหมดนี้แสดงว่าพรรคไม่มี “กระแส” ซ้ำยังเป็นหลักฐานว่า กปปส.สิ้นมนต์ และพรรคคงใกล้สิ้นใจตาม

อย่างไรก็ดี พรรคสุเทพไม่ได้หาเสียงโดยปลุกผี กปปส.อย่างเดียว แต่ยังโจมตี “ระบอบทักษิณ” ซึ่งกินความถึงคุณอภิสิทธิ์และคุณธนาธร รวมทั้งยังใช้สถาบันหลักในการปลุกระดมมวลชนไล่ล่าพรรคอื่น ด้วย ความล้มเหลวของพรรคจึงแสดงความถดถอยของอุดมการอนุรักษ์นิยมที่คุณสุเทพเคยใช้เป็นเครื่องมือ

พลังประชารัฐถูกจัดตั้งเพื่อสนับสนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกเหมือนพรรครวมพลังฯ แต่นับจากการขายโต๊ะจีนหัวละ 300,000 จนได้เงินเข้าพรรคกว่า 600 ล้าน

พลังประชารัฐเป็นพรรคที่ไม่มีใครมองว่ามีโอกาสได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งมานานแล้ว ยกเว้นรังสิตโพลที่คนเกลียดทักษิณอย่าง อ.สังศิต เป็นผู้จัดทำ

พรรคพลังประชารัฐเริ่มต้นโดยความเชื่อว่าสี่รัฐมนตรีเศรษฐกิจมีภาพเทคโนแครตจะสร้าง “กระแส” ให้พรรคขึ้นมา แต่ถึงที่สุดแล้วสี่คนนี้ไม่ใช่เทคโนแครตที่ดีที่สุดในปัจจุบัน , ผลงานเศรษฐกิจไม่ประจักษ์ชัด และภาพความเป็นลูกน้องทหารที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจก็แรงจนกลบภาพเทคโนแครตไปโดยปริยาย

ขณะที่ภาพลักษณ์ของสี่รัฐมนตรีไม่ช่วยให้ได้คะแนนอย่างที่คิดกัน การดูดอดีต ส.ส.ก็เป็นอีกปัจจัยที่พลังประชารัฐหวังว่าจะทำให้พรรคอยู่แถวหน้า แต่ด้วยเหตุที่ประชาชนมีพฤติกรรมลงคะแนนที่เน้นพรรคยิ่งกว่าบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ การดูดคนจากพรรคเก่าจึงไม่แน่ว่าจะได้คะแนนไปพรรคใหม่อย่างที่คาดคิดกัน

แม้พลังประชารัฐจะมั่นใจว่าเสียง250 ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยพล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้พรรคได้ตั้งรัฐบาล แต่ในเวที “ดีเบต” ประชันวิสัยทัศน์พรรคการเมือง ปม 250 ส.ว.กลับทำให้พรรคถูกโจมตีจนบุคคลสำคัญของพรรคกลายเป็นตัวตลก และในที่สุดก็เป็นที่รู้กันว่าพรรคไม่อยากไปเวทีที่มีโอกาสเจอคำถามนี้โดยปริยาย

ยิ่งใกล้เลือกตั้งเท่าไร ความกังวลว่าพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.น้อยจนสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ยากก็มากขึ้นเท่านั้น ในที่สุดพลังประชารัฐซึ่งหาเสียงโดยโจมตี “ระบอบทักษิณ” จึงผลักดันนโยบาย “ประชานิยม” โดยเลียนแบบนโยบายเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ แต่บลั๊ฟด้วยการแจกเงินมากกว่าจนน่าละอาย

ถ้าปัญหาของพรรครวมพลังประชาชาติคือการโจมตีระบอบทักษิณโดยไม่มีนโยบาย ปัญหาของพลังประชารัฐคือการโจมตีระบอบทักษิณโดยมีนโยบายเหมือน “ระบอบทักษิณ” ทั้งหมด ผลก็คือพรรคถูกมองว่าเป็นพวกฉวยโอกาส(Political Opportunist)ที่ทำอะไรก็ได้เพื่อชัยชนะ แม้แต่สิ่งที่ตัวเองเคยประณาม

ด้วยการดูดอดีต ส.ส.จากทุกฝ่ายสู่การลอกนโยบาย “ประชานิยม” พรรคพลังประชารัฐทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเชื่อถือไม่ได้จนเป็นพรรคที่ไม่มีจุดยืนไปด้วย ต้นทุนทางการเมืองจากการดูด, อัดเงินผ่านนโยบายรัฐ, ใกล้ชิดทหาร, เสนอประยุทธ์เป็นนายก ฯลฯ จึงทำให้ต้นทุนทางสังคมของพรรคเสียหายไม่เหลือชิ้นดี

