ในประเทศ / คบ ซ้อน ซ่อน ‘สาม’

ในประเทศ

คบ ซ้อน

ซ่อน ‘สาม’

 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่มีภาพชายเจ้าชู้

จนเกิดกรณี “คบซ้อน” อย่างนักร้องดัง “ป๊อป” จนร้อนฉ่าโลกโซเชียลก็ตาม

แต่ภาวะที่ “ตัดขาด” ในสิ่งที่มีไม่ได้

ต้อง “คบซ้อน” หรือ “ทับซ้อน” ไว้ ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตกอยู่ในภาวะร้อนฉ่าเหมือนกัน

อย่างที่ทราบกัน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในภาวะคบซ้อนถึง “3 คบซ้อน”

1) การดำรงตำแหน่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

2) นายกรัฐมนตรี

3) ผู้ได้รับการเสนอเชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี  ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ในนามพรรคพลังประชารัฐ

มีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งที่ 1 และที่ 2

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขานรับ

ยัง “คบซ้อน” ทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยอ้างว่ากระทำได้ไม่ผิดกฎหมาย

จึงทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

ย้อนแย้ง เพราะด้านหนึ่ง ทั้ง 3 ตำแหน่ง ถือเป็นจุดแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์

ที่สามารถใช้กฎหมาย ใช้การบังคับบัญชา ใช้ความได้เปรียบทางการเมือง ผ่าน 3 ตำแหน่งนั้น เบิกทางสู่การกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

แต่อีกด้านหนึ่ง ทั้ง 3 ตำแหน่ง ก็กลายเป็น “จุดอ่อน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกโจมตีจากพรรคการเมืองคู่แข่ง ว่าเอาเปรียบ และไม่เป็นธรรมต่อคนอื่น

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากนัก

ขณะเดียวกัน ยังถูกจุดแข็งนั้นย้อนกลับมากระแทกใส่ด้วย

อย่างกรณีสวมหมวกหัวหน้า คสช.นั้น แม้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถใช้อำนาจพิเศษ อย่าง ม.44 ได้กระทั่งจนมีรัฐบาลใหม่

หรือสามารถดึงเอากองทัพมาเป็น “ฐาน” กำลังได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ

ซึ่งในประเด็นหลังนี้ ทำให้กองทัพกลายเป็นตำบลกระสุนตก

และเป็นเป้าหมายที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ทั้งกำลังพล และกรณีรื้อระบบเกณฑ์ทหาร

กรณีงบประมาณที่ถูกวิจารณ์ว่าได้และใช้งบประมาณมากเกินไป นำไปซื้ออาวุธที่ไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน

และรวมถึงการเรียกร้องให้ทหารกลับเข้าสู่กรมกองด้วย

ภาวะดังกล่าว บานปลายกลายเป็นวิวาทะระหว่างผู้นำกองทัพกับนักการเมือง โดยเฉพาะกรณี “หนักแผ่นดิน”

จนทำให้เกิดการหวาดวิตกว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประเทศก็จะยิ่งดำดิ่งลงสู่ก้นเหวที่ลึกกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้

 

อีกประเด็นร้อนหนึ่ง ในการยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ต่อไปของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การที่มีกลุ่มบุคคล เช่น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ

เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง

ให้พิจารณาและวินิจฉัยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้อำนาจการปกครองมาจากการปฏิวัติ เป็นบุคคลที่มีที่มาโดยมิชอบ ยึดอำนาจมาบริหารประเทศต่อ

ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ การประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รับเงินเดือนและยังมีตำแหน่งกรรมการบริหารในหลายองค์กร ซึ่งมีค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายของรัฐบาล

ออกมาปฏิเสธว่า หัวหน้า คสช.ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนิยามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ

เพราะผู้ที่รับเงินเดือนของรัฐไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตราดังกล่าว

และ ป.ป.ช.เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2557 ว่า คสช.ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเนื่องจากไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสถานะเป็นองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ

ความเห็นดังกล่าว ถูกตอบโต้จากคนพรรคการเมืองหลายคน

เช่น นายวัฒนา เมืองสุข ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตบางแค

โดยโพสต์ข้อความทางเฟซ แสดงความเห็นเรื่องสถานะของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยระบุว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” เป็นลักษณะต้องห้ามทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถลงรับสมัครเป็นผู้แทนราษฎร หรือดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่อาจถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 98(15), 159 และ 160 ของรัฐธรรมนูญ

การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก่อให้เกิดอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย

การเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจเกิดขึ้นโดยตำแหน่ง หรือโดยการแต่งตั้ง เช่น กรรมการในรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ส่วนการได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะบอร์ดบางองค์กรไม่มีเงินเดือน มีเพียงเบี้ยประชุมหรืออาจไม่มีเบี้ยประชุมก็ได้

ส่วนจะเป็นองค์กรถาวรหรือชั่วคราวก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะองค์กรที่เกิดขึ้นตามคำสั่งของคณะรัฐประหารที่เรียกว่าแม่น้ำห้าสาย เช่น สนช. สปช. หรือ กรธ. ก็ล้วนเป็นองค์กรชั่วคราวทั้งหมด

นอกจากนี้ การที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะข้าราชการในระดับที่ต่ำกว่าซี 8 ก็ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เช่นกัน

ความสำคัญของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐคือบุคคลนั้นสามารถใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าในรูปการออกกฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย ผูกพันให้รัฐและบุคคลในรัฐต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้น กฎหมายจึงควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบ

หากใช้อำนาจโดยมิชอบจะต้องถูกดำเนินคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรืออาจถูกศาลยกเลิก เพิกถอนคำสั่งได้

คำถามสำคัญที่ต้องตอบคือ หาก พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์เอาอำนาจอะไรมาออกคำสั่งให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม

เช่น อำนาจตามมาตรา 44 ที่ให้อำนาจเฉพาะหัวหน้า คสช.

พล.อ.ประยุทธ์เอาอำนาจอะไรมาแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ เพราะอำนาจเหล่านั้นเป็นอำนาจรัฐทั้งสิ้นที่บุคคลธรรมดาไม่มีอำนาจกระทำได้

หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็แปลว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แม้จะเป็นไปโดยมิชอบก็อยู่เหนือกฎหมายและการตรวจสอบของศาลเช่นนั้นหรือ

“เอาประเทศกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้อง เลิกเป็นศรีธนญชัยกันได้แล้วมั้ง” นายวัฒนาระบุ

 

ประเด็นนี้จึงถือว่าแหลมคม จึงมีการจี้ กกต.รีบดำเนินการสอบสวน

อย่างนายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ระบุว่า การเสนอความเห็นทางกฎหมายที่บิดเบี้ยว ทำให้ประชาชนสับสน

คนที่เป็นวิญญูชนไม่พึงกระทำ เพราะทั้ง ป.ป.ช. ทั้งรองนายกฯ วิษณุ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยตัดสินสูงสุด

ซึ่งมีเพียงศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินสูงสุด และคำวินิจฉัยตัดสินนั้นจะผูกพันทุกองค์กรให้ปฏิบัติตาม

จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องเร่งรีบส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำวินิจฉัยพิพากษาโดยด่วน

นั่นคือประเด็นร้อนจากการสวมหมวก หน.คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์

 

ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น

คงพิจารณาร่วมไปกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในนามพรรค พปชร. ด้วยเพราะเกี่ยวเนื่องกัน

โดยหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ยืนกรานไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทำให้การหาเสียงให้ พปชร.มีข้อจำกัด เพราะถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นข้าราชการการเมือง จะต้องวางตัวเป็นกลาง

ส่งผลให้ พปชร.ขาดแม่เหล็กดึงดูดใจ

จึงมีเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคให้ “หาช่อง” เพื่อดึง พล.อ.ประยุทธ์ออกมาช่วยหาเสียง

