นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ดอว์ซูในทัศนะคนแหย

นิธิ เอียวศรีวงศ์
AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

ในฐานะ “มือใหม่หัดขับ” เกี่ยวกับพม่า (ผมยืนยันจะใช้คำว่าพม่า เพราะรัฐบาลพม่าประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ในภาษาไทย) และผมมักมองตัวเองเป็นคนแหยๆ ตลอดมาในชีวิต นี่อาจเป็นเหตุให้ผมไม่ค่อยรู้สึกผิดหวังกับการกระทำหรือที่