บทวิเคราะห์ | ‘วาทะบิ๊กแดง’ สาย ‘ล่อ’ ฟ้า (แต่ว่า) #ฟ้ารักพ่อ นะ

แม้จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนกัน

แต่สไตล์ระหว่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท กับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แตกต่างกันอย่างชัดเจน

พล.อ.เฉลิมชัย มีมาดสุขุม ใจเย็น หลีกเลี่ยงการปะทะ

ต่างจาก พล.อ.อภิรัชต์ ที่มีสไตล์ดุดัน ชนเป็นชน ไม่ประนีประนอม

จึงทำให้บรรยากาศระหว่าง “ทหาร” กับ “การเมือง” ของผู้บัญชาการทหารบก 2 ยุค ไม่เหมือนกันเลย

ยิ่งในห้วงปัจจุบัน ที่การเมืองเข้าสู่บรรยากาศได้เสียของการเลือกตั้ง

กองทัพแม้จะบอกว่าเป็น “กลาง”

แต่ในหลายกรณี หรือจะว่ากันจริงๆ ทุกครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์พูดเกี่ยวกับการเมือง

กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลา

จน พล.อ.อภิรัชต์ถูกเปรียบประหนึ่ง สายล่อฟ้า กำลังสูง

เพราะล่อ “ฟ้า” ให้เปรี้ยงปร้าง ตั้งแต่วันรับตำแหน่งเลยทีเดียว

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ภายหลังรับมอบตำแหน่ง

พล.อ.อภิรัชต์แถลงนโยบายต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ตอนหนึ่งบอกว่า “เราเป็นทหารอาชีพ ผ่านวิกฤตการเมืองและการทหารมาทุกสมัย เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาตั้งแต่สมัย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนมายืนเป็น ผบ.ทบ.”

“กองทัพไม่มีวันชนะประชาชน แต่ประชาชนที่ออกมาสร้างความเดือดร้อน ยั่วยุให้จุดไฟเผา มีการประกอบระเบิด นั่นคือประชาชนที่ทำให้ประเทศแพ้ ต้องใช้เวลากี่ปีมาฟื้นฟู”

“วันนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น อาจเห็นผลช้าไม่ทันใจ แต่เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ”

“ที่สื่อถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่ มั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุของการจลาจล ก็ไม่มีอะไร ประเทศไทยเคยมีปฏิวัติมา 10 กว่าครั้ง ช่วงหลังเกิดจากการเมืองทั้งสิ้น แต่เชื่อว่านักการเมืองที่ดีก็มี ไม่ดีก็มี…”

แม้โดยเนื้อหากว่า 90% ที่ พล.อ.อภิรัชต์พูดในวันนั้น จะอิงอยู่กับ “หลักการเป็นกลาง”

แต่เมื่อประเด็นมาถึงการปฏิวัติ

พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะไม่ทำ

แต่โยนให้เป็นเงื่อนไขของฝ่ายการเมืองว่าอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก

ทำให้ท่าทีดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่ ในแง่ผู้บัญชาการทหารบกไม่รับรองจะไม่มีการปฏิวัติ

ดูจะเป็นที่ผิดหวังของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอยู่มาก

และจากคำพูดดังกล่าว ทำให้มีนักกิจกรรมทางการเมือง 2 คน คือ นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไฟบูลย์รัชตะ ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าคำพูด พล.อ.อภิรัชต์ ที่ว่า “ถ้ามันไม่เกิดก็ไม่มีอะไร” เป็นคำพูดในลักษณะขู่เข็ญ ผิดกฎหมายอาญา ม.113 เป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ จึงประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนปากคำผู้กล่าวหา

แม้ในทางคดี จะไม่มีผลอะไรคืบหน้า

แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็มีภาพผู้นำกองทัพที่ไม่ปฏิเสธการปฏิวัติ

และยังมีทัศนคติไม่ดีต่อนักการเมือง ฐานทำให้เกิดความขัดแย้งในชาติด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 พล.อ.อภิรัชต์ คสช.และกองทัพ ถูกพาดพิงว่าอาจอยู่เบื้องหลัง หรือปฏิบัติการ I.O. แพร่คลิปสวาท “นักการเมือง-นักกิจกรรมทางการเมืองหญิง” ชื่อดัง

