ดีเบตทางการเมือง กับ เรื่องที่ร้อนแรงที่สุด!

งบกองทัพแบบไหนไม่หนักกบาลชาวบ้าน

ทำอย่างไรให้คนไทยหายจน

รัฐธรรมนูญทางออกหรือทางตันประเทศ?

3 ประเด็นร้อน หาคำตอบจากรายการดีเบตเครือมติชน

ยังจำบรรยากาศของสนามการเลือกตั้งครั้งปี 2554 ได้ ในยุคที่ทีวีมีช่องหลักอยู่ไม่เท่าไหร่

ช่องทางออนไลน์กลายเป็นเพียงทางเลือกใหม่ๆ (ที่อาจจะยังไม่ฮิต) ในเวลานั้น

การไลฟ์สด ที่สามารถทำที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีหนทางเกิดขึ้น เพราะยุคนั้นต้องใช้รถโอบีขนทีมงานจำนวนมากเพื่อถ่ายทอดสด

อันรวมไปถึงบรรยากาศการปราศรัยของพรรคต่างๆ คึกคักมาก แต่ก็ต้องไปทั้งสวนลุมพินี สนามหลวง สนามศุภฯ แม้กระทั่งสเกลใหญ่ระดับสนามราชมังคลากีฬาสถาน ส่วนทางหน้าจอทีวี แน่นอนทุกคนเฝ้ารอดูไม่กี่รายการ

หนึ่งในนั้นก็ต้องนึกถึงสรยุทธ สุทัศนะจินดา ช่วงเย็นๆ ทางช่อง 3 ที่นำคนสำคัญทางการเมืองมาจับเข่าคุยและมาดีเบตถามกันอย่างดุเดือด

ถัดมา 8 ปีที่เราจะได้มีการเลือกตั้ง (ครั้งจริงๆ) แล้ว

คราวนี้มาในสนามใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

หลังๆ ภาพการปราศรัยไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตามไม่ได้คึกคักเฉกเช่นอดีต เพราะเดี๋ยวนี้คนจะดูที่ไหนเมื่อไหร่ผ่านหน้าจอของตัวเองก็ได้

ส่วนในแง่การแข่งขันกันของคนข่าว ต้องยอมรับว่า “ทางเลือก” ให้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารมีหลากหลายมาก ชนิดที่เรียกว่าทุกช่องทุกแพลตฟอร์มผลิตกัน 1 วัน มาเปิดให้ดูกันแบบ 3 วัน 7 วันยังไม่หมดเลย

เพราะนอกจากทีวีดิจิตอลที่มีช่องมากมาย ยังมีรายการออนไลน์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แม้กระทั่งสีสันเครื่องเคียงของการเลือกตั้งมากมายเต็มไปหมด ถูกใช้ผ่านไลฟ์แบบใหม่ๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ต้องลงทุนสูงเช่นอดีต

วันนี้จึงอยากเล่าในมุมของ “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราก็เช่นกัน ที่ได้ร่วมกับ “มติชนทีวี” ในการจัดรายการทางออนไลน์เต็มตัว ชื่อ (S)Election เกาะติดเลือกตั้ง “62 ซึ่งอยากจะขออธิบายในฐานะผู้มีส่วนในรายการนี้ว่า ซีเล็กชั่นที่แปลว่าเลือกสรร คัดสรร (สิ่งที่ดีๆ) แล้ว เมื่อเอาวงเล็บไปปิดที่ตัว S ก็จะอ่านว่าอีเล็กชั่น หรือหมายถึงการเลือกตั้งนั่นเอง

นั่นแปลว่ารายการของทางเครือมติชนนี้เป็นสิ่งที่คัดสรรพิเศษเฉพาะและแตกต่างจากรายการทั่วๆ ไปในช่วงการเลือกตั้ง

