ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อากรหวยสร้างชาติ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบปรับสูตรพิมพ์สลาก และจำหน่ายให้ผู้ค้าในระบบจอง-ซื้อ จำนวน 57 ล้านใบเสียใหม่ โดยปรับจากที่แต่เดิมจำหน่ายสลากแบบเลขเหมือนกันให้กับผู้ค้าคนละ 5 เล่ม มาเป็นแบบคละเลขในระบบ 2-2-1

ที่จะทำให้ผู้ค้าสามารถหาสลากมารวมเป็นชุดเดียวกันแล้วจำหน่ายได้ยากขึ้น

โดยทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาสลากรวมชุดจำนวนหลายใบขายเกินราคา และจะมีผลตั้งแต่งวดวันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป

หลายเสียงบ่นกระปอดกระแปดกันว่า ไม่รู้นี่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือเปล่านะครับ

เพราะถ้ายังมีความต้องการในการซื้อสลากรวมชุด ผู้ค้ารายใหญ่ก็คงจะสามารถหาเลขสวยๆ มารวมเป็นชุดขายได้อยู่ดี

แถมยังอาจจะขายกันในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ในเมื่อการรวบรวมสลากเลขเดียวกันเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ทางฝั่งของกองสลากฯ เองกลับมองในภาพที่ต่างกันออกไปว่า นี่อาจจะเป็นอวสานของผู้ถูกรางวัล 100 ล้าน

เพราะระบบการจำหน่ายแบบนี้เป็นการกระจายสลากให้มีการถูกรางวัลใหญ่กันได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพนันชนิดใดก็ตาม “เจ้ามือ” ต่างหากนะครับที่จะเป็นผู้ได้กำไรมากที่สุด ไม่ใช่ผู้เล่นคนอื่นๆ

และก็แน่นอนด้วยว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลที่เรียกแบบภาษาปากกันว่าหวย หรือล็อตเตอรี่ก็คือการพนันชนิดหนึ่งที่ถูกรับรองให้เล่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยมีรัฐนี่แหละที่เป็นเจ้ามือรายใหญ่

 

ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนังสือที่พวกพม่าสอบปากคำเจ้านายอยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยครั้งเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 ระบุรายได้ของกรุงศรีอยุธยาว่ามาจาก “อากรบ่อนเบี้ย” (คือเงินอากรที่รัฐจัดเก็บได้จากบ่อนการพนัน) เป็นตัวเลขกลมๆ ไว้ที่ปีละ 200,000 บาทถ้วน เท่ากันพอดีเป๊ะกับ “อากรสุรา” ที่อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อนจัดเก็บได้ในแต่ละปี

และก็ถือได้ว่า “ภาษีบาป” ทั้งสองประเภทนี้เป็นรายได้หลักของอยุธยาเลยทีเดียว เพราะจะมีเฉพาะก็แค่รายได้จากอากรสวน (คืออากรที่เรียกเก็บจากการถือครองไม้ยืนต้นที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ) และค่าปากเรือ (คือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าต่างชาติที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของสยาม) ที่เก็บได้ปีละ 240,000 บาทเท่ากันเท่านั้น ที่มีมูลค่าที่สูงกว่ารายได้จากอากรสุราและอากรบ่อนเบี้ย

บุคคลสำคัญของชาติ ระดับบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยได้ระบุเอาไว้ในพระนิพนธ์เรื่องหนึ่งของพระองค์คือ “ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17 เรื่องตำนานการเลิกบ่อนเบี้ยและเลิกหวย” (ก็ขนาดถูกรัฐยกขึ้นหิ้งให้เป็นพงศาวดารภาคหนึ่งเลยก็แล้วกัน ดังนั้น เรื่องการพนันกับการเล่นหวย จะทั้งสำคัญและทั้งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ชาติไทยแค่ไหน?) ว่ามีหลักฐานของ “บ่อน” ตั้งแต่ในกฎหมายลักษณะพยาน ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1894 สมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น และปรากฏหลักฐานของ “อากรบ่อนเบี้ย” ในพระธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงเช่นกัน แต่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.2167 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมเลยทีเดียว

ดังนั้น ถ้าจะไม่หลอกตัวเองกันแล้ว “บ่อน” และ “การพนัน” จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับรากเหง้าของ “ความเป็นไทย” มาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้วนะครับ แถมรัฐของเรายังรู้จักหารายได้จากอะไรเหล่านี้มาตั้งแต่เฉียดๆ 400 ปีเป็นอย่างน้อยโน่นเลย

 

แต่ “บ่อน” และ “การพนัน” ไม่ได้เป็นรายได้หลักเฉพาะในสมัยอยุธยาเท่านั้น สถานการณ์ในทำนองเดียวกันยังคงดำเนินต่อมาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ

ดังปรากฏในข้อมูลจากจอห์น ครอว์เฟิร์ด ที่เข้ามายังสยามเมื่อ พ.ศ.2364 และได้บันทึกเรื่องรายได้จากอากรของรัฐสยาม ณ ช่วงขณะจิตนั้นเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า สยามเก็บอากรบ่อนเบี้ยได้ถึงปีละ 460,000 บาทเลยทีเดียวนะครับ มากกว่าข้อมูลในคำให้การชาวกรุงเก่าเท่าตัวกว่าๆ เลยแหละ

ที่สำคัญก็คือ ถ้าเชื่อนายครอว์เฟิร์ดแล้ว อากรบ่อนเบี้ยก็ยังคงเป็นรายได้หลักของรัฐสยาม โดยมีอากรสุราตีคู่มาในมูลค่าที่เท่าเทียมกันพอดีอีกเช่นเคย

รายได้ทางอื่นที่ยังคงมีมูลค่ามากกว่าภาษีบาปทั้งสองประเภทนี้มีเพียงแค่อากรสวนที่เรียกเก็บได้ถึงปีละ 520,000 บาท และค่านา (คืออากรเรียกเก็บจากการเพาะปลูกทำนา) ซึ่งนายครอว์เฟิร์ดระบุตัวเลขไว้สูงอย่างไม่น่าเชื่อที่จำนวน 2,295,338 บาท

แต่อากรค่านาที่รัฐเรียกเก็บจากเจ้าของที่นานั้นส่วนใหญ่จะจ่ายกันเป็นข้าวเปลือก ที่เรียกเก็บเป็นจำนวน 10% ของผลผลิตที่ได้มากกว่าที่จะเป็นตัวเงินเพียวๆ ซึ่งมักจะเรียกเก็บเฉพาะจากเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการจัดการ อากรสุราจึงนับได้ว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของกรุงเทพฯ อยู่ดีนั่นแหละ

แน่นอนว่า “หวย” นั้นจัดว่าเป็นเพียงการพนันประเภทหนึ่งท่ามกลางการพนันอีกหลากหลายประเภทเท่านั้น

จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า ในจำนวนเงินอากรที่รัฐในสมัยอยุธยาและกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับนั้น มีเงินจากหวยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอากรบ่อนเบี้ย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในสมัยนั้นสยามยังไม่รู้จักการเล่นหวยเสียหน่อย (หรือต่อให้รู้จักแล้วก็ยังไม่มีการจัดเก็บอากร)

“อากร” ที่ได้รับจาก “หวย” เมื่อรัฐได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้ามือนั้น จึงเพิ่มเติมยอดเงินที่รัฐสยามสามารถจัดเก็บจากการพนัน จนเพิ่มขึ้นมาจากสมัยก่อนหน้าคืออยุธยา และต้นกรุงเทพฯ จนแซงรายได้ที่เคยสูสีอยู่กับอากรสุราไปในที่สุด

 

รัชกาลที่ 4 ทรงเคยพระราชนิพนธ์ถึงมูลเหตุของการตั้ง “อากรหวย” ในไทยเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2375 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 น้ำน้อย ข้าวแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง คนไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน ต้องทำงานแลกข้าว จึงกราบทูลว่าเจ้าภาษีนายอากรไม่มีเงินจะส่ง ต้องเอาสินค้ามาใช้เงินหลวง จีนผูกปี้ก็ไม่มีเงินจะให้ต้องเข้ามารับทำงานในกรุง จึงทรงสงสัยว่า คนเอาเงินไปซื้อฝิ่นมาเก็บไว้ขาย จึงโปรดให้จับฝิ่น เผาฝิ่น เป็นการใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยให้รัฐมีเงินมากขึ้นหรอกนะครับ

