เกษียร เตชะพีระ | “ในนามของประชานิยมฝ่ายซ้าย”

เกษียร เตชะพีระ

หลังจากอ่านทรรศนะทางวิชาการเกี่ยวกับที่มา ที่ไป รวมทั้งที่เห็นและเป็นอยู่ของ “ประชานิยม” ในโลกตะวันตกจากคาส มูด์เด ในคอลัมน์นี้สองตอนก่อนแล้ว ผมคิดว่าก็ควรที่จะฟังเสียงจากมุมมอง “ประชานิยมฝ่ายซ้าย” (left populism) บ้าง

ในสภาพที่ขบวนการและรัฐบาลประชานิยมในโลกปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นฝ่ายขวา เช่น สหรัฐอเมริกาและอิตาลี อีกทั้งขบวนการประชานิยมฝ่ายซ้ายที่ผ่านมานอกจากค่อนข้างน้อยกว่าแล้ว ก็มักสร้างผลงานที่ต่ำระดับหรือผิดความคาดหวังของประชาชนบ่อยครั้ง เช่น รัฐบาลชาเวซและมาดูโรในเวเนซุเอลา รัฐบาลพรรคซีริซาในกรีซ เป็นต้น

ชองตาล มูฟ (เกิด ค.ศ.1943) ชาวเบลเยียม และคู่ชีวิตผู้ล่วงลับ เออร์เนสโต ลาคลาว (ค.ศ.1935-2014) ชาวอาร์เจนตินา เป็นสองนักทฤษฎีการเมืองที่ได้คิดค้นเขียนเกี่ยวกับประชานิยมมายาวนานร่วม 40 ปี มีผลงานเด่นๆ ปรากฏ เช่น Politics and Ideology in Marxist Theory : Capitalism, Fascism, Populism (ลาคลาว, ค.ศ.1977), Hegemony and Socialist Strategy : Towards a Radical Democratic Politics (ร่วมกันเขียน, ค.ศ.1985), The Return of the Political (มูฟ, ค.ศ.1993), Populism and the Mirror of Democracy (บางบทความ, ค.ศ.2005) เป็นต้น

ล่าสุด ชองตาล มูฟ ซึ่งตอนนี้เป็นศาสตราจารย์ทฤษฎีการเมือง ณ มหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้ออกมาชูธงปกป้องประชานิยมฝ่ายซ้าย ทวนกระแสประชานิยมฝ่ายขวาที่บ่าท้นในยุโรป และโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ประชานิยมแบบเหมารวม ในหนังสือ For a Left Populism (ค.ศ.2018)

และได้เขียนความเรียงขนาดสั้นสรุปจุดยืนและทีทรรศน์ของเธอไว้เรื่อง “Demonising populism won”t work – Europe needs a progressive populist alternative” (การทำให้ประชานิยมเป็นปีศาจใช้การไม่ได้หรอก – ยุโรปต้องการทางเลือกประชานิยมที่ก้าวหน้าต่างหาก http://blogs.lse.ac.uk/europpblog/2018/09/13/demonising-populists-wont-work-europe-needs-a-progressive-populist-alternative/ ) ในบล๊อกของมหาวิทยาลัย London School of Economics สังกัดเครือมหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ 13 กันยายน ศกก่อน

ผมจึงใคร่ขอแปลเรียบเรียงความเรียงของเธอลงในคอลัมน์นี้

“ทุกวันนี้เรากำลังประสบกับ “จังหวะประชานิยม” ในยุโรป นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับระบอบประชาธิปไตยของพวกเราซึ่งอนาคตของมันจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับการสนองตอบต่อการท้าทายที่ว่านี้ เพื่อขบแก้สถานการณ์นี้ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องละทิ้งวิสัยทัศน์มักง่ายของสื่อมวลชนซึ่งนำเสนอประชานิยมว่ามันเป็นแค่การฉวยโอกาสทางการเมือง แล้วหันมาใช้มุมมองเชิงวิเคราะห์แทน”