คราวนี้ พล.อ.อภิรัชต์ไม่ใช้วิธีการพูด แต่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านไลน์ว่า

  1. กองทัพบกมีความเป็นมืออาชีพ และไม่เคยใช้คน หรือเครื่องมือ นอกเหนืองานด้านความมั่นคง และผิดจรรยาบรรณโดยเด็ดขาด
  2. คำว่า I.O. หรือ Information Operation หรือการต่อต้านงานด้านการข่าว และการต่อต้านการข่าวกรองทางทหาร จะปฏิบัติต่อกลุ่มคนหรือองค์กรที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเท่านั้น
  3. กองทัพบกเข้าใจและเห็นใจต่อผู้เสียหายจากการใช้ Social Media ทุกคนและขอให้สังคมให้ความเป็นธรรม และใช้วิจารณญาณกับสิ่งที่เกิดขึ้น
  4. ปรากฏการณ์ใส่ร้ายป้ายสีก่อนการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ไม่ปกติของสังคมไทยมาทุกยุคสมัย
  5. กองทัพบกได้มีประสบการณ์ในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นมาทุกสมัย และทุกครั้งที่เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กองทัพบกมักจะถูกเป็นจำเลยของสังคม โดยที่กลุ่มเห็นต่าง มิได้มองถึงสาเหตุหรือต้นเหตุแห่งความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

โดยขอนำอมตวาจาของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา คณะปฏิวัติเป็นเพียงปลายเหตุ คนโกงต่างหาก คือต้นเหตุ”

 

เป็นการ “ตอกย้ำ” ทัศนคติในเชิงลบอีกครั้งต่อฝ่ายการเมืองของ พล.อ.อภิรัชต์  โดยเฉพาะการอ้างคำพูดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

และหลังจากนั้น มีวาทะร้อนแรงจากผู้บัญชาการทหารบก ต่อภาคการเมืองครั้ง

โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562

พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า

“ผมไม่เคยบอกว่ามีทัศนคติที่ไม่ดี ผมมีทัศนคติดี ต้องกลับไปถามว่าผมมีประสบการณ์อยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมมาหลายปี เพราะฉะนั้น ผมพอที่จะอ่านเกมออก เขาอยากจะพูดอะไรถือเป็นสิทธิ ผมคงไม่ไปโต้ตอบและจะทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงอย่างตรงไปตรงมา พร้อมปฏิบัติทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากทุกคนไม่ล้ำเส้นอยู่ในกรอบในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ว่ากัน”

คำว่า อย่าล้ำเส้น ที่ถูกเอ่ยออกมาจากผู้นำทางทหารของประเทศ

กลายเป็น สายล่อฟ้า อีกครั้งหนึ่ง

และทำให้เรา

ไม่ลืมว่า พล.อ. อภิรัชต์อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ศ.2553 ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ร.11 รอ. ซึ่งเป็นที่บัญชาการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

และเป็นผู้นำกำลังทหารปฏิบัติการยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคมเมื่อ 9 เมษายน 2553 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นผู้นำทหารกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ 28 คนบนดาดฟ้าของอาคารที่ทำการสถานี ปกป้องสถานี

พล.อ.อภิรัชต์จึงมีความในใจกับคนเสื้อแดงอยู่มาก

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บัญชาการทหารบกจะมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง

ผ่านมาอีกไม่กี่วัน

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พล.อ.อภิรัชต์ออกมาปฏิเสธถึงกระแสข่าวรัฐประหาร หลังมีกรณี “แผ่นดินไหวทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ 8 กุมภาพันธ์”

โดย พล.อ.อภิรัชต์บอกว่า ข่าวลือก็คือข่าวลือ มีคนพยายามสร้างสถานการณ์ให้คิดว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร พยายามหยิบประเด็นหลายอย่างมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งไม่จริง

จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกเป็นเหยื่อโซเชียลมีเดียที่พยายามบิดเบือนเชื่อมโยงสถานการณ์

