อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : อลังการแห่งเส้นสายและสีสัน (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เคียงข้างไปกับสหายสนิทและศิลปินชั้นนำแถวหน้าของโลกอย่าง แจสเปอร์ จอห์น (Jasper John) และ โรเบิร์ต ราวส์เชนเบิร์ก ไซ ทว์อมบลี ได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแทนคนสำคัญที่สุดของกลุ่มศิลปินเจเนอเรชั่นที่ก้าวย่างออกมาจากกระแสอันเชี่ยวกรากของศิลปะแอ๊บสแตร็ก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ในวงการศิลปะอเมริกันช่วงหลังสงคราม และกลายเป็นหนึ่งในจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัยอย่างไร้ข้อกังขา

แถลงการณ์เพียงชิ้นเดียวที่เขาเคยเขียนถึงงานศิลปะของเขาในนิตยสาร Itatlain Art Journal ในปี 1957 กล่าวเอาไว้ว่า สิ่งที่เขาทำไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ

ในแต่ละเส้นที่เขาวาดมันคือการถ่ายทอดประสบการณ์โดยฉับพลัน มันไม่ใช่การแต่งเติมด้วยสีสัน หากแต่มันเป็นความรู้สึกของการมีชีวิตอยู่

“เวลาที่ผมวาดภาพ มันไม่เหมือนการวาดภาพ หากแต่เป็นการใช้ชีวิต”

cold-stream-rome-1966-oil-based-house-paint-and-wax-crayon-on-canvas

ในปี 1957 ไซ ทว์อมบลี ตกหลุมรักประเทศอิตาลีและตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นการถาวร

และอีกสองปีต่อมาเขาสมรสกับ ทาเทียนา ฟรานเก็ตติ ศิลปินหญิงชาวอิตาเลียน และมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน

และที่นั่นภาพวาดของเขาจากที่เคยเป็นสีเทาๆ ขาวดำทึมๆ กลับกลายเป็นมีสีสันสดใสมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปีหลังๆ ที่เขาวาดภาพชุดดอกไม้ที่มีสีสันสดใสสวยงาม

และคลี่คลายความเป็นนามธรรมจนดูเข้าใจง่ายกว่าแต่เดิม

ผลงานของเขาส่งแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินในยุคนีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ดาวรุ่งรุ่นน้องชื่อก้องอย่าง ฌอง มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) เองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากสไตล์การวาดรูปที่ใช้ตัวอักษรหวัดๆ ยึกยือแบบที่คล้ายกับจิตรกรรมบนผนังห้องน้ำของเขาเช่นกัน

เขาได้รับเกียรติยศต่างๆ มากมาย อาทิ อิสริยาภรณ์ชั้นสูงของฝรั่งเศส มีผลงานสะสมและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก

the-rose-iv-2008-acrylic-on-plywood

ผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของเขาก็คือการวาดภาพเพดานห้องแสดงงานที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในฝรั่งเศส เขาวาดเพดานทั้งหมดเป็นสีฟ้าสด และมีรูปวงกลมเหมือนพระจันทร์เต็มดวงพร้อมกับตัวหนังสือชื่อของประติมากรกรีกโบราณชั้นครูในภาษากรีกประดับประดาอยู่

ภาพวาดชิ้นนี้กินพื้นที่ถึง 3,700 ตารางฟุต

งานแสดงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเขาถูกจัดแสดงที่แกลเลอรี่ Tate Modern ในปี 2008 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ส่วนการแสดงผลงานครั้งสุดท้ายในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่จัดขึ้นที่ แกลเลอรี่ Dulwich Picture ในเดือนมิถุนายนปี 2011 ที่กรุงลอนดอน ก่อนที่เขาจะลาลับจากฟากฟ้าศิลปะไปด้วยโรคมะเร็ง ณ กรุงโรม ในวันที่ 5 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน ด้วยวัย 83 ปี

เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานหลากหลายและแรงบันดาลใจอันประเมินค่ามิได้

ผลงานของเขาส่งอิทธิพลสู่ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลังไม่ใช่แค่เพียงแต่ในวงการศิลปะเท่านั้น

หากแต่รวมถึงวงการสร้างสรรค์อื่นๆ แม้แต่ในวงการภาพยนตร์เองก็ตาม

ใครสนใจก็ลองเข้าไปอ่านเกี่ยวกับแรงบันดาลในผลงานของ ไซ ทว์อมบลี ที่มีต่อภาพยนตร์ได้ที่นี่เลย https://goo.gl/2YRFgL