“ดิฉันขอเสนอให้เอาอย่างเออร์เนสโต ลาคลาว ผู้นิยามประชานิยมว่าเป็นวิธีการเสกสร้างสภาวะการเมืองขึ้นโดยสถาปนาแนวพรมแดนทางการเมืองที่แบ่งสังคมออกเป็นสองค่าย โดยเรียกระดมขับเคลื่อน “ประชาชน” ให้ต่อต้าน “สถาบันสถาปนา” อย่างไรก็ตาม มันจำเป็นที่จะต้องตระหนักรับว่า “ประชาชน” กับ “สถาบันสถาปนา” นั้นหาใช่การแบ่งประเภทที่มีสารัตถะจริงแท้ไม่ พวกมันเป็นสิ่งสร้างทางวาทกรรมเสมอและอาจมีรูปแบบไปได้ต่างๆ นานา”

“นี่จึงเป็นเหตุที่ทำไมเราจำต้องจำแนกแยกแยะประชานิยมแบบต่างๆ ออกจากกัน

“หากตรวจสอบดูจากจุดยืนที่ว่านี้ เราก็พึงมองเห็นว่าการปรากฏขึ้นของการเมืองในรูปแบบประชานิยมต่างๆ ในยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้นั้นเป็นปฏิกิริยาต่อขั้นตอนหลังประชาธิปไตยในปัจจุบันของการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ภาวะหลังประชาธิปไตย (post-democracy) เป็นผลจากปรากฏการณ์หลายอย่างซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเงื่อนไขการดำเนินระบอบประชาธิปไตยในปีหลังๆ นี้”

“ปรากฏการณ์อย่างแรกก็คือสิ่งที่ดิฉันใคร่เสนอให้เรียกมันว่า “ภาวะหลังการเมือง” (post-politics) ซึ่งหมายถึงการทำให้แนวพรมแดนทางการเมืองระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายคลุมเครือรางเลือนไป มันเป็นผลผลิตจากฉันทามติที่สถาปนากันขึ้นระหว่างบรรดาพรรคขวากลางกับซ้ายกลางบนพื้นฐานความคิดที่ว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วนอกเหนือไปจากโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ภายใต้ประกาศิตของ “การทำให้ทันสมัย” พรรคสายกลางทั้งขวากับซ้ายเหล่านี้ยอมรับคำบงการของทุนนิยมการเงินโลกาภิวัตน์และข้อจำกัดที่มันยัดเยียดให้แก่การแทรกแซงของรัฐและนโยบายสาธารณะทั้งหลาย บทบาทของรัฐสภาและเหล่าสถาบันที่เปิดช่องให้พลเมืองส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายถูกลดทอนลงอย่างฮวบฮาบ แนวคิดที่เป็นตัวแทนหัวใจของอุดมคติประชาธิปไตย อันได้แก่อำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกเลิกทิ้งไป”

“ทุกวันนี้การพูดถึง “ประชาธิปไตย” หมายถึงแค่มีการเลือกตั้งและปกป้องสิทธิมนุษยชนเท่านั้นเอง”

การเปลี่ยนแปลง ณ ระดับการเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นภายในบริบทของการก่อตัวขึ้นมาใหม่ของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งมีบุคลิกเฉพาะตัวตรงมันเป็นรูปแบบการกำกับดูแลทุนนิยมแบบหนึ่งที่ทุนนิยมการเงินมีบทบาทใจกลาง

ผลลัพธ์ก็คือความเหลื่อมล้ำยิ่งเพิ่มพูนในอัตราเร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบไม่เพียงต่อชนชั้นคนงาน หากรวมถึงคนชั้นกลางส่วนใหญ่โตที่เข้าสู่กระบวนการตกทุกข์ได้ยากและชีวิตสุ่มเสี่ยงขึ้นตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจพูดได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ “คณาธิปัตยาภิวัตน์” (oligarchisation หมายถึงทำให้กลายเป็นคณาธิปไตย – ผู้แปล) ของสังคมต่างๆ ของเราอย่างแท้จริง