“ยืนยันว่า กองทัพวางตัวเป็นกลาง จะยืนเคียงข้างประชาชนและที่เคยพูดไว้แล้วว่าอย่าล้ำเส้น ซึ่งคำนี้มีความหมายอยู่แล้ว ขอให้ทุกคนอยู่ในกติกาของตนเอง อย่าล้ำเล้น” พล.อ.อภิรัชต์ย้ำอีก

ถือเป็นการกล่าวเตือน อย่าล้ำเส้นติดๆ กัน

ท่ามกลางกระแสความพอใจของฝ่ายตรงข้ามที่อ้างถึงรายงานข่าวว่า ในการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์

พล.อ.อภิรัชต์ได้กล่าวในที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า ขอให้กำลังพลสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล อย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ได้เสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมาเสียของ ไม่ควรต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่

คำพูดดังกล่าว ถูกวิจารณ์กลับคืนว่าไม่เป็นการล้ำเส้นหรือ

วาทะของผู้บัญชาการทหารบกเป็นสายล่อฟ้าอีกครั้งหนึ่ง

และหลังจากนั้นสายล่อฟ้าก็เรียกเสียงเปรี้ยงปร้างตามติดมาอีก เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชูนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10% และเลิกการเกณฑ์ทหาร

ปรากฏว่า พล.อ.อภิรัชต์ก็ได้ไล่ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน”

อุณหภูมิการเมืองก็พุ่งขึ้นระดับขีดแดง

ด้วยเพลง “หนักแผ่นดิน” มีประวัติที่ถูกใช้ปลูกปั่นปลุกใจ ให้เข่นฆ่าและล้างทำลายพวกนิยมคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

การที่ พล.อ.อภิรัชต์หยิบประเด็นนี้มาพูด ได้สะท้อนถึงภาวะการแตกหัก เป็นศัตรูระหว่างกันของฝ่ายการเมืองกับกองทัพและรัฐบาล แล้วหรือ

ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.อภิรัชต์อย่างรุนแรง

ทำให้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งไปเป็นประธานประกอบพิธีปลูกหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่วัดวชิรธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา

ต้องออกมาขอพรให้บ้านเมืองปลอดภัย สงบสุข ประเทศชาติมั่นคงแข็งแรง

และแน่นอน ช่วยแก้แทน พล.อ.อภิรัชต์ กรณีเพลง “หนักแผ่นดิน” ว่า ผบ.ทบ.เขาไม่ได้ลงมาขัดแย้งด้วยหรอก

 

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอยู่นั้น

มีประชาชนกลุ่มหนึ่งพร้อมใจกันพูดว่า “รักพ่อนะคะ” 2-3 ครั้ง

เพื่อเป็นการแสดงความรักและสนับสนุนต่อ “พ่อ” คือ พล.อ.ประยุทธ์

เป็นการเลียนแบบกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่แทนตัวเองว่าเป็น “ฟ้า” รัก “พ่อ” อันเป็นสรรพนามใช้เรียกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

จนทำให้คำว่า “ฟ้ารักพ่อ” ซึ่งกลายเป็นกระแส #ฟ้ารักพ่อ โด่งดังในโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้เสียงหนุนนายธนาธรพุ่งขึ้นพรวดพราด

แต่เมื่อ “รักพ่อนะคะ” ย้ายข้างมาอยู่ที่ฟาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลยกลายเป็น “มุขอำ” กันขำๆ

คือ ขณะทื่ “พ่อ” พล.อ.ประยุทธ์ ปกป้อง พล.อ.อภิรัชต์ ที่เป็น “สายล่อ” ให้ “ฟ้า” เปรี้ยงปร้างขึ้นมานั้น

ฟ้ากลับไปเปรี้ยงปร้าง–เป็นฟ้ารักพ่อ อันหมายถึง นายธนาธร มากกว่า

มิได้เป็น พล.อ.ประยุทธ์ อย่างที่มีคนพยายามทำเลียนแบบ

ถือเป็นเรื่องขำ-ขำ ท่ามกลางความตึงเครียดแบบ “หนักแผ่นดิน”!!