คนของโลก : “นิโกลัส มาดูโร” ผู้นำเผด็จการผู้สืบทอดอำนาจ

นิโกลัส มาดูโร ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในเดือนเมษายน ปี 2013 เป็นผู้นำที่มีทั้งคนรักและคนเกลียดมากเกือบเท่าๆ กับอดีตผู้นำเวเนซุเอลาอย่าง “ฮูโก ชาเวซ”

ชัดเจนว่า “มาดูโร” ไม่ได้มีบุคลิกที่มีเสน่ห์เหมือนกับอดีตผู้นำผู้ล่วงลับอย่างชาเวซ

แต่มาดูโรก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้องมรดกที่ชาเวซทิ้งเอาไว้อย่างแข็งขัน

ในช่วงครึ่งแรก มาดูโรปกครองเวเนซุเอลาท่ามกลางพรรคฝ่ายค้านที่ผงาดขึ้นมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มฝ่ายค้านซึ่งรวมตัวกันเป็นหนึ่งเพื่อโค่นล้มมาดูโรออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวล้มเหลว มาดูโรใช้เล่ห์อุบายในการสืบทอดอำนาจของตัวเองจนครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2019

 

นับตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง มาดูโรถูกกล่าวหาว่าปกครองโดยไม่สนใจหลักการประชาธิปไตย และยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง นำพาเวเนซุเอลาเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ยาและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น

ส่งผลให้เกิดภาวะอดอยากจนกลายเป็นปัญหาผู้อพยพจำนวนมากถึง 3 ล้านคน ที่ส่งผลกระทบกับภูมิภาคอเมริกาใต้ทั้งภูมิภาค

เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเวเนซุเอลาขึ้นหลายครั้ง ทว่าประชาชนกลับต้องบาดเจ็บล้มตายจากการปราบปรามอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ปี 2014 จนถูกนานาประเทศกล่าวประณามว่าเป็นการปกครองแบบ “เผด็จการทำลายล้าง”

จนถึงเวลานี้ แม้ความไม่พอใจจะเกิดขึ้นทั้งจากในและนอกประเทศ “มาดูโร” ผู้มีความสูง 190 เซนติเมตร ยังคงเป็นผู้นำที่บัญชาการประเทศเวเนซุเอลาต่อไป ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการบริหารประเทศที่ผิดพลาด รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

 

ในปี 2017 ความผิดหวังของประชาชนแปรเปลี่ยนเป็นผลคะแนนเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่บรรดาตัวแทนฝ่ายค้านได้เก้าอี้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ

“มาดูโร” ที่ผิดหวังกับผลการเลือกตั้งดังกล่าวแก้ปัญหาด้วยการตั้งคนสนิทและเครือญาติเข้าไปนั่งใน “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีอำนาจนิติบัญญัติสามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้โดยไม่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร และสามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ทุกเมื่อ

ประธานาธิบดีเวเนซุเอลามองวิธีการดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อการ “ปรองดองและสันติสุข” แต่ผู้เห็นต่างมองว่าเป็นความพยายามสืบทอดอย่างชัดเจน

ด้านสหภาพยุโรปและชาติละตินอเมริกาหลายชาติยืนยันชัดเจนว่าไม่รับรอง “สภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว” ขณะที่สหรัฐอเมริการประกาศคว่ำบาตรประธานาธิบดีมาดูโรทันที

เป้าหมายของสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวชัดเจนขึ้นเมื่อมาดูโรสั่งให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประกาศให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นพร้อมๆ กับการจับกุมคุมขังคู่แข่งคนสำคัญจนหมด

จนสุดท้ายมาดูโรได้ชัยชนะครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อีกครั้ง

ทว่าก็เกิดการต่อต้านจากนานาชาติ โดยกว่า 50 ประเทศประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว ที่ถูกมองว่าเป็นเพียงฉากละครปาหี่เท่านั้น

 

แต่นั่นไม่ได้ทำให้มาดูโรยอมถอยแต่อย่างใด เดินหน้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ตั้งขึ้นมาเอง

และยิ่งถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลกมากขึ้นไปอีกเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างฮวน ไกวโด ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีรักษาการต่อหน้าผู้เดินขบวนประท้วงประธานาธิบดีมาดูโร ในเดือนมกราคม 2019

ขณะที่อีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลกต่างประกาศรับรองฮวน ไกวโด เป็นประธาธิบดีเวเนซุเอลาอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่นั้นเวเนซุเอลาก็มีประธานาธิบดี 2 คน คนหนึ่งสนับสนุนโดยประชาคมโลกและประชาชน ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนโดยกองทัพเวเนซุเอลา

นิโกลัส มาดูโร อดีตคนขับรถบัส และอีกบทบาทในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานการค้า วัย 55 ปี ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการหลังจากฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ในปี 2013 โดยมาดูโรเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างปี 2006-2013 และดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีช่วงเวลาสั้นๆ ในยุคประธานาธิบดีชาเวซ

การบริหารประเทศที่ผิดพลาด บวกกับราคาน้ำมันตกต่ำส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เข้าสู่วิกฤต ทว่ามาดูโรยังคงยืนยันว่าวิกฤตดังกล่าวเป็นผลจากการบ่อนทำลายจากชนชั้นนำในประเทศ รวมถึงเป็นฝีมือของ “ลัทธิล่าอาณานิคม” โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

จากนี้ต่อไปหลายฝ่ายมองว่า “นิโกลัส มาดูโร” จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป ตราบใดที่กองทัพเวเนซุเอลายังให้การสนับสนุน หรืออาจร้ายกว่านั้นหากสมาชิกในกองทัพเลือกฟากแบ่งฝ่าย ก็อาจเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นก็เป็นได้