ในสภาพวิกฤตทางสังคมและการเมืองเหล่านั้น ขบวนการประชานิยมต่างๆ นานาก็ได้ผุดขึ้นมา แล้วปัดปฏิเสธทั้งภาวะหลังการเมืองและหลังประชาธิปไตย พวกเขาอ้างว่าจะเอาเสียงที่ถูกชนชั้นนำริบไปมาคืนให้แก่ประชาชน มิไยว่ารูปแบบที่ขบวนการเหล่านี้บางขบวนการใช้แสดงตัวออกมาจะมีปัญหาอย่างไร มันสำคัญที่จะต้องตระหนักว่ามีความฝักใฝ่ไขว่หาประชาธิปไตยอย่างชอบธรรมอยู่จริงในหมู่พวกเขาจำนวนมาก

ในหลายประเทศของยุโรป ความฝักใฝ่ไขว่หาที่จะได้อำนาจอธิปไตยกลับมาอีกครั้งดังกล่าวได้ถูกพรรคประชานิยมปีกขวาคว้ายึดเอาไปได้ โดยอาศัยวาทกรรมเกลียดกลัวต่างชาติที่กีดกันผู้อพยพออกไปในฐานที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติ พรรคเหล่านี้กำลังเสกสร้าง “ประชาชน” ขึ้นมาให้เปล่งเสียงเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งเป้าปกป้องผลประโยชน์เฉพาะของพวกที่ถือเป็น “คนชาติเราอย่างแท้จริง” ล้วนๆ เท่านั้น

เอาเข้าจริงแล้วการขาดหายไปซึ่งเรื่องเล่าที่สามารถนำเสนอศัพท์แสงอันแตกต่างออกไปสำหรับปรุงแต่งสูตรการต่อต้านสภาพหลังประชาธิปไตยของเราในปัจจุบันต่างหากที่เป็นตัวอธิบายว่าทำไมประชานิยมปีกขวาจึงได้เสียงสะท้อนตอบในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมากมายขึ้นทุกที แทนที่จะตัดข้อเรียกร้องต้องการของพวกเขาทิ้งในฐานที่ขาดคุณสมบัติ

เราต้องนำข้อเรียกร้องดังกล่าวมาปรุงแต่งใหม่ไปในทางที่ก้าวหน้า โดยนิยามปรปักษ์ว่าได้แก่การก่อรูปของเหล่าพลังที่ส่งเสริมและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่โครงการเสรีนิยมใหม่

ได้เวลาที่จะตระหนักแล้วว่าเพื่อต่อสู้กับประชานิยมปีกขวา เพียงแค่การประณามทางศีลธรรมและปั้นแต่งผู้สนับสนุนมันให้กลายเป็นปีศาจหาใช้การได้ไม่ ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ส่งผลกลับตาลปัตรเป็นเชิงลบทั้งเพเพราะมันยิ่งไปเสริมสร้างความรู้สึกต่อต้านสถาบันสถาปนาในหมู่ชนชั้นประชาสามัญชนต่างๆ (the popular classes มูฟใช้ในความหมายแยกต่างหากจากชนชั้นกลางและชนชั้นนำ – ผู้แปล) เสียอีก บรรดาประเด็นปัญหาที่พวกเขาบรรจุไว้ในระเบียบวาระจำต้องได้รับการขบแก้โดยเสนอคำตอบที่แตกต่างออกไปให้แก่พวกเขา อันเป็นคำตอบที่สามารถเร้าระดมอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปสู่ความเสมอภาคและความยุติธรรมทางสังคมได้ วิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้พรรคประชานิยมปีกขวาทั้งหลายผุดโผล่ขึ้นมาและคัดค้านพวกที่ดำรงอยู่แล้วตอนนี้ก็คือทำโดยผ่านการเสกสร้างประชาชนขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง ส่งเสริมขบวนการประชานิยมปีกซ้ายที่เปิดรับข้อเรียกร้องต้องการแบบประชาธิปไตยอันหลากหลายที่ดำรงอยู่ในสังคมของเรา และมีเป้าหมายที่จะเปล่งประกาศมันออกมาในทิศทางที่ก้าวหน้านั่นเอง