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้ พรรคพลังประชารัฐน่าจะเป็นพรรคการเมืองแรกที่เข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยเผชิญสภาพที่พรรคการเมืองอื่นๆ เปิดประเด็น “ไม่จัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ” ทั้งที่ตัวพรรคยังไม่เคยมี ส.ส.เข้าสภา ม้แต่คนเดียว

ขณะที่ความถดถอยของพรรคสุเทพแสดงความถดถอยของ กปปส.และการใช้อุดมการอนุรักษ์นิยมเป็นเครื่องมือ ความเสื่อมถอยของพลังประชารัฐก็แสดงให้เห็นความเสื่อมถอยของการ “ต้านระบอบทักษิณ” และการโหนสถาบันแบบเดียวกับพรรคสุเทพ หรืออีกนัยคือการอ่อนพลังของอุดมการอนุรักษ์นิยม

หากรวมปฏิกริยาที่สังคมมีต่อพรรคน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้าเข้ามา สามพรรคที่หนุนพลเอกประยุทธ์ล้วนมีปัญหาความเชื่อมั่นทางการเมือง, โอกาสได้ ส.ส.เข้าสภา และความยอมรับอุดมการของพรรคอย่างถึงที่สุด รากฐานทางสังคมของพรรคกลุ่มนี้จึงเรียวแคบจนแทบไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาลโดยสุจริตได้เลย

การเลือกตั้งครั้งนี้ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ ส.ส.มากที่สุด สภาพที่เพื่อไทยยืนหยัดท่ามกลางการถูกดูด, รัฐบาลทหารคุกคาม, เผชิญการปล่อยข่าวเรื่องล้มล้างสถาบันต่างๆ ฯลฯ คือหลักฐานว่ารากฐานทางสังคมของพรรคแข็งแกร่งจนการโจมตีด้วยอำนาจและอุดมการไม่มีผลเลย

สำหรับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งฝ่ายตรงข้ามโจมตีหนักกว่าเพื่อไทยด้วยซ้ำไป สถานภาพของพรรคที่ขยับจาก “พรรคทางเลือก” สู่ “แคนดิเดทนายก” คือสัญญาณว่าการโจมตีพรรคด้วยข้อหา “สมุนทักษิณ” หรือ “ล้มเจ้า” มีผลน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของพรรคเรื่องคนรุ่นใหม่วิสัยทัศน์ไกล

อย่าลืมว่าในวันที่หนักหน่วงที่สุด อนาคตใหม่เผชิญการปล่อยข่าวอย่างเป็นระบบจาก “ท่านใหม่”, ทีนิวส์, ผู้จัดการ, ไทยโพสท์ , IO ทหาร , เอนก, พรรคสุเทพ, กนก, เสรี , เนชั่นปล่อยคลิปติดต่อฯลฯ แต่ขบวนการปฏิกริยาขวาจัดกลับไม่สามารถใช้ยุทธวิธีแบบ 6 ตุลาฯ สยบกระแสอนาคตใหม่ได้แม้แต่นิดเดียว

ตรงข้ามกับความเชื่อในหมู่ผู้มีอำนาจว่ากติกาและกลไกต่างๆ จะทำให้ “กุมสภาพ” จนกำหนดรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ในบั้นปลาย ผลการเลือกตั้งปี 2562 จะเดินไปในทิศทางที่อำนาจรัฐ “กุมสภาพ” ไม่ได้จนพรรคฝ่าย คสช.ล้มเหลวกว่าที่คิดแทบทั้งหมด ถึงแม้จะยังไม่ชัดเจนว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามจะชนะเท่าใดก็ตามที

ผลการเลือกตั้ง 2562 จะเป็นฝันร้ายของผู้มีอำนาจที่แสดงออกถึงอวสานของอุดมการที่คนกลุ่มนี้ใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามไปด้วย และหากผู้มีอำนาจดันทุรังเป็นนายกและตั้งรัฐบาลด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองต่างๆ บรรยากาศการเมืองหลังเลือกตั้งจะเปลี่ยนจากการต่อสู้ด้วยน้ำลายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

การเลือกตั้ง 2562 คือประตูบานใหม่สู่การเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตยครั้งสำคัญในรอบหลายปี หากผู้มีอำนาจเห็นผลเลือกตั้งแล้วเรียนรู้ว่าทุกอย่างที่ทำกับสังคมไทยหลังปี 2549 ล้วนผิดพลาด และยิ่งผิดมากขึ้นหลังปี 2557 แต่จะเป็นประตูสู่การปลุกผีเผด็จการทรราชย์ทันทีที่ผู้มีอำนาจคิดกลับกัน