คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชสตรีและภิกษุณีสงฆ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งเดินทางไปจังหวัดพะเยาพร้อมมิตรสหายตามคำเชิญของมูลนิธิโครงการตำราฯ เพื่อไปพูดคุยเรื่องอินเดียกับอุษาคเนย์

นอกจากประเด็นอินเดียในห้องของผมแล้ว ยังมีประเด็นด้านศาสนาที่รวมเอานักวิชาการ “ตัวจี๊ดๆ” อย่างอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์, วิจักขณ์ พานิช, อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ฯลฯ ไว้

ในงานนี้ผมได้มีโอกาสพบหลวงแม่ (ท่านภิกษุณีธัมมนันทาแห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี ผู้ที่ผมติดตามอ่านงานท่านในมติชนสุดฯ มาโดยตลอด) ซึ่งท่านรับนิมนต์มาด้วย ระหว่างพัก วิจักขณ์ก็ชวนผมและอาจารย์สุรพศไปนั่งคุยกับหลวงแม่

แม้จะพอทราบมาก่อนว่าภิกษุณีในเมืองไทยได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้าง แต่การได้พูดคุยกับหลวงแม่ยิ่งได้ทราบอะไรอีกมากซึ่งทำให้รู้สึกสะเทือนใจไม่น้อย

 

หลายท่านคงทราบว่า ภิกษุณีไทยไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์เถรวาทไทย และไม่ได้รับสถานะนักบวชตามกฎหมาย

นั่นแปลว่าภิกษุณีไม่ได้รับสิทธิอะไรของนักบวชทั้งสิ้น แต่นั่นไม่น่าสะเทือนใจเท่าการที่คณะสงฆ์ตั้งแง่รังเกียจ (รวมทั้งรังเกียจพระภิกษุที่ให้การสนับสนุนภิกษุณี) และไม่แม้แต่จะมาสนทนาทำความเข้าใจพูดคุย ทั้งที่เป็นพุทธศาสนิกชนด้วยกันแท้ๆ

เพื่อนผมและหลวงแม่พูดอะไรที่น่าสนใจมากว่า เรื่องนี้คนให้ความสำคัญกับ “วินัย” มากกว่า “ธรรม” ทั้งๆ ที่พุทธะท่านให้ความสำคัญกับ “ธรรมวินัย”

คือโดยธรรมแล้วพุทธเจตนารมณ์ย่อมต้องการให้พื้นที่กับสตรีเป็นนักบวช เพราะพุทธศาสนายืนยันเสมอคือไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็เข้าถึงการตรัสรู้ได้ทั้งนั้น

ทำไมถึงไม่ควรมีภิกษุณีเล่า

 

จะบอกว่า ในเมื่อใครๆ ก็ตรัสรู้ได้ ผู้หญิงจะขวนขวายบวชพระทำไม ก็ต้องย้อนกลับไปว่า ถ้างั้นจะบวชพระภิกษุทำไมด้วยเช่นกัน

การบวชเป็นรูปแบบที่เกื้อต่อการปฏิบัติสำหรับผู้มุ่งไปทางตรง เป็นระบบ “ชุมชน” ที่ออกแบบไว้ช่วยให้ปัจเจกประคับประคองตนไว้ในทางโดยมีกัลยาณมิตรช่วยเหลือ ไม่ต้องพะวงชีวิตทางโลกแบบฆราวาส ซึ่งควรต้องเปิดกว้างต่อทุกคน ทุกเพศทุกวัย

พระธรรมคำสอนและพระวินัยนั้นเป็นสิ่งที่ต้องตีความ การตีความนี้เป็นสิ่งที่เกิดเองโดยธรรมชาติ เหตุด้วยกาลเวลานั้นย่อมล่วงเลยไปและคำสอนย่อมแพร่ไปในบริบททางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ ใครจะรู้ว่าในสมัยพระศาสดาเป็นอย่างไร ก็ต้องตีความกันทั้งนั้น

แต่แปลกที่เขาตีความให้ไม่ยอมให้มีภิกษุณี ทั้งๆ ที่จะตีความให้มีก็ได้ ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะตั้งภิกษุณีสงฆ์ทำไม

สุดท้ายขึ้นอยู่กับตีความด้วยหัวใจแบบไหน เปิดกว้างและเมตตา หรือคับแคบและกีดกัน

 

ที่อ้างว่าภิกษุณีขาดสูญไปนั้น ก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าวงศ์ของภิกษุณีนั้นไม่ขาดสูญ ไปเจริญในฝ่ายมหายานซึ่งอยู่ในฝ่ายที่เคยใช้วินัยเดียวกับเถรวาท แถมโดยหลักแล้ว การบวชภิกษุณีย่อมสำเร็จในข้างภิกษุสงฆ์เป็นสำคัญ ถ้าพระภิกษุสงฆ์ยอมรับก็ย่อมมีขึ้นได้

