วิกฤติศตวรรษที่21 | สงครามการเงินจีน-สหรัฐ: พื้นฐานของปัญหา

วิกฤติประชาธิปไตย (44)

สงครามการเงินจีน-สหรัฐ: พื้นฐานของปัญหา

สงครามการเงินจีน-สหรัฐมีพื้นฐานจากการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอและวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นระยะในโครงสร้างของระบบทุนนิยม ซึ่งปรากฏชัดหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ทำให้ทั้งโลกอยู่ในโครงครอบของทุนนิยม มีสหรัฐวางตัวเป็นผู้จัดการระเบียบโลกใหม่ สร้างกลุ่ม 7 ที่สหรัฐเป็นแกนของประเทศพัฒนาแล้ว (การประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ปี 1996 มีการเชิญองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และองค์การการค้าโลกเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก) ที่เหลือเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเงินต่ำกว่า

ความสัมพันธ์ระหว่างสองกลุ่มเป็นไปในทำนองนี้ว่า สหรัฐ-ตะวันตกถือตนเป็นแบบอย่างการพัฒนาสำหรับประเทศทั่วโลกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษในระดับต่างๆ เช่น การแซงก์ชั่น การก่อรัฐประหาร การเปลี่ยนระบอบ การทำสงครามรุกราน การก่อสงครามกลางเมือง

ซึ่งสหรัฐ-ตะวันตกจำต้องปฏิบัติหนักขึ้น เพราะประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาทั้งหลาย ต้องการแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง

ประเทศที่ถูกลงโทษเหล่านั้น ถ้าไม่ตายก็เหี่ยวเฉาไม่เติบโต จนเป็นพลังขึ้นมาคุกคามได้

แต่มีข้อยกเว้นอยู่สองประเทศที่เป็นประเทศใหญ่ ได้แก่ จีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และรัสเซียที่มีดินแดนใหญ่ที่สุด อยู่ในดินแดนใจกลาง ยากที่สหรัฐจะใช้กำลังโจมตียึดได้

ที่สำคัญได้แก่จีนซึ่งได้ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองรองจากสหรัฐ เมื่อคิดเป็นตัวเงินดอลลาร์สหรัฐ

(แต่ถ้าหากคิดเป็นค่าเสมอภาคอำนาจการซื้อ ขนาดเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดแซงหน้าสหรัฐมาหลายปีแล้ว)

ในปี 2018 ประมาณรายได้ต่อหัวของจีนใกล้ 10,000 ดอลลาร์ (9,633 ดอลลาร์) ประเมินกันว่าถ้าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ระดับนี้ จีนก็จะก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงในราวปี 2023

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 200 ปีมา

ในด้านวิกฤติ นับแต่ทศวรรษ 1990 เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น เมื่อวิกฤติ 2008 ไม่ยอมจากไปง่ายๆ

สถานการณ์ก็เปลี่ยนจากการร่วมมือระดับหนึ่งสู่สภาพต่างคนต่างเอาตัวรอด

ความพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ (กว่า) ที่เป็นแบบพหุภาคีหรือหลายขั้วอำนาจ โดยแกนจีน-รัสเซียได้ก่อรูปแข็งแกร่งขึ้น ประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป เป็นต้น ต่างก็พากันระส่ำสาย เพราะต้องการค้าขายกับจีนที่กลายเป็นตลาดใหญ่ของโลก

ประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนายิ่งมีกำลังใจ เหมือนมีกำแพงไว้พักพิงในการพัฒนาตามแนวทางของตนที่เป็นอิสระขึ้นจากสหรัฐ-ตะวันตก

รวมความแล้วก็คือ ระเบียบโลกที่สร้างและกำกับโดยสหรัฐได้อ่อนแอเปราะบาง เข้าสู่ภาวะสลายตัวลง

ปฏิบัติการและการคาดหวังของสหรัฐ

สหรัฐมองสถานการณ์น่าวิตกนี้ในอีกแบบหนึ่ง

นั่นคือ แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาทางโครงสร้างในระบบทุน และที่สำคัญเกิดจากนโยบายการเงิน-การทหารที่ไม่ถูกต้องของตน

ในทางการเงินเริ่มผิดพลาดมาตั้งแต่สมัยอลัน กรีน สแปน เป็นผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (ปี 1987-2006) ที่สร้างฟองสบู่ทางเศรษฐกิจหลายลูกต่อเนื่องกัน

