สุรชาติ บำรุงสุข | โจทย์ยุทธศาสตร์ใหม่ 2019 : ความท้าทายและผันผวนของโลก

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ไม่มีมิตรในวงไผ่ และในการเมืองโลก”

Finley Peter Dunne

หากจะทดลองพิจารณาถึงสถานการณ์ของโลกในปี 2019 ที่กำลังเริ่มขึ้น จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็น “ความใหม่ทางยุทธศาสตร์”

จนอาจกล่าวได้ว่า ปี 2019 เป็นอีกปีที่เป็นความท้าทาย และเป็นอีกปีที่ยังคงความผันผวนในเวทีการเมืองโลก

ถ้าจำแนกสถานการณ์ในรายละเอียด อาจจะเห็นถึงความใหม่ที่เป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ อันจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางของโลกในอนาคต

ซึ่งจะขอกล่าวถึงอย่างสังเขปดังต่อไปนี้

1)การประท้วงใหม่ : การประท้วงในฝรั่งเศสและผลกระทบต่อแนวโน้มการประท้วงของโลก

บทความนี้จะเริ่มต้นด้วยสถานการณ์การประท้วงที่ปารีสจาก “ขบวนการแจ๊กเก็ตเหลือง” (the yellow vest movement) ในปี 2018 ซึ่งกำลังเป็นสัญญาณถึงแนวโน้มการประท้วงใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทของยุโรป เพราะเป็นการรวมกลุ่มแบบไร้แกนนำ (หรือที่เรียกว่าเป็นการรวมกลุ่มแบบแนวนอน)

และแม้จะมีลักษณะทางชนชั้นในแง่ที่เป็นการประท้วงของชนชั้นกลางล่าง (lower-middle class) กับชนชั้นล่างโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการเพิ่มภาษีพลังงาน เป็นต้น และการประท้วงเช่นนี้ยังผูกโยงเข้ากับข้อเรียกร้องในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

เพราะการประท้วงมีประเด็นพื้นฐานสำคัญคือ การมีเงินเดือนต่ำ ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น จนชีวิตของคนชั้นล่างและชนชั้นกลางเองตกเป็นผู้รับผลกระทบอย่างมาก

ผู้ประท้วงจึงมองเห็นว่ารัฐบาลคือตัวแทนของชนชั้นนำในเมืองที่มีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นนายทุน และมีทัศนะต่อต้านนักการเมือง คือเป็น “ขบวนการประชานิยมรากหญ้า” (grassroots populist movement)

และการประท้วงเช่นนี้ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเบลเยียม เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี บัลแกเรีย ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเกิดขึ้นนอกยุโรป เช่น ในแคนาดา ไต้หวัน อิรัก อิสราเอล เป็นต้น

จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นดัง “การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 3” หรือไม่

ดังนั้น หากรัฐบาลของประธานาธิบดีมาครงต้องสิ้นสุดลงจากการประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์แล้ว เสียงของผู้ประท้วงเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของฝรั่งเศสหรือไม่

โดยเฉพาะหากเสียงนี้มีทิศทางในแบบของการต่อต้านการเมืองแบบเก่าแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้าของฝรั่งเศสจะทำให้เกิดรัฐบาล “ประชานิยมปีกขวา” (Rightwing Populism) เช่นที่เห็นในสหรัฐและอังกฤษหรือไม่

เพราะหากเกิดรัฐบาลเช่นนั้นจริงแล้ว จะมีคำถามสำคัญถึงอนาคตของสหภาพยุโรปอีกด้วย

การประท้วงของ “ขบวนการแจ๊กเก็ตเหลือง” ในฝรั่งเศสในปี 2019 จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นผลที่เกิดกับการเมืองฝรั่งเศสเอง หรือผลกระทบในระดับภูมิภาค ตลอดรวมถึงผลที่จะเกิดในเวทีโลก ที่จะนำไปสู่การประท้วงที่เป็นการผนึกกำลังของชนชั้นล่าง (โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน) และชนชั้นกลาง และมีทิศทางของการต่อสู้จะมีความเป็นประชานิยมมากขึ้น

REUTERS/Stephane Mahe

2)การแข่งขันยุคใหม่ : การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นของรัฐมหาอำนาจ

การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย และระหว่างสหรัฐกับจีน ยังคงเป็นประเด็นหลักในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในปี 2019 ไม่แตกต่างจากอดีต

และน่าสนใจว่าผู้นำสหรัฐปัจจุบันถึงกับเรียกสถานการณ์ในปัจจุบันว่าเป็น “ยุคใหม่ของการแข่งขัน” (new era of competition) ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่เป็นสภาวะโลกแบบขั้วเดียว (unipolar) เช่นในยุคหลังสงครามเย็น ที่สหรัฐเป็นมหาอำนาจใหญ่แต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่ปัจจุบันจีนมีความเข้มแข็งมากขึ้นในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

และรัสเซียก็ฟื้นตัวจากสภาวะล้มละลายทางการเมืองหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นแล้ว

