เกษียร เตชะพีระ | สถานการณ์โลกจากมุมอเมริกา : ภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยี

เกษียร เตชะพีระ

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาในฐานะอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งอยู่ในสถานการณ์โลกทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นใด โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับจีนที่กำลังกลายเป็นคู่ท้าชิงไล่กวดเข้ามา?

เพื่อตอบคำถามนี้ ผมหันไปปรึกษางานของ Dylan John Riley ลูกศิษย์ของ Perry Anderson น้องชายของครู Ben Anderson ผู้ล่วงลับ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเพื่อนร่วมงานกับครูในกองบรรณาธิการวารสาร New Left Review

 

ปัจจุบันไรเลย์เป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการเมือง, สังคม-วิทยาประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบ และทฤษฎีสังคม แห่งคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กเลย์ อเมริกา ซึ่งค้นคว้าวิจัยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม การเมืองของยุโรปโดยเฉพาะบรรดาประเทศเผด็จการฟาสซิสต์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับสองจนช่ำชอง

เขาประยุกต์ภูมิรู้ความเข้าใจนั้นมาศึกษาเปรียบเทียบสถานการณ์ของอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ปัจจุบันในงานล่าสุดเรื่อง “What Is Trump?”, New Left Review, II/114 (November-December 2018).

และชี้ให้เห็นอย่างน่า สนใจว่า :

สงครามเย็น (ค.ศ.1945-1991) อันเป็นความขัดแย้งใหญ่ครั้งสุดท้ายทาง ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกสิ้นสุดลงโดยที่คู่ต่อสู้หลักทั้งสองคืออเมริกากับโซเวียตแทบไม่ได้ลั่นกระสุนใส่กันโดยตรงสักนัดเดียว และค่ายโซเวียตยอมพ่ายแพ้อย่างเรียกได้ว่าศิโรราบ

สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นผู้ชนะเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไข ขณะที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรก็ดูดกลืนเอาดินแดนใหม่อันกว้างใหญ่และแรงงานราคาถูกมหาศาลจากยุโรปกลางและตะวันออกมาเป็นของตน

กล่าวในทางทหาร จากดินแดนยูคอนทางตะวันตกสุดของแคนาดา ผ่านประเทศเอสโตเนียอันเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต จนจรดลุ่มน้ำดานูบในยุโรปกลางและตะวันออก กองกำลังทหารขององค์การนาโต้รวมตัวกันอยู่ภายใต้การบัญชาการของสหรัฐ กล่าวได้ว่าสหรัฐไม่มีคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จริงจังใดอยู่เลยตอนนี้

ส่วนสงครามอสมมาตร (asymmetrical warfare) ของสหรัฐเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลนานเกือบสองทศวรรษนับแต่เหตุการณ์ 9/11 ปี ค.ศ.2001 เป็นต้นมา ก็ได้ทำให้ประเทศมุสลิมหลายประเทศพังพินาศสันตะโร

ทว่าในทางกลับกัน ปฏิกิริยาฟาดกลับ (blowback) ต่อทางการวอชิงตันก็ยังนับว่าอยู่ในระดับต่ำสุด

เพื่อชดเชยอาการขาดพร่องศัตรู (enemy deficiency syndrome) สถาบันอำนาจด้านความมั่นคงของสหรัฐได้ปลุกผีสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบอันธพาล” (rogue regimes) ขึ้นมาเป็นภัยคุกคามใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้แก่เกาหลีเหนือและอิหร่าน รวมทั้ง “ภัยก่อการร้าย” ที่ผลุบๆ โผล่ๆ ลับๆ ล่อๆ อยู่ทุกหนแห่ง

ในสภาพที่เขตอำนาจของอเมริกาแผ่ปกคลุมไปทั่วโลกเช่นนี้… กองกำลังทหารสหรัฐเข้าเกี่ยวพันในปฏิบัติการ “ต่อต้านการก่อการร้าย” ประเภทต่างๆ กับนานาชาติในโลกถึง 80 ประเทศ จำแนกเป็น (ดูแผนที่ด้านบนประกอบ) :

– มีฐานทัพอยู่ใน 40 ประเทศ

– ฝึกอบรมต่อต้านการก่อการร้ายให้ 65 ประเทศ

– ซ้อมรบกับ 26 ประเทศ

– ปฏิบัติการรบจริงใน 14 ประเทศ

– โจมตีทางอากาศและด้วยโดรนใน 7 ประเทศ

…จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่การผงาดขึ้นของมหาอำนาจระดับภูมิภาคไม่ว่าที่ใดในโลกย่อมก่อความขุ่นข้องรำคาญแก่อเมริกา

ฉะนั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วชนิดไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งขนาดอันใหญ่โตของจีนจึงกลายเป็นปัญหาท้วงถามท้าทายกรรมสิทธิ์ของอเมริกาในทางปฏิบัติเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกซีกตะวันตก อันครอบคลุมเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้จีนยังนับว่าค่อนข้างโดดเดี่ยวด้านภูมิรัฐศาสตร์แม้แต่ในภูมิภาคใต้เขตอิทธิพลของตนเอง เช่น ขณะที่สหรัฐมีสนธิสัญญาร่วมป้องกันกับกว่าห้าสิบประเทศ จีนมีสนธิสัญญาทำนองนั้นกับประเทศเดียวคือเกาหลีเหนือ

มิหนำซ้ำจีนยังถูกล้อมรอบด้วยฐานทัพสหรัฐในนานาประเทศอีกด้วย

ทว่าในทางกลับกัน โอกาสความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเรียกระดมเกณฑ์พลเมืองเพื่อเข้าสู่สงครามขนานใหญ่เหมือนที่เคยทำเมื่อครั้งสงครามเวียดนามก็ยากจะเกิดขึ้นได้ และจึงหันไปใช้การรับอาสาสมัครเข้ามาเป็นทหารแทน

ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงทางจิตวิทยาสังคม ประชากรของโลกทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ อดกลั้นทนรับต่อการบาดเจ็บล้มตายในหมู่เพื่อนพลเมืองของตัวเองที่ออกไปรบศึกสงครามโพ้นทะเลได้ต่ำ

พูดอย่างโหดห้วนก็คือ พวกเขาไม่เต็มใจจะไปตายเพื่อประเทศของตัวเองแล้ว!

ดังนั้น นับแต่สิ้นสงครามเวียดนามมา รัฐบาลอเมริกันทุกชุดจึงเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะประกันให้กองทัพปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องเรียกระดมเกณฑ์พลเมืองอเมริกันออกรบขนานใหญ่

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีอะไรจะคุกคามความมั่นคงทางจิตใจของสังคมอเมริกัน เท่าการเกณฑ์ทหารอีกแล้ว

แต่กระนั้น สถาบันอำนาจด้านความมั่นคงของอเมริกาก็ยังมิวายหวาดระแวงภัยคุกคามแข่งขันทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AI (Aritificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์), เครื่องมือสื่อสารพกพารุ่น 5G, และสงครามไซเบอร์จากจีนที่กำลังไล่กวดขึ้นมา

ดังที่มาร์ติน เฟลด์สไตน์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐ ผู้เคยและยังดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานคลังสมองด้านเศรษฐกิจและข่าวกรองต่างๆ ของอเมริกาและระหว่างประเทศหลายแห่ง ได้เผยไว้ในบทความเมื่อเร็วๆ นี้ว่า (https://www.project-syndicate.org/commentary/real-purpose-of-us-china-tariffs-not-trade-deficit-by-martin-feldstein-2019-01) :

เป้าหมายแท้จริงของสหรัฐในสิ่งที่จีนเรียกว่า “สงครามการค้า” ซึ่งสหรัฐเปิดฉากเล่นงานจีนนั้นไม่ใช่การลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อจีนหรอก แต่คือการโน้มน้าวจีนให้เลิกนโยบายขโมยเทคโนโลยีสหรัฐต่างหาก

หรือพูดให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นคือ

– ให้จีนหยุดเรียกร้องบริษัทอเมริกันทั้งหลายที่อยากทำธุรกิจในจีนต้องเข้าเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทจีนท้องถิ่นและแบ่งปันเทคโนโลยีให้เสีย เพราะขัดกฎระเบียบองค์การการค้าโลกที่จีนเป็นภาคีสมาชิกอย่างชัดแจ้ง (จีนแย้งว่าตนไม่ได้บังคับบริษัทอเมริกันให้ทำแบบนั้นเสียหน่อย แต่บริษัทเหล่านั้นทำเองโดยสมัครใจเพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดและโอกาสผลิตสินค้าในจีนต่างหาก ทว่าบริษัทอเมริกันเห็นว่านั่นเป็นการรีดไถรูปแบบหนึ่ง) และ

– ให้จีนหยุดใช้จารกรรมไซเบอร์ขโมยเทคโนโลยีและความลับทางอุตสาหกรรมต่างๆ จากบริษัทอเมริกัน (ซาไปบ้างหลังสีจิ้นผิงรับปากโอบามาในปี ค.ศ.2015 แต่เพียงแค่ชั่วคราว แล้วก็กลับเพิ่มขึ้นอีกในปีหลังๆ นี้โดยเปลี่ยนจากหน่วยงานรัฐของจีนทำมาเป็นรัฐวิสาหกิจและองค์การอื่นของจีนทำแทน)

เพราะเทคโนโลยีที่จีนขโมยไปได้จากบริษัทอเมริกันถูกปรับประยุกต์ใช้หันกลับมาแข่งกับบริษัทอเมริกันเอง ผู้แทนการค้าสหรัฐประเมินว่าการขโมยเทคโนโลยีโดยจีนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสียหายเป็นมูลค่า 225-600 พันล้านดอลลาร์/ปี และเอฟบีไอประเมินว่าโจรกรรมไซเบอร์ที่จีนทำต่อเทคโนโลยีอเมริกันนับเป็นภัยคุกคาม “ร้ายแรงที่สุด” ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ

ภาคเอกชนของสหรัฐก็เห็นเฉกเช่นกัน ดังรายงานของหอการค้าสหรัฐกับหอการค้าอเมริกันประจำประเทศจีนเร็วๆ นี้เรื่อง “ข้อเสนอแนะด้านนโยบายต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน” ก็เน้นย้ำปัญหาการขโมยเทคโนโลยี แต่ไม่เอ่ยถึงเรื่องดุลการค้าเลย

(https://www.wsj.com/public/resources/documents/tradereport.pdf?mod=article_inline , 16 ม.ค. 2019)

ฉะนั้น ข้อเสนอต่อรองจากทีมเจรจาฝ่ายจีนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ส่งออกอเมริกันเพิ่มขึ้นจนลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อจีนเหลือศูนย์ในปี ค.ศ.2024 นั้นจึงผิดฝาผิดตัวและเกาไม่ถูกที่อเมริกาคันจริงๆ แต่อย่างใด