จึงมีการทำหนังสือไปถึง กกต.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้ที่พรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะสามารถช่วยพรรคในการหาเสียงหรือขึ้นเวทีดีเบตได้หรือไม่

ซึ่ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.แจ้งว่าเป็นช่วงเวลาที่ กกต.กำลังจัดเวทีดีเบตของพรรคการเมืองด้วย ช่วงเวลาแบบนี้ไม่อยากให้พรรคการเมืองใดพลาดมาร่วมเวที

ดังนั้น กกต.จะพิจารณาจากกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มีหลายสถานะ

ระหว่างที่รอการชี้ขาดของ กกต.นี้เอง ได้นำไปสู่ปฏิกิริยาจากพรรคการเมืองต่างๆ

โดยส่วนใหญ่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีดีเบต ร่วมกับผู้ถูกเสนอชื่อของพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อจะได้วัด “กึ๋น” กันไปเลย

แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าไปจากที่ พปชร.ต้องการ เพราะเพียงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์มาช่วยหาเสียง

ส่วนการดีเบตนั้น อาจพลาดพลั้งได้ เพราะทั้งบุคลิก นิสัย ความเชี่ยวชาญ การควบคุมอารมณ์ อาจเสียเปรียบนักการเมือง

ตกเวทีได้ง่ายๆ

 

ยิ่งกว่านั้น นายวิษณุได้รีบออกมาเตือน

โดยชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต่างจากแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่นที่เป็นผู้สมัคร ตรงนั้นจะไม่มีปัญหา

แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้เป็นผู้สมัครอาจหมิ่นเหม่ โดยเฉพาะสวมหมวกข้าราชการอยู่

เพราะกฎหมายระบุให้ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง

“คำว่าเป็นกลางมีความหมายไม่ไปโน้มเอียงกับฝ่ายใด จึงยากนิดหนึ่งสำหรับคนที่เป็นนายกฯ ดีเบตได้เราก็อยากดู แล้วดีเบตอย่างไรให้เป็นกลาง ถ้าทำได้ก็โอเค ถ้าทำไม่ได้ก็เสี่ยง และถ้าไปพูดถึงนโยบายพรรคถือว่าเอนเอียง” นายวิษณุระบุ

คำเตือนดังกล่าว ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์จะฟัง

โดยบอกว่า “ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะไปดีเบต ไม่ใช่กลัวหรือไม่กลัว แต่ส่วนใหญ่เป็นการโจมตีกัน ไม่ค่อยมีสารัตถะ”

“ผมคงไม่ไปหรอกตอนนี้ ไม่ว่าใครจะมากระตุ้นอย่างไร ผมก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้กลัวด้วย ข้อสำคัญคือผมกำลังทำงานอยู่ จะเสียเวลาที่ผมจะต้องไปประดิดประดอยคำพูด”

“ถ้าอยากทราบวิสัยทัศน์ของผม ในฐานะถ้าผมจะเป็นนายกฯ ต่อไป วิสัยทัศน์ของผมมีอยู่แล้วคือ มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 วิสัยทัศน์ของผมมีเท่านี้” นายกฯ กล่าว

 

แจ่มชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะไม่ขึ้นสู่เวทีดีเบต

คงอาศัยความได้เปรียบเลียบค่ายไปเรื่อยๆ

ซึ่งก็ทำให้ พปชร.อยู่ในภาวะทัพที่ไร้ขุนศึกตัวจริง

สู้แบบครึ่งๆ กลางๆ โดยหวังว่า ภาวะ “คบซ้อนสาม”

จะสร้างผลบวกมากกว่าผลลบ

แต่กระนั้น ในภาวะแห่งการต่อสู้อันเชี่ยวกราก

สิ่งที่คาดหวังว่าจะเป็นจุดแข็ง รุก และชิงความได้เปรียบนั้น

  เอาเข้าจริงอาจจะกลายเป็นจุดอ่อน ที่คู่ต่อสู้ใช้เป็นช่องทางทะลวงเข้าใส่ได้