จีนหงพระศรีไชยบานจึงได้กราบทูลว่า เงินนั้นตกไปอยู่ที่ราษฎรเก็บฝังดินไว้มาก ไม่เอาออกมาใช้ ถ้าเป็นอย่างนี้ในเมืองจีนจะใช้วิธีตั้ง “โรงหวย” ขึ้น เพื่อจะให้คนนำเงินออกมาใช้ จึงได้โปรดให้จีนหงคนนี้ตั้งโรงหวยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (อย่างน้อยก็หมายถึงโรงหวยที่ถูกต้องตามกฎหมาย)

แต่หวยในสมัยนั้นไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับสลากกินแบ่งรัฐบาลในสมัยนี้เลยสักนิด จีนหงได้นำเอาการพนันแบบที่เล่นกันในจีนมาจริงๆ คือ ให้เลือกแทงตัวอักษรที่มีภาพประกอบ ถ้าใครสามารถแทงถูกต้องตรงกับตัวอักษรที่ถูกเลือกเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้วก็ถือว่าชนะพนัน ได้รับเงิน 30 เท่าจากจำนวนที่แทงลงไป โดยในระยะแรกใช้ตัวอักษรจีน แต่ต่อมาค่อยเปลี่ยนเป็นใช้ตัวอักษรไทยจำนวน 36 ตัวอักษรแทน จึงมักจะเรียกว่า “หวย ก.ข.”

ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารภาคที่ 17 เล่มเดิมระบุว่า เมื่อแรกตั้งโรงหวย ค่าอากรตกอยู่ราวปีละ 20,000 บาท แต่เมื่อกิจการโรงหวยของจีนหงเป็นไปด้วยดี แต่เดิมที่จีนหงเองมีเฉพาะหวยเช้าก็เปลี่ยนเป็นมีรอบละสองวันคือ หวยเช้า และหวยค่ำ (แต่ที่จริงหวยออกตอนเย็น) ซึ่งก็แน่นอนว่า หมายถึงจำนวนเงินอากรเข้ารัฐที่มากขึ้น แถมยังมีผู้ขอผูกอากรไปตั้งโรงหวยที่เพชรบุรีและอยุธยาอีกด้วย จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 สามารถเก็บเฉพาะค่าอากรหวยประเภทนี้ได้ถึงปีละ 200,000 บาท

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยนะครับที่แม้ว่ารัชกาลที่ 5 จะทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกอากรหวย แต่ก็ทรงไม่สามารถกระทำได้ตามพระทัย เพราะในรัชสมัยของพระองค์นั้น เงินที่ได้รับจากอากรหวยและอากรบ่อนเบี้ยรวมกัน เฉพาะปีที่ได้มากที่สุดนั้นรวมเป็นจำนวนเงินถึง 9,170,635 บาท ซึ่งนับได้ว่าเป็นจำนวนอภิมหาศาลในขณะนั้น

มีตัวเลขที่น่าสนใจอีกด้วยว่า เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงเลิกให้มีบ่อนและการเก็บอากรบ่อนเบี้ยใน พ.ศ.2457 แล้ว เฉพาะเงินจากอากรหวยเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าสูงถึงราวปีละ 6,600,000 บาท พูดง่ายๆ ว่าเงินอากรจากหวยในยุคนั้นมีมูลค่ามากกว่าเงินอากรบ่อนเบี้ย คือการพนันประเภทอื่นๆ เสียอีก

อากรหวย และการเล่นหวย ก.ข. ถูกยกเลิกไปใน พ.ศ.2459 ซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่า รายได้ที่ถูกนำมาทดแทนอากรหวยก็คือเงินรายได้จาก “ล็อตเตอรี่” หรือ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ซึ่งแม้จะถือกำเนิดขึ้นอย่างเต็มตัวในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร แต่ก็มีการออกสลากเป็นครั้งคราวอยู่บ้างมาก่อนแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ในวาระที่ต้องระดมทุนเพื่อการต่างๆ

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ต่อให้วิธีกระจายโอกาสได้รางวัลใหญ่ด้วยสูตรการจำหน่ายสลากกินแบ่งระบบใหม่นั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ค้าสามารถฉวยโอกาสขายในราคาที่สูงขึ้นก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะสุดท้ายเจ้ามือก็กินเรียบรับเต็มเหมือนเดิมอยู่ดีนั่นเอง