ในทางการทหาร เดินนโยบายอนุรักษนิยมใหม่ก่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ล้างผลาญทั้งสหรัฐและประเทศที่เกี่ยวข้อง กลับใช้วิธีการกล่าวโทษไปทั้งโลก ตั้งแต่พันธมิตรแอตแลนติกว่าคอยผลักดันให้สหรัฐออกหน้าปฏิบัติการโน่นนี่ โดยตัวเองคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ หรือซ้ำเติมสหรัฐเมื่อเกิดความผิดพลาด ไม่ยอมรับผิดชอบในเรื่องของค่าใช้จ่าย เป็นต้น

โจมตีจีนว่าคอยเอาเปรียบโดยใช้เล่ห์กลต่างๆ เพื่อก้าวมาแทนที่

โจมตีสัญญาข้อตกลงต่างๆ ที่ทำกับนานาประเทศว่า เป็นสัญญาที่แย่มาก ทำให้สหรัฐถูกผูกมัดเสียเปรียบ ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งสหรัฐก็ได้เลิกสัญญาเดิมที่สำคัญไปจำนวนไม่น้อย

สรุปปฏิบัติการของสหรัฐมีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน

ด้านหนึ่งคือ การเลิกระเบียบโลกเดิมที่ตนก่อตั้งขึ้น และคิดว่าได้เปรียบแล้วแต่ยังได้เปรียบไม่พอ เพราะยังมีประเทศอื่นมีจีน-รัสเซียเป็นต้นมาท้าทายได้ การทำลายระเบียบโลกเดิม ทำให้สหรัฐไม่ถูก “สวมกุญแจมือ” ด้วยข้อตกลง กฎระเบียบขององค์การระหว่างประเทศ ไปจนถึงกฎหมายระหว่างประเทศ

ในการปฏิบัติเช่นนี้ สหรัฐมีความคาดหวังว่า เมื่อระเบียบโลกเดิมถูกทำลายไป แต่ด้วยอำนาจแห่งชาติที่เหนือกว่าใคร

ในที่สุดชาติพันธมิตรที่หัวแข็งอย่างเช่นฝรั่งเศสและเยอรมนีก็จำต้องหันมาร่วมในกลุ่ม 7 อย่างเดิม พร้อมกับมีการจัดลำดับชั้นให้ชัดว่าใครเป็นศูนย์กลาง ใครเป็นบริวาร

อีกด้านหนึ่ง เปลี่ยนคู่ปรปักษ์ใหม่จากลัทธิก่อการร้ายสากล เป็นแกนจีน-รัสเซีย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนการสงครามใหม่มาใช้อาวุธหนักอย่างนิวเคลียร์

การมีจีน-รัสเซียเป็นคู่ปรปักษ์ ยังช่วยกำราบการตีสองหน้าของประเทศทั้งหลายว่าจะเลือกสหรัฐหรือจีน-รัสเซีย

ขณะที่การให้เลือกระหว่างกลุ่มก่อการร้ายและสหรัฐ ทำได้ง่ายกว่ามาก ชาติทั้งหลายเลือกต่อสู้กลุ่มก่อการรายโดยไม่ลังเล

การยกจีน-รัสเซียขึ้นเป็นคู่ปรปักษ์ยังมีผลดีต่อการเมืองในประเทศอยู่บ้าง เช่น การสร้างยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเอกภาพขึ้นสำหรับชนชั้นนำสหรัฐ และรักษาการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารต่างแดนในหมู่ชาวอเมริกันได้ต่อไป

แต่การถือจีน-รัสเซียเป็นคู่ปรปักษ์ ก็มีความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ การทำให้จีนและรัสเซียที่มีช่องว่างทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา อุดมการณ์และความหวาดระแวงกัน จำต้องผูกพันแน่นแฟ้นขึ้นในด้านต่างๆ จนยากมากที่สหรัฐจะมีชัยชนะได้

ความเสี่ยงสูงในประการต่อมาก็คือชัยชนะและความพ่ายแพ้มีลักษณะชี้เป็นชี้ตายต่างกับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสงครามที่สหรัฐเลือกทำเอง ไม่กระทบต่อความเป็นความตายของประเทศ

แต่ถ้าสหรัฐแพ้ในการต่อสู้กับจีน-รัสเซียแล้ว ก็จะสูญเสียฐานะเป็นผู้นำโลกอย่างเด็ดขาด

เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงนี้ สหรัฐคงไม่ละเว้นความพยายามไปง่ายๆ และยิ่งเพิ่มความพยายาม ก็มักต้องเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีก

รูปแบบและขั้นตอนปฏิบัติการของฝ่ายจีน

ในกระบวนการปฏิรูป สร้างความทันสมัยและความเจริญรุ่งเรือง และลดทอนผลกระทบจากวิกฤติระบบทุน ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ

จีนได้สร้างรูปแบบและขั้นตอนการปฏิบัติที่ง่ายๆ สรุปได้ดังนี้ว่า

อะไรที่สหรัฐมีและถือว่าดีและสำคัญ จีนก็จะทำให้มีขึ้นบ้างโดยมี 3 ขั้นตอน

ขั้นแรก เป็นขั้นเสริมหรือทดแทนไม่ขึ้นมาแข่งขันโดยตรงกับสหรัฐ เรียกได้ว่าเป็นขั้นหมอบต่ำตามคำชี้แนะของเติ้งเสี่ยวผิง

ขั้นที่สอง เป็นขั้นคู่ขนาน นั่นคือขึ้นมาคู่เคียงกับสหรัฐ การพัฒนาโดยทั่วไปของจีนขณะนี้อยู่ในขั้นดังกล่าว ตามที่สีจิ้นผิงกล่าวว่า จีนใหญ่เกินไปกว่าที่จะซ่อนตัว

ขั้นที่สาม เป็นการแข่งในอนาคต ได้แก่ การแซงขึ้นหน้าและเหนือกว่า รูปแบบและขั้นตอนการปฏิบัตินี้ใช้ทั่วไปทุกด้านทั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร สังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงแฟชั่น

รูปแบบการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การทดลองปฏิบัติ หรือมีโครงการนำร่อง เพื่อค้นหาว่าปฏิบัติจริงในวงกว้างได้หรือไม่ และมีจุดอ่อนจุดแข็ง ข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง โครงการทดลองแรกได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เซินเจิ้น (1980) เมื่อได้ผลแล้วจึงขยายไปพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ทั้งยัง “ส่งออก” ไปปฏิบัติในอีกหลายประเทศ

รูปแบบการปฏิบัติที่ควรกล่าวถึงท้ายสุดได้แก่ การสร้างโครงการใหญ่และย่อยซ้อนเหลื่อมกันจำนวนมาก บางทีเห็นง่ายว่าเกี่ยวเนื่องกันเช่นยุทธศาสตร์ “ทำในจีน 2025” กับ “เส้นทางสายไหมดิจิตอล”

บางอย่างต้องพิจารณาจึงเห็น เช่น การทำให้เงินหยวนเป็นสากล กับ “โครงการแถบและทาง” จีนนิยมสร้างแนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ โครงการ มาตรการต่างๆ เป็นชุดขึ้น ทั้งหมดสอดประสานกันทำงานเหมือนเครื่องจักรตัวเดียว

นี่เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของจีน ตกทอดมาในประวัติศาสตร์ และการนำแบบรวมศูนย์ในปัจจุบัน

ซึ่งในระยะหลังจีนได้นำมาประกาศอยู่เนืองๆ ว่าเป็นความเหนือกว่าของระบบตน

ปฏิบัติการท้าทายการครองเป็นใหญ่ดอลลาร์สหรัฐของจีน

จีนเริ่มปฏิบัติการท้าทายการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐจริงจังหลังจากที่ได้เข้าเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (ปลายปี 2001)

เป็นการยืนยันฐานะบทบาทของจีนทางสากลในด้านการค้า การเงินและการลงทุน โดยในปี 2003 เปิดให้ธนาคารจีน-ฮ่องกง เป็นผู้หักบัญชีและชำระหนี้ในรูปเงินหยวนได้

เงินหยวนของจีนที่เคยมีลักษณะเป็นท้องถิ่น ได้มีฐานะเป็นสากลขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในวงที่จำกัดมาก และในปี 2005 จีนประกาศนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่ยืดหยุ่นโดยอิงมูลค่าของเงินหลักหลายสกุล ไม่อิงดอลลาร์สหรัฐอย่างเดียวเหมือนเดิม ทำให้เงินหยวนมีค่าสูงขึ้นบ้างและเป็นสากลมากขึ้นอีก

การที่จีนมีปฏิบัติการท้าทายสหรัฐดังกล่าวเนื่องจากเหตุปัจจัยใหญ่สองประการ คือ

(ก) การค้า การลงทุนของจีนได้ขยายตัวขึ้นมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศก็เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 165.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2000 เป็น 2.4 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2009 คิดเป็นร้อยละ 31.4 ของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของโลก (ปัจจุบัน ปี 2018 ทุนสำรองจีนอยู่ที่กว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจากที่เคยสูงสุดในปี 2014 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2009 จีนได้แซงหน้าเยอรมนีในฐานะเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก

(ข) โครงสร้างการเงินโลกที่ตั้งอยู่บนฐานการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐมีความไม่มั่นคงมาก และไม่ยั่งยืน การครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์เกิดขึ้นในปี 1971 เมื่ออดีตประธานาธิบดีนิกสันประกาศเลิกผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ สามารถพิมพ์ธนบัตรได้ตามความต้องการใช้ของรัฐบาล ประเทศอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติยังต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะว่าสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่เกือบทุกชนิดทั้งแร่ธาตุ อาหาร

และที่สำคัญยิ่งคือน้ำมัน ค้าขายในสกุลเงินดอลลาร์ ตลาดหลักของโลกอยู่ที่สหรัฐและอังกฤษ ในประการต่อมาก็คือยังไม่มีสกุลเงินใดที่จะมาช่วยทดแทนเงินดอลลาร์ได้

เรื่องจึงเป็นว่าสหรัฐพิมพ์ธนบัตรของตนออกมาซื้อสินค้าและบริการจากทั้งโลก ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้า ต้องนำเงินดอลลาร์กลับไปลงทุนในสหรัฐในรูปแบบต่างๆ มีการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

แต่การครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์ก่อให้เกิดการบิดเบนทางโครงสร้างการเงินและระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ การเปิดให้มีการเก็งกำไรอย่างเต็มที่ และช่องว่างระหว่างรายได้จากทุนและแรงงานขยายตัว หนี้สินรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้นทุกที ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า จีนจะป้องกันตนเองให้พ้นจากผลกระทบนี้ได้ ก็ต้องทำลายการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐลงไป (ดูบทความของ Henry C. K. Liu ชื่อ China vs the almighty dollar ใน henryckl.ipower.com 23.07.2002)

สิ่งที่จีนต้องทำเป็นพื้นฐาน คือสร้างเงินหยวนให้เป็นสากล เพื่อใช้เป็นทุนสำรองและการค้าระหว่างประเทศ

แต่ก็ยังห่างไกลที่จะมาเคียงคู่กับสหรัฐ

โดยในขณะนี้การใช้เงินหยวนเพื่อการค้าระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 2

ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐมีถึงเกือบร้อยละ 40 แต่ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จสูง เมื่อคำนึงถึงว่าเพิ่งลงมือทำจริงจังเพียง 10 ปีเท่านั้น

ในกระบวนท้าทายการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ จีนมีการปฏิบัติสำคัญที่จะกล่าวในที่นี้มี 5 ประการ

ข้อแรก ได้แก่ การสร้างตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของตนขึ้นมา ทำให้ผู้ค้าชาวจีนสามารถทำการค้าในตอนกลางวัน ไม่ต้องรอตกค่ำเพื่อค้าในตลาดนิวยอร์กหรือชิคาโก

ข้อสอง ได้แก่ การทำข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยการสับค่าเงิน (currency swap) กับหลายสิบประเทศ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแนวโครงการแถบและทาง

ข้อสาม การสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ คือ “แถบและทาง” สำหรับจีนและประเทศที่เข้าร่วมโครงการและสนับสนุนการใช้เงินหยวนเป็นสากล นักวิชาการจีนบางคนกล่าวว่า โครงการนี้เป็นถนนกว้างไปสู่ยุคหลังสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย ที่เริ่มวิถีปฏิบัติสมัยใหม่และรัฐชาติขึ้น ในยุโรป โครงการแถบและทางเป็นการสร้างพื้นที่โลกาภิวัตน์ที่ใช้เงินหยวนเป็นฐานด้วยสกุลหนึ่ง

ข้อสี่ คือการจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์อย่างเหมาะสม ให้พ้นจาก “กับดักดอลลาร์” โดยทั่วไปลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ข้อสุดท้าย ได้แก่ การปฏิรูประบบการเงินจีนให้เปิดกว้างและมีความลึกขึ้น การต่อสู้ปัจจุบันอยู่ในข้อท้ายๆ ว่าจีนจะทำได้สำเร็จเพียงใด ท่ามกลางอันตรายใหญ่จากสงครามการค้าที่สหรัฐก่อขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเผชิญหน้าทางทหารจีน-สหรัฐ