มาถึงวันนี้ (S)Election ได้ดำเนินการถ่ายทอดสดและเผยแพร่รายการมาต่อเนื่องกว่า 16 สัปดาห์แล้ว ในครึ่งแรก 10 สัปดาห์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราเน้นไปที่การนำเสนอความสดใหม่ของคนรุ่นใหม่ขนขบวนกันมาสัปดาห์ละ 1 พรรค จับเอายังบลัดมาผ่ากึ๋น มาปล่อยของให้ประชาชนได้รู้จักว่านี่แหละที่เสนอตัวเข้ามาเป็นหน้าใหม่ๆ ในสภาไทย

โดยจุดประสงค์ในฐานะคนจัดอย่างเราๆ มีการคละชายหญิง LGBT จากหลายพรรคมานำเสนอความฝัน ความหวังและความต้องการเปลี่ยนสังคมไป

โดยมีทั้งพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย ประชาชาติ ชาติพัฒนา ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ฯลฯ

และที่มาอย่างเข้มข้นอย่างมากคือในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่เราเน้นไปที่ “ประเด็น” และ “บุคคล” ที่เป็นกูรูผู้รู้จริงในเรื่องราวนั้นๆ ในโค้งสุดท้ายทางการเมือง คละความเก๋าและคนคลุกคลีในเรื่องต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน อภิปราย เสวนา หรือจะเรียกว่า “ดีเบต” ก็ได้

ซึ่งเทปที่สร้างปรากฏการณ์ความสร้างสรรค์ที่สุดครั้งหนึ่ง “ทำอย่างไรให้คนไทยหายจน” โดยได้รับเกียรติจาก 4 ยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของ 4 พรรค ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าและแคนดิเดตจากพรรคอนาคตใหม่, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ, กรณ์ จาติกวณิช มือเศรษฐกิจและผู้คุมนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ มาถกและแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบายเศรษฐกิจทั้งหมด

 

ไม่ว่าจะมาตรการทำอย่างไรแก้ไขปัญหาปากท้องเร่งด่วน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอาอย่างไรกับภาษี นโยบายการเกษตร ค่าแรงขั้นต่ำ

วิธีการเพิ่มเงินในกระเป๋าชาวบ้านอย่างเร่งด่วนในช่วงแรกหากเป็นรัฐบาลทำอย่างไร

ซึ่งปรากฏว่าผู้ชมทั้ง 2 ช่องทางทั้งในเพจ Facebook Matichon Weekly และ Youtube MatichonTV มีผู้ชมรวมกว่า 2.5 แสน มีการแชร์ส่งต่อกันหลายพัน

และมีความคิดเห็นจำนวนมากกระหน่ำเข้ามา ในทางชื่นชมในการจัดเวทีที่สร้างสรรค์ ซึ่งต่างจากที่อื่นที่นำสองขั้วมาหักกันแล้วขายความสะใจเป็นหลักมากกว่าที่ชาวบ้านจะมีความหวังว่าเขาได้รับไอเดียและแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของเขาได้อย่างไร

สำหรับการดำเนินรายการ เราได้รับเกียรติจากอาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาดำเนินรายการให้

ซึ่งอาจารย์อนุสรณ์ได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ขยายความเข้าใจซักถามต่อตัวแทนพรรคการเมืองแทนชาวบ้านด้วยภาษาที่กระชับเข้าใจง่ายขึ้น

และในเทปพิเศษหลังๆ มานี้เราจะมีคำถามพิเศษจากกูรูด้านต่างๆ อาทิ อาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่มาตั้งคำถามแหลมคมและเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจในการที่พรรคจะแก้ปัญหาเรื่องการปฏิรูประบบภาษีเพื่อมีเงินไปพัฒนาด้านสวัสดิการให้ประชาชนได้อย่างไร

ในช่วงหนึ่งมีคำถามที่ประชาชนสนใจอย่างมากและฝากคำถามเข้ามาว่า ในเมื่อประเทศมีงบประมาณจำกัด เราจะจัดการงบประมาณอย่างไร ต้องลดงบฯ ในส่วนของกองทัพเพื่อนำมาเพิ่มหรือไม่?

ลองไปอ่านทัศนะของตัวแทน 4 พรรคในเรื่องนี้ว่าอย่างไรกันบ้าง

ชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในระบบราชการโตขึ้นเยอะ และมีไขมันอยู่มาก ฉะนั้น เราไม่ได้พูดแค่กระทรวงกลาโหมเท่านั้น แต่เราพูดถึงระบบราชการทั้งหมดที่จะต้องพูดคุยภาพรวม ไม่ใช่ตัดไปทันที เพราะมีหลายงบประมาณที่ซับซ้อนกัน ตัวอย่างคูปองอบรมครู ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการ ครูไม่ได้ประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์คือออร์แกไนซ์

กรณ์ กล่าวว่า มีวาทกรรมในเรื่องของงบฯ กลาโหม แต่ถ้าเราเอาข้อเท็จจริงมาเปรียบเทียบ งบฯ กระทรวงกลาโหมก็เพิ่มขึ้น เหมือนทุกกระทรวงที่เพิ่มตามจีดีพีทุกปี แต่ถ้าดูงบฯ ของกระทรวงในรัฐบาล คสช.ตามจีดีพี งบประมาณของกลาโหมลดลงทุกปี ซึ่งในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นับเป็นครั้งเดียวในรอบ 10 ปีที่งบฯ กองทัพลดลง เพราะช่วงนั้นมีวิกฤตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จึงถือเป็นเรื่องที่เราคุยกันได้ ไม่จำเป็นต้องมาทะเลาะกันถ้ามีเหตุผลเพียงพอ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาทางออกประเทศ

สนธิรัตน์ กล่าวว่า งบฯ กลาโหมขณะนี้ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับจีดีพี เราต้องมองภาพใหญ่ของรัฐ คือยุทธศาสตร์ประเทศจะไปทางไหน เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำงบประมาณแบบเพิ่มเรื่อยๆ โดยงบประมาณของประเทศจะเทไปตามยุทธศาสตร์ในแต่ละช่วง แต่ละเหตุการณ์ และการใช้งบฯ อย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดความเชื่อมโยง มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความสูญเสีย วันนี้ พปชร.มองว่าต้องนำบิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยในการประเมินและติดตาม

ธนาธร กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างกระทรวงศึกษาธิการมีงบฯ กลางและออกแบบกิจกรรมโดยส่วนกลาง มีการเรียกครูทั้งประเทศมาอบรม และไปจัดตามโรงเรียน ก่อนประเมินผล โดยที่ท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ผมจึงอยากเสนอให้คืนอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจทางด้านภาษีและงาน ไม่ใช่ให้ส่วนกลางเป็นคนตัดสินใจ จะทำให้การใช้งบประมาณสามารถตอบสนองพี่น้องประชาชนได้ชัดเจนขึ้น

สามารถชมได้ที่

นอกจากนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาเรายังมีการเชิญกูรูด้านกฎหมายแต่ละพรรคมาถกกับดักรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนเพิ่งจะมาตื่นตัวในช่วงใกล้เลือกตั้งว่า “ช่องทาง” การได้นายกฯ คนต่อไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ต้องมี ส.ว. 250 เสียง จากที่ คสช.เลือกมา เข้ามามีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกฯ อันเป็นผลมาจากคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติ ที่ถูกสั่งห้ามอภิปรายถกในที่สาธารณะจนมีบางส่วนถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำ

เทปนี้เราได้รับเกียรติจากแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ชัยเกษม นิติสิริ อันเป็นมือกฎหมายและผู้มีบทบาทสำคัญของพรรคและเป็นผู้ที่ยืนยันว่าจะไม่ลาออกในช่วงปี 2557 ก่อนมีการรัฐประหาร

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ผู้ที่เตรียมขายแพ็กเกจการตัดวงจรอุบาทว์รัฐประหารและหนึ่งในมันสมองของพรรค

ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ผู้ที่ยืนกรานว่าผิดตรงไหนที่มี ส.ว.มาช่วยเลือกนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน และออกมาโจมตีคนโจมตียุทธศาสตร์ชาติหรือจ้องแก้รัฐธรรมนูญมุ่งสร้างวาทกรรม

คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่ถือเป็นพี่ใหญ่สุดในวงนี้เพราะเป็น ส.ส.มามากกว่า 10 สมัย เป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง มาร่วมถกว่าสุดท้ายแล้วที่เรากำลังจะเลือกตั้ง เรากำลังเดินไปสู่ “ทางตัน” หรือประเทศกำลังมีทางออก?

ซึ่งครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอดีต กกต.สดศรี สัตยธรรม ที่มาตั้งคำถามกิตติมศักดิ์ว่า พรรคการเมืองมั่นใจแค่ไหนว่า 24 มีนาคมนี้จะได้เลือกตั้งกันจริงๆ ถ้าไม่ได้เลือกจะทำอย่างไร

ปรากฏว่า ชัยเกษมบอกว่า ณ วันนี้ก็ยังตอบว่าไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม อันเนื่องมาจากตัวภาวะผู้นำเองก็ดี หรือท่าทีกองทัพ

เช่นเดียวกับปิยบุตรห่วงเรื่อง ม.44 ที่ผู้นำยังมีอำนาจอยู่ กองทัพก็คาดเดาไม่ได้ จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันตื่นตัวปกป้องการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะไม่มีเหตุผลจะขยับเลื่อนอีกแล้ว แต่กังวลใจท่าทีผู้นำกองทัพและท่าทีบางพรรค โดยเฉพาะกองทัพ ทำให้บรรยากาศคล้ายๆ 6 ตุลาคม กลิ่นคล้ายๆ ช่วงนั้นออกมาจึงไม่สบายใจ

ด้านไพบูลย์ตอนแรกตอบว่ามั่นใจ 99.99 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเปลี่ยนใจมาตอบว่า 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ในภายหลังทันที ด้านจุรินทร์มองว่า จากการลงพื้นที่ทั่วประเทศวันนี้ชัดเจนแล้วว่าประชาชนต้องการให้มีเลือกตั้ง ถ้าจะไม่มีก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะตอบได้ว่าเพราะเหตุใดหรือเพราะใครจะทำให้ไม่มี

สามารถรับชมได้ที่

ทิ้งท้ายด้วยเทปล่าสุด งบฯ กองทัพแบบไหน? ไม่ “หนักกบาลชาวบ้าน” พบกับพริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม) ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่งสมัครใจเป็นทหารเกณฑ์ และมีโมเดลนำเสนออยากปฏิรูปกองทัพ, ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง (หมวดเจี๊ยบ) รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่มีบทบาทและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง และมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ผู้ที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนเรื่องจะตบนักการเมืองที่มาแตะเรื่องกองทัพ

ครั้งนี้ดำเนินรายการโดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่มาถามตรงจุด ขยี้ตรงประเด็นว่าสุดท้ายแล้วกองทัพเราต้องปฏิรูปอย่างไร เอายังไงกับการเกณฑ์ทหาร ขนาดกองทัพ การซื้ออาวุธ

ซึ่งมงคลกิตติ์ประกาศลั่นกลางรายการไว้ว่าจะไม่ตบแล้ว แต่จะขยี้ให้แหลกหากใครทำให้กองทัพเสื่อมถอยและนักการเมืองไหนที่ทำให้เกิดช่องว่างมีภัยคุกคามจากต่างชาติ จะทำยิ่งกว่าตบ เพราะตัวเองยอมรับว่าอินเรื่องประวัติศาสตร์การเสียกรุงที่มีไส้ศึก!

ส่วนคนอื่นว่าอย่างไร สามารถรับชมรายการได้ที่