เพื่อรับมือการท้าทายต่ออนาคตของประชาธิปไตยซึ่งมีจังหวะประชานิยมเป็นตัวแทน เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่จำต้องมีก็คือการพัฒนาประชานิยมปีกซ้าย วัตถุประสงค์ของมันควรเป็นการประกอบสร้างเจตจำนงรวมหมู่ที่สถาปนาการสนธิพลังร่วมขึ้นระหว่างขบวนการทางสังคมกับพลังการเมืองอันพหุหลากหลาย โดยตั้งเป้าไว้ที่การทำให้ประชาธิปไตยยิ่งหยั่งลึกลงไป

ในสภาพที่ภาคส่วนมากหลายของสังคมต้องทนทุกข์กับผลของทุนนิยมที่แปรเป็นแบบการเงิน จึงมีศักยภาพอยู่ที่เจตจำนงรวมหมู่นี้จะมีลักษณะตัดผ่าเข้าไปในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมและขึ้นกุมอำนาจนำได้

ประชานิยมฝ่ายซ้ายกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทุกทีในหมู่ฝ่ายซ้ายยุโรปและปีที่แล้ว (ค.ศ.2017) เราก็ได้ประสบพบเห็นการคลี่คลายขยายตัวที่ให้ความหวังในทิศทางนั้นมาก ในฝรั่งเศส ฌอง-ลุค เมลองชอง ได้ผลคะแนนดีเยี่ยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ.2017 และชั่วปีเดียวหลังก่อตั้งขบวนการฝรั่งเศสกบฏ (La France Insoumise) ของเขาก็ได้ที่นั่งผู้แทนในรัฐสภา แม้จะมี ส.ส.แค่ 17 คน มันก็เป็นตัวแทนหลักของฝ่ายค้านต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง

ส่วนในสหราชอาณาจักร พรรคแรงงานภายใต้การนำของเจเรมี คอร์บิน ก็ได้แตกหักกับระเบียบวาระแบบอดีตนายกฯ โทนี แบลร์ และโดยอาศัยขบวนการนักเคลื่อนไหวโมเมนตัม พรรคแรงงานก็ได้ผลคะแนนดีผิดคาดในการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ.2017 ในทั้งสองกรณี ยุทธศาสตร์ประชานิยมฝ่ายซ้ายได้เปิดช่องให้พวกเขากู้คะแนนเสียงจากภาคส่วนประชาชนต่างๆ กลับคืนมาได้จากที่เคยถูกพวกประชานิยมปีกขวาดูดดึงไป กล่าวคือ เมลองชองดึงคะแนนคืนมาได้จากแนวร่วมแห่งชาติฝรั่งเศส ส่วนคอร์บินดึงคะแนนคืนมาได้จากยูคิพ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตรงข้ามกับทรรศนะที่มองประชานิยมว่าเป็นอาการวิปริตผิดเพี้ยนไปของประชาธิปไตยอันเป็นทรรศนะที่ประดาพลังที่ต้องการปกป้องสถานภาพเก่าเพียรพยายามจะยัดเยียดให้นั้น ประชานิยมปีกซ้ายประกอบกันขึ้นเป็นพลังทางการเมืองที่พอเพียงที่สุดในอันที่จะกอบกู้และขยายอุดมคติประชาธิปไตยของเราในยุโรปทุกวันนี้ต่างหาก