คนของโลก : ‘จอห์น คีย์’ นายกรัฐมนตรีผู้หันหลังให้การเมือง

AFP PHOTO / GUILLERMO LEGARIA

จอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น แม้ว่าคีย์จะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้วก็ตาม

นั่นส่งผลให้ “อดีตเศรษฐีนายธนาคาร” ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ของนิวซีแลนด์ที่จะมีขึ้นในปี 2560 นี้

ทว่า เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา “คีย์” สร้างความตกตะลึงไปทั้งประเทศ ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน

เปิดทางให้พรรค “เนชั่นแนลปาร์ตี้” พรรคฝ่ายขวาของตน เลือกผู้นำคนใหม่ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

วันที่คีย์จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมทุ่มเททุกสิ่งให้กับงานนี้และประเทศที่ผมรัก” คีย์ระบุในแถลงการณ์ประกาศลาออก และว่า “ทั้งหมดนั่นมาพร้อมกับการเสียสละสำหรับกลุ่มคนที่เป็นดวงใจ ครอบครัวของผม”

คีย์เป็นลูกชายของหญิงม่ายผู้อพยพชาวยิวผู้ยากจน ถูกเลี้ยงดูมาในบ้านเอื้ออาทรของรัฐ ผ่านชีวิตลำบากจนสามารถจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี่ ด้านการพาณิชย์ เข้าทำงานในตลาดซื้อขายเงินตราต่างชาติ อาชีพซึ่งนำ “คีย์” ไปสู่การเป็นผู้อำนวยการด้านการซื้อขายเงินตราต่างชาติทั่วโลก ที่บริษัท “เมอร์ริล ลินช์” บริษัทด้านการบริหารการลงทุน ของธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา ของสหรัฐ

คีย์เคยระบุไว้ว่าขณะที่ตนได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาเมื่อปี 2545 แม่ของเขามักจะสอนว่า “ไม่มีอะไรจะแทนที่การทำงานหนักและความมุ่งมั่นได้”

4 ปีหลังจากนั้น คีย์ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเนชั่นแนลปาร์ตี้ ก่อนที่ในปี 2551 คีย์จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป สิ้นสุดการครองอำนาจของพรรคแรงงานระยะเวลา 9 ปีภายใต้การนำของ เฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นลง

คีย์แสดงให้เห็นศักยภาพอย่างรวดเร็วว่า ภายใต้บุคลิกสุภาพนุ่มนวล ภายในคือนักการเมืองที่มีไหวพริบเฉียบแหลม เปลี่ยนแปลงนโยบายของพรรคเนชั่นแนลปาร์ตี้ จากที่เคยมุ่งเน้นไปที่สวัสดิการและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ไปสู่นโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจแบบปานกลาง

“สิ่งที่คีย์สามารถทำได้คือแสดงให้เห็นว่า หากคุณสามารถอธิบายได้ถึงเหตุผลของการปฏิรูปได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และสามารถโน้มน้าวใจได้ คุณก็จะสามารถมีชัยชนะ และคงระดับการสนับสนุนของประชาชนในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้” มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ระบุในวันเดียวกันกับที่คีย์ประกาศลาออก

และว่า “คีย์ได้ทำสิ่งพิเศษสำหรับประเทศนิวซีแลนด์แล้ว”

ความนิยมชมชอบของชาวนิวซีแลนด์ที่มีต่อนายกรัฐมนตรีผู้นี้ พุ่งขึ้นสูงสุดหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองไครสต์เชิร์ช เมื่อปี 2554 เหตุการณ์ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปถึง 185 ราย ด้วยการเป็นผู้นำที่สุขุม ช่วยประคับประคองประเทศที่อยู่ในภาวะสับสนมึนงงให้กลับมายืนขึ้นใหม่อีกครั้ง

คีย์ระบุไว้ว่า สำหรับตนแล้วบุคลิกเฉพาะตัวมีส่วนช่วยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากในนิวซีแลนด์ไปได้

“ผมมักจะมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ และวันใดที่สิ่งนี้เปลี่ยนไป วันนั้นคือวันที่ผมจะต้องออกจากตำแหน่ง” คีย์ระบุ

ความนิยมของคีย์ ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้เลยแม้ในเวลาที่ “ก้าวพลาด” อย่างความล้มเหลวของคีย์ในการเปลี่ยนธงชาติจากเดิมที่เป็นธง “ยูเนียนแจ๊ก” ของอังกฤษ เป็นธงของนิวซีแลนด์เอง และข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพียงพอ

ความนิยมที่พุ่งสูง สร้างความท้อแท้ให้กับคู่แข่งทางการเมือง ในจำนวนนั้นรวมไปถึง “คิม ดอทคอม” เจ้าของเว็บไซต์เมกาอัพโหลด ผู้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นเมื่อปี 2014 เพื่อโค่นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคีย์ เหตุเพราะคีย์เป็นผู้ที่ทำให้ “คิม” เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีผู้นี้จะยังได้รับความนิยมอยู่แม้จะถูกถ่ายภาพว่าใช้ปืนลูกซองยิงลูกแมวในสวนของตัวเอง” คิม ทวีต หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดให้กับคีย์

แอนดรูว์ ลิตเติล หัวหน้าพรรคแรงงาน ระบุว่าตนเตรียมที่จะลงแข่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ และพูดถึงการลาออกของนายคีย์ด้วยว่าตนเข้าใจเหตุผลของคีย์ดี

“การเมืองต้องการการเสียสละอย่างมาก พวกเราทั้งหมดอาจเป็นนักการเมือง แต่การเมืองไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิตของเรา” ลิตเติล ระบุ