มีข่าวว่า ทางฝ่ายวัชรยานซึ่งเดิมมีสามเณรีอยู่แล้ว องค์กรรมปะที่สิบเจ็ดประมุขของนิกายกาจูร์ มีพระดำริให้มีการรื้อฟื้นการบวชภิกษุณี นี่คือวิสัยทัศน์ผู้นำทางศาสนาที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่

การคุยกับหลวงแม่วันนั้นทำให้ทราบว่า ปัจจุบันมีภิกษุณีสงฆ์จำนวนมากแล้วในเมืองไทย เฉพาะในสายลังกาคือเถรวาทมีทั้งที่เกาะยอสงขลา ทางอีสานและวัตรทรงธรรมของหลวงแม่ และฝ่ายมหายานอีก รวมๆ หลายร้อยรูป

ไม่ว่าทางกฎหมายหรือมหาเถรสมาคมจะว่าอย่างไร ก็ห้ามการมีอยู่ของสังฆะผู้หญิงไม่ได้อีกแล้ว

ผมพยายามนึกว่า นอกจากการกีดกันผู้หญิงด้วยข้ออ้างต่างๆ แล้ว เรามีปัญหาพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับการมองผู้หญิงทางวัฒนธรรมและความเชื่อ การมีภิกษุณีในบ้านเราจึงยากเย็น

ศาสนาเดิมของเราเป็นศาสนาผีของผู้หญิง ต่อมาศาสนาผีที่ไปผสมกับพุทธและพราหมณ์แล้วจึงค่อยๆ โอนถ่ายความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจไปสู่ผู้ชายเช่นเดียวกับนักบวชในศาสนาทั้งสอง

เมื่อผีกลับไปอยู่ฉากหลัง พระซึ่งเป็นนักบวชของพุทธศาสนาจึงเข้ามาทำหน้าที่แทนนักบวชเดิมของศาสนาผี (แม่มดหมอผี) ด้วย เช่น ปัดเป่าเสนียดจัญไร รักษาโรคภัยโดยพิธีกรรมต่างๆ ในอุษาคเนย์

ความศักดิ์สิทธิ์แบบผี คือความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจดลบันดาลให้ดีหรือร้ายก็ได้ เหนือเหตุนอกผล เป็นอำนาจเร้นลับที่มีสิทธิ์ขาด จึงถูกโอนถ่ายมายังพระ

พระจึงกลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์พิเศษในสังคมอุษาคเนย์ และความศักดิ์สิทธิ์แบบนั้นนำมาซึ่งสมบัติอำนาจสมณศักดิ์ต่างๆ แก่พระ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาเป็นอีกแบบ คือความศักดิ์สิทธิ์ด้วยเมตตาคุณ ด้วยปัญญาคุณ ซึ่งไม่ได้นอกเหตุเหนือผล แต่ไม่ใช่อำนาจเร้นลับดำมืดที่จะบงการให้เกิดสิ่งต่างๆ

แต่เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่จะดลบันดาลให้บุคคลกระทำการต่างๆ ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังได้

เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่อ่อนโยนอย่างยิ่ง ซึ่งหายไปแล้วหรือหาแทบไม่พบจากพุทธศาสนาในเมืองไทย

โดยไม่รู้ตัว เราชาวพุทธสัมพันธ์กับความศักดิ์สิทธิ์แบบผีในพื้นที่พุทธศาสนาทั้งสิ้น

 

ผมว่าทางหนึ่ง การกีดกันภิกษุณี ลึกๆ แล้วเพราะพระส่วนหนึ่ง คงไม่อยากแบ่งความศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งมาพร้อมอำนาจและทรัพย์สมบัติ) แบบนี้ให้กับผู้หญิง ซึ่งกว่าจะได้มาไม่ใช่ง่าย

และด้วยเหตุนั้น ผมกลับมีความหวังต่อภิกษุณีสงฆ์อย่างยิ่ง ในบางประเทศ เช่น ไต้หวัน ภิกษุณีมีมากกว่าพระภิกษุ และดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ฉือจี้ หรืออารามภิกษุณีอื่นๆ

ความเป็นผู้หญิงของภิกษุณีที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยกว่าที่จะเข้าสัมพันธ์ด้วย รวมทั้งงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนซึ่งต้องยอมรับว่าภิกษุณีมีศักยภาพด้านนี้จริงๆ

อีกทั้งภิกษุณีสงฆ์เพิ่งเริ่มประดิษฐานใหม่ๆ ไม่ถูกกลืนกลายหรือครอบงำโดยผีและพราหมณ์มากนัก และยังไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจของพระ พระผู้หญิงหรือภิกษุณี จึงยังคง “ความศักดิ์สิทธิ์” แบบพุทธศาสนาเอาไว้ได้มากพอสมควร

และความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนา คือเมตตา กรุณาและปัญญา เป็นสิ่งที่สังคมไทยในเวลานี้ต้องการมากที่สุด

มิใช่ความศักดิ์สิทธิ์แบบอื่น