การต่อสู้และแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ทั้งสามจึงเป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสนใจ และต้องติดตามว่าในปี 2019 นี้ การแข่งขันดังกล่าวจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเพียงใด และจะกระทบต่อการเมืองโลกเพียงใดด้วย

โดยเฉพาะนโยบายของผู้นำสหรัฐมีลักษณะที่แตกต่างไปจากทิศทางเดิม และหากใช้ภาษาในแบบเดิมแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่านโยบายของสหรัฐในยุคทรัมป์มีความเป็น “เหยี่ยว” มากขึ้น

หรืออาจเทียบเคียงได้กับแนวคิดของประธานาธิบดีเรแกนที่เน้นในการสร้างความเข้มแข็งทางทหาร ในแบบของ “peace through strength” อันเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าสันติภาพเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของความเข้มแข็งทางทหาร

การแข่งขันเชิงอำนาจของรัฐมหาอำนาจเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าทั้งรัสเซียและจีนได้พัฒนาความเข้มแข็งทางทหารของตนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการพัฒนาระบบอาวุธ การซ้อมรบ การจัดวางกำลังเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายความสัมพันธ์ทางทหารกับชาติพันธมิตร และการขยายตลาดอาวุธ

ทำให้การแข่งขันในมิตินี้ในปี 2019 เป็นประเด็นที่ยังต้องจับตาถึงผลที่จะเกิดขึ้นในเวทีระหว่างการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

3)สงครามใหม่ระหว่างมหาอำนาจใหญ่ : สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และผลกระทบต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก

นักวิเคราะห์ทั้งหลายมีความกังวลอย่างมากว่าการตั้งกำแพงภาษี (tariffs) ของประธานาธิบดีทรัมป์ในการทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีน ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนโดยตรงเท่านั้น หากแต่ยังจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอเมริกันเองด้วย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากว่า เมื่อเศรษฐกิจของรัฐมหาอำนาจใหญ่ถูกทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง (แทนที่จะเป็นความร่วมมือเช่นที่กล่าวถึงในทางทฤษฎี) อันจะเป็นปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ซึ่งผลเช่นนี้จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามที่สำคัญก็คือ สงครามการค้านี้จะนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 มากน้อยเพียงใด และทั้งยังจะกระทบต่อการจัด “ระเบียบเศรษฐกิจโลก” (world economic order) ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเช่นไร

นอกจากนี้ คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งในทางทฤษฎีและปฏิบัติก็คือ สงครามการค้าเช่นนี้มาพร้อมกับแนวคิด “ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ” (economic nationalism) จะส่งผลอย่างไรกับโลกาภิวัตน์ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของโลกเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

4)การต่อสู้ครั้งใหม่ : การตอบโต้สงครามการค้าของจีน

ผู้นำจีนมองการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันว่า สหรัฐกำลังทำการปิดล้อมจีน หรือเป็นจินตนาการที่อาจเทียบเคียงได้กับยุคสงครามเย็นที่มี “นโยบายปิดล้อม” (Containment Policy) เป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐในเอเชีย

และผู้นำจีนมองเห็นว่าสหรัฐต้องการบีบให้จีนอ่อนแอ ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร

ดังจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดสงครามการค้าของทำเนียบขาว และเริ่มเห็นถึงการถดถอยที่กำลังเกิดขึ้นกับสภาวะทางเศรษฐกิจของจีน และผู้นำจีนเรียกการกระทำของสหรัฐว่าเป็น “การข่มขืนทางเศรษฐกิจ” (trade rape)

ดังนั้น การตอบโต้ของจีนในปี 2019 จึงเป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสนใจอย่างมาก

และการตอบโต้นี้ย่อมจะมีผลต่อสภาวะของตลาดโลก และต่อตลาดในเอเชียด้วย

5)การแข่งขันใหม่ทางทะเล : เส้นทางสายไหมทางทะเลกับการขยายบทบาททางนาวีของจีน

การขยายบทบาททางทะเลของจีนทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงมีความเป็นรูปธรรมจากโครงการ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งทาง” [One Belt, One Road” (OBOR) initiative] เส้นทางนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองในการขนส่งระยะไกล การลำเลียงพลังงาน และลดการพึ่งพาเส้นทางการขนส่งเดิม เช่นในกรณีช่องแคบมะละกา

การขยายเส้นทางโลจิสติกส์ของจีนยังมาพร้อมกับการจัดวางกำลังทหารและการจัดสร้างฐานทัพในฐานะของการเป็น “ฐานส่งกำลังบำรุง” ทางทะเลให้กองเรือรบของจีน

เช่น ฐานทัพเรือจีนที่จิบูตี และการขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับปากีสถาน เช่น โครงการริเริ่มระเบียงเศรษฐกิจ (The China-Pakistan Economic Corridor หรือ CPEC)

