นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นาครวิสัยกับสมบัติของผู้ดี

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ศัพท์ว่า Civility ในภาษาอังกฤษ ไม่มีคำแปลในภาษาไทย

คำนี้เอามาจากฝรั่งเศส และฝรั่งเศสเอามาจากละติน ซึ่งแปลได้สามอย่างคือสถานะของชาวเมือง, ศิลปะการปกครอง และความสุภาพ

ไปเกี่ยวอะไรกับการปกครองหรือครับ? ผมอยากเตือนว่ารากศัพท์ในภาษาละตินคือ civil แปลว่าเมือง civilis แปลว่าอันเกี่ยวด้วยชาวเมือง, อันเหมาะสมแก่ชาวเมือง

คำเดียวกันนี้ในภาษาสเปนคือ urbanidad ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่าเกี่ยวกับเรื่องเมืองๆ นี่แหละ

ผมสงสัยว่าแนวคิดเรื่อง “นายเมือง” กับ “นายเถื่อน” ของแบบเรียนไทยนั้นเอามาจากฝรั่ง ในความคิดของฝรั่ง “เมือง” คือรากฐานของอารยธรรมและความเจริญทั้งปวง (civilization – แปลตรงๆ คือความเป็นเมือง ท่านแต่ก่อนแปลคำนี้ว่านาครธรรม)

ในขณะที่ “เมือง” และ “ชนบท” ของไทย หมายถึงพระราชอำนาจหรือระเบียบสังคมอันเกิดจากพระราชอำนาจ เมืองคือชุมชนที่พระราชอำนาจปกแผ่ไปถึง ชนบทคือชุมชนที่แม้อยู่ในพระราชอำนาจ แต่ก็ขาดซึ่งระเบียบสังคม เพราะพระราชอำนาจแผ่ไปได้ไม่เต็มที่

เมืองจึงไม่ใช่ความเจริญก้าวหน้า แต่เป็นความรุ่งเรืองของพระราชอำนาจ อันแสดงออกได้ด้วยปราสาทราชวัง, ขบวนแห่ และวัดวาอารามซึ่งทรงสร้างขึ้น รวมทั้งกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่มีระบบราชการคอยค้ำจุนอยู่ด้วย

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงขอแปลคำ civility เป็นภาษาไทยว่านาครวิสัย เพราะไม่มีคำไทยอื่นมาแปล

เรื่องของรากศัพท์คำนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะความคิดเรื่องความสุภาพและมารยาทของฝรั่งและไทยนั้นไม่ตรงกัน อากัปกิริยาภายนอกอาจอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน เพราะเราไปลอกเขามา แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน

เมื่อฝรั่งพูดถึงนาครวิสัย เขากำลังคิดถึงความประพฤติที่คนซึ่งอยู่ร่วมกันในเมืองควรปฏิบัติ เพราะเมืองเป็นที่ประชุมคนที่มีความหลากหลายมาก ต่างจากชนบทซึ่งทุกคนมีความสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่งเสมอ หากไม่มีหลักความประพฤติคอยกำกับพฤติกรรมในเมือง ก็จะเกิดความแตกแยกวุ่นวาย จนยากที่จะดำรงรักษาสังคมเมืองไว้ได้ (อย่าลืมว่าฝรั่งเชื่อว่าสังคมเมืองคือบ่อเกิดของสิ่งดีๆ ทั้งหมดแก่มนุษยชาติ)

แกนสำคัญของหลักความประพฤติแบบนี้คือไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น และขันติธรรมต่อความแตกต่างนานาชนิด ความสุภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของนาครวิสัย แต่ไม่ใช่เท่านั้น แท้จริงความสุภาพเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่ขาดไม่ได้ ในการแสดงความไม่เห็นพ้อง โดยไม่ต้องเหยียดหยามดูหมิ่นถิ่นแคลน จนไม่อาจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ หรือแม้แต่ไม่อาจร่วมมือกันทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้

(ลองนึกย้อนไปถึงกลุ่มคนร่วมกันไล่ล่าสัตว์มาบริโภค หรือทำการเพาะปลูกร่วมกันในชนบท คนเหล่านั้นเป็นญาติมิตรกันอยู่แล้ว หรือยอมอยู่ภายใต้การนำของใครตามลำดับชั้นอยู่แล้ว จึงอาจทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องมี “มารยาท” มากำกับ เพราะมีกฎของตระกูล, ของโคตร, ของชุมชน, ของเผ่า กำกับอยู่แล้ว แต่คนในเมืองคือคนร้อยพ่อพันแม่ที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์ใดๆ กันมาก่อน จะร่วมกันทำงานอะไรได้โดยไม่มี “มารยาท” บางอย่างกำกับไว้ได้อย่างไร)

 

ประมวลกฎเกณฑ์มารยาทของสุภาพชนฝรั่งที่เก่าที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นคือ 110 Rules of Civility & Decent Behavior in Company and Conversation ซึ่ง เด็กชายยอร์ช วอชิงตัน ถูกครูสั่งให้คัดลอกเป็นแบบฝึกหัดคัดลายมือ

กฎเกณฑ์นี้บาทหลวงเยซูอิตฝรั่งเศสประมวลขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1595 และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเด็กชายอายุเพียง 12 ปีใน ค.ศ.1640 เข้าใจว่าเป็นแบบฝึกหัดในการเรียนภาษาฝรั่งเศสของพ่อหนู

สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดในกฎเกณฑ์ 110 ข้อนี้ก็คือ กฎเกณฑ์เหล่านี้เน้นคนอื่น ไม่ใช่เน้นแต่ตัวเอง ผมขอยกเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจอย่างนี้ครับ เช่น ข้อแรกของกฎเกณฑ์ 110 ข้อบอกว่า “การกระทำใดในที่ประชุมชน ควรกระทำโดยแสดงความเคารพบางประการ แก่ผู้อื่นที่อยู่ร่วมในขณะนั้นด้วย”

ลองเอากฎข้อนี้ไปเปรียบกับสุภาษิตสอนหญิงสิครับ ไทยเราสอนให้ผู้หญิงมีมารยาทในที่สาธารณะ เพื่อไม่ให้คนอื่นเขาดูถูกเหยียดหยามว่าไม่มีสกุลรุนชาติ ไม่ใช่เพื่อแสดงความเคารพต่อประชุมชน

อีกเรื่องหนึ่งที่กฎนาครวิสัยฝรั่งเน้นย้ำก็คือ การสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่จะทำให้ความแตกต่างด้านความคิดเห็นสามารถแสดงออกได้โดยเสรี เช่น อย่าพูดมาก, อย่าพูดคนเดียว, อย่าตอกย้ำประเด็นของตนไม่หยุดหย่อน

กฎข้อ 86 บอกว่า “ในวิวาทะต่างๆ อย่าอยากเอาชนะเสียจนไม่ให้เสรีภาพแก่แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นของตน เพื่อเสนอให้คนส่วนใหญ่ได้ตัดสิน โดยเฉพาะเมื่อคนส่วนใหญ่เป็นผู้ชี้ขาดกรณีพิพาท” ในสังคมเมืองที่มีความคิดเห็น, ความต้องการ และนโยบายที่แตกต่างกันมากมาย ข้อ 58 ให้คำแนะนำว่า “…ในทุกเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ ต้องยอมรับเหตุผลเป็นผู้กำหนดชี้นำ”

ในส่วน “มารยาท” ที่กฎ 110 ข้อกำหนดไว้ ก็อาจดูล้าสมัยจนบางเรื่องอาจน่าหัวเราะไปแล้ว เช่น วางแต่มือ อย่าได้วางแขนไว้บนโต๊ะอาหารเป็นอันขาด หรือเดินกับผู้ใหญ่ต้องเดินขวาหรือซ้าย หรือเฉียงหลัง แต่ส่วนที่เป็นกฎนาครวิสัย ก็ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ และยิ่งไปกว่านั้นคือสังคมประชาธิปไตย

 

ไทยเราก็มีตำราว่าด้วยความประพฤติและมารยาทมาแต่โบราณเหมือนกัน เท่าที่มีหลักฐานก็ตั้งแต่สมัยอยุธยา คือที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงลงมาจนถึงราชสวัสดิ์ แต่ล้วนเป็นตำราสำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาท พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นแบบแผนมารยาทของราชสำนัก (แบบแผนมารยาทฝรั่งก็เริ่มจากราชสำนักเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากคำที่เกี่ยวกับมารยาท เช่น courtesy หรือ chivalry ซึ่งมาจากคำว่า chevalier ในสมัยกลาง) ต่อมาก็มารยาทผู้หญิงชั้นสูงในปลายอยุธยาลงมา คือกฤษณาสอนน้อง ซึ่งสอนให้ผู้หญิงชั้นสูงเป็นเมียที่ดีได้อย่างไร

สุภาษิตสอนหญิงในต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าใครเป็นผู้แต่งก็น่าสนใจตรงที่ว่า สอนมารยาทผู้หญิงในเมืองโดยทั่วไปเป็นครั้งแรก (เพื่อจะหาผัวได้คนดี)

จนมาถึงสมบัติของผู้ดีซึ่งเจ้าพระยาพระเสด็จฯ แต่งขึ้นในต้นรัชกาลที่ 6 ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีทั้งความก้าวหน้าและความล้าหลังอยู่ในนั้นพร้อมกัน

ท่านผู้แต่งเลือกใช้คำว่า “ผู้ดี” ซึ่งในสมัยนั้น ยังมีความหมายถึงคนมีศักดินาเกินกว่า “ไพร่” ทั่วไป ให้มีความหมายใหม่ ถึงคนทั่วไปไม่เกี่ยวกับศักดินาหรือกำเนิด แต่เป็นคนที่มีกาย วาจา ใจสุจริต ก็อาจนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง

แต่ความหมายใหม่นี้ท่านผู้แต่งคิดขึ้นเอง หรือนำมาจากนิยามใหม่ที่ ร.6 พระราชทานไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อน ผมไม่ทราบ

 

อีกข้อหนึ่งที่อาจถือว่าเป็นความก้าวหน้าด้วยเหมือนกันก็คือ ผมเข้าใจว่าเป็นครั้งแรกที่คนไทยคิดถึงสังคมเมืองแบบฝรั่ง คือชุมชนที่มีคนหลากหลายนานาชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน และจำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กันมากบ้างน้อยบ้าง จะทำให้ชุมชนเช่นนี้มีระเบียบอยู่ได้อย่างไร เจ้าพระยาพระเสด็จฯ คิดถึงกฎเกณฑ์แบบแผนด้านมารยาท หากใช้ภาษาของกฎ 110 ข้อที่ เด็กชายยอร์ช วอชิงตัน คัดลายมือไว้ ก็คือ Decent Behavior

แน่นอน เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ได้ความคิดนี้จากฝรั่ง แต่ก็เป็นความคิดสมสมัยอย่างยิ่ง เพราะชีวิตกรุงเทพฯ ในเวลานั้นได้เปลี่ยนไปมากแล้ว การศึกษาแผนใหม่ที่ขยายตัวขึ้น ทำให้การควบคุมพฤติกรรมคนด้วยช่วงชั้นศักดินาเป็นไปได้ยากขึ้น คุณก็จบมัธยมบริบูรณ์เท่าผม ถึงแม้คุณเป็นลูกเจ้าพระยา ผมเป็นแค่ลูกคุณหลวงหรือลูกเจ๊ก คุณกับผมก็เท่ากัน เราจะสัมพันธ์กันได้ก็ต้องมีแบบแผนมารยาทใหม่ ที่ช่วยให้เราไม่ต้องต่อยกัน เพราะคุณเห็นว่าผมบังอาจ และผมเห็นว่าคุณยโสโอหัง

ครับ แน่นอนว่ามารยาทในสมบัติของผู้ดีลอกฝรั่งมาไม่น้อย บางเรื่องอาจขัดวัฒนธรรมไทยเลยก็มี เช่น “ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน” การสัมผัสร่างกายในวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของภาษาไทย เป็น “อวจนภาษา” ที่ขาดไม่ได้เลย ไม่เฉพาะแต่กับเพื่อนหรือคนเสมอกันเท่านั้น คงจำภาพที่คนไทยประทับใจได้ นั่นคือภาพที่ชาวบ้านขอจับพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ขึ้นทูลไว้บนศีรษะของตนบ้าง จับแล้วเอามือมาลูบศีรษะตนบ้าง เป็นท่าทางที่คนไทยทั่วไปอ่านความหมายออกได้ทันที

แต่การสัมผัสกันในที่สาธารณะเป็นเรื่อง (ที่เคย) ต้องห้ามในวัฒนธรรมฝรั่ง ยกเว้นการทักทายด้วยการจับมือ

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกมากที่ขัดวัฒนธรรมไทย เช่น เรื่อง “ผู้หญิงก่อน” นั้นตรงข้ามกับที่คนไทยปฏิบัติเลย กฤษณาสอนน้องสอนให้เมียเดินตามหลังผัว และกินข้าวหลังผัว ด้วยซ้ำ

ลอกเสียจนไม่เข้ากับไทยเลยก็มี เช่น อย่าไปใช้โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น นอกจากข้าราชการและเสมียนบริษัทแล้ว คนไทยส่วนใหญ่เวลานั้นคงไม่มีใครมีโต๊ะเขียนหนังสือ

แม้กระนั้น มารยาทในสมบัติของผู้ดีก็ไม่ได้ลอกฝรั่งมาทั้งหมด เป็นมารยาทราชสำนักไทยก็มีเหมือนกัน เช่น ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคลในเวลามงคล หรือย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท

ไม่ว่าจะลอกฝรั่งมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ไม่ได้ลอกเลย ก็คือฐานคิดที่เกี่ยวกับนาครวิสัย เมืองจะมีระเบียบเรียบร้อยอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ และความเคารพกันในบรรดาผู้มีสถานะที่แตกต่างกัน หรือกฎเกณฑ์ความประพฤติระหว่างช่วงชั้น-ผู้ใหญ่-ผู้น้อย-นั่นเอง

ความสุภาพของไทยจึงเป็นความสุภาพ “เรียบร้อย” ในขณะที่ความสุภาพของฝรั่งเป็นแค่สุภาพเฉยๆ

ความที่ไม่คิดถึงนาครวิสัยนั้น เห็นได้ดีว่าเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ไม่ได้พูดถึงความเคารพต่อสาธารณสมบัติเลย จนมาในภายหลัง ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ต้องแต่งเรื่องมารยาทเล่มน้อยขึ้น ซึ่งก็ใช้ความของสมบัติของผู้ดีนั่นเอง เพียงแต่เพิ่มเติมความที่เกี่ยวกับความเคารพต่อสาธารณสมบัติเป็นมารยาทไทยไปด้วย

ในแง่ฐานคิด ผมจึงเห็นว่าสมบัติของผู้ดีนั้นเป็นหนังสือไท้ยไทย “ผู้ดี” ไทยจึงไม่มีสำนึกเรื่องนาครวิสัย แม้ไม่เที่ยวขีดเขียนตามกำแพงวัด แต่ไม่เห็นว่าการเปิดโอกาสอันเท่าเทียมกันแก่ผู้มีความเห็นต่าง, นับถือศาสนาต่าง, มีเพศวิถีต่าง, มีสถานภาพต่ำกว่า, ฯลฯ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของความเป็น “ผู้ดี”

มารยาทไทยที่เราประกวดกันอยู่ทุกวันนี้ คือความประพฤติที่พึงกระทำในความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น กราบพระอย่างไร ไหว้ครูและผู้ใหญ่อย่างไร พูดกับคนที่สูงกว่าอย่างไร พูดกับคนที่ต่ำกว่าอย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งคือประกวด “ความเรียบร้อย” กัน

มารยาทไทยไม่เคยรวมเรื่องเถียงกันอย่างไร, เคารพความต่างอย่างไร, หลีกเลี่ยงการดูหมิ่นความต่างได้อย่างไร, ปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยอย่างไร ฯลฯ

แต่สังคมเมืองหรือสังคมสมัยใหม่จะหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว “ผู้ดี” ไทยจึงทำไม่มีมารยาทที่จะจัดการกับสถานการณ์อย่างนี้ ทำได้เพียงแค่ใช้ความหยาบคายลามกจกเปรตในการต่อสู้กับปรปักษ์ ดังจะเห็นได้จากการกระทำของวีรบุรุษเวที กปปส. หรือยกอำนาจทั้งหมดให้นักเลงหัวไม้พวกเดียวกัน ซึ่งมักแสดงอำนาจด้วยกิริยาหยาบคาย

ตัวกิริยาหยาบคายนั่นแหละคือสัญลักษณ์ของอำนาจแบบไทย ไม่ใช่เหตุผลอย่างที่นาครวิสัยของฝรั่งค้นพบ

เรากำลังรอหนังสือเล่มใหม่ที่ยังไม่มีผู้เขียนขึ้นชื่อ “นาครวิสัยของผู้ดี”