อีกทั้งยังนำไปสู่การอนุญาตให้จีนเข้ามาตั้งฐานทัพเรือที่เมืองกวาดาร์ (Gwadar)

ดังนั้น การขยายบทบาทของจีนในมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตามองในการแข่งขันทางทะเลของรัฐในบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน อินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน

และรวมถึงนัยที่จะเกิดกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันทำให้มหาสมุทรอินเดียเป็นยุทธบริเวณของการแข่งขันที่สำคัญในปี 2019

6)สงครามนิวเคลียร์ใหม่ : การประกาศการถอนตัวจากความตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางของยุโรปของผู้นำสหรัฐ และผลกระทบต่อการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์

การประกาศของผู้นำสหรัฐในเดือนตุลาคม 2018 ที่จะถอนตัวออกจากความตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (The Intermediate-range Nuclear Forces Treaty หรือ INF) ที่สหรัฐและรัสเซีย (สหภาพโซเวียตเดิม) ที่ได้ทำขึ้นในปี 1987 และถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงปลายของยุคสงครามเย็น

เพราะความตกลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการผ่อนคลายความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นในยุทธบริเวณยุโรปในขณะนั้น จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในความสำเร็จของประธานาธิบดีเรแกนและประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ที่ทำให้ยุโรปก้าวออกจากความกลัวของสงครามนิวเคลียร์

อันนำไปสู่การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางของทั้งสองฝ่าย (nuclear arms control)

แม้ว่าการควบคุมนี้จะเกิดขึ้นในบริบทของยุโรป แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลก

ถ้าสหรัฐถอนตัวจากความตกลงนี้ด้วยข้ออ้างว่ารัสเซีย “โกง” และแอบพัฒนาอาวุธพิสัยกลางแล้ว แม้ว่ารัสเซียกระทำจริง แต่จะทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐตกเป็น “จำเลย” ที่ทำให้ข้อตกลงที่เป็นหลักประกันของเสถียรภาพด้านนิวเคลียร์ของยุโรปต้องหมดไป

และการออกจากความตกลงดังกล่าวจะเป็นดังสัญญาณของการเริ่มต้น “การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์” (nuclear arms race) ครั้งใหม่ของโลกในศตวรรษที่ 21 การดำเนินการของผู้นำสหรัฐในปี 2019 จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีโลก

7)ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐ : ยุทธศาสตร์สองมหาสมุทร-ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเวทีโลกคือ การปรับแนวคิดจาก “เอเชีย-แปซิฟิก” เป็น “อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐสะท้อนให้เห็นถึงการขยายบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็น “ยุทธศาสตร์สองมหาสมุทร” (The Two-Ocean Strategy)

ซึ่งแต่เดิมนั้นภูมิยุทธศาสตร์ของสหรัฐวางอยู่กับอาณาบริเวณของมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นหลัก

การขยายพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ในทางยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ในด้านหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น

หรืออาจตีความว่าเป็นการให้น้ำหนักกับอินเดียในทางยุทธศาสตร์

แต่ในอีกด้านก็คือการแข่งขันกับจีน อันมีนัยว่ายุทธศาสตร์นี้คือการตอบโต้กับการขยายอิทธิพลของจีนทางทะเล โดยมีแกนกลางสี่ประเทศคือ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย (หรืออาจเรียกว่า The Quad)

ดังนั้น ปี 2019 จะเห็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกมากขึ้น และน่าสนใจว่ายุทธศาสตร์นี้จะกำหนด “ระเบียบการเมืองใหม่” ในมหาสมุทรอินเดียอย่างไร

8)ประธานาธิบดีคนใหม่? : การเมืองอเมริกันกับอนาคตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

การหาเสียงในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น มีข้อมูลที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ของเขากับคนสัญชาติรัสเซีย จนนำไปสู่การไต่สวนพิเศษที่มีมูลเลอร์ (Robert Mueller) เป็นประธานการสอบสวน โดยมีการระบุว่า องค์กรของรัสเซียคือ The Internet Research Agency ได้ทำ “สงครามข่าวสาร” เพื่อช่วยเหลือให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 (องค์กรนี้มี Yevgeny Prigozhin มหาเศรษฐีชาวรัสเชียที่มีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูตินเป็นผู้ควบคุม) และยังเข้ามาแทรกแซงการเมืองอเมริกันด้วย

ดังนั้น จึงน่าสนใจอย่างมากว่า ผลการสอบสวนในปี 2019 จะมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์ (และทีมหาเสียง) กับการสนับสนุนจากรัสเซีย จนนำไปสู่การถอดถอน (impeachment) ทรัมป์ออกจากทำเนียบขาวได้หรือไม่

ซึ่งหากเกิดการถอดถอนได้สำเร็จจริงแล้ว ก็น่าสนใจว่า “ประธานาธิบดีคนใหม่” ของสหรัฐจะปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงอย่างใดหรือไม่

และหากเกิดขึ้นจริง ความสัมพันธ์สหรัฐกับรัสเซียจะเป็นเช่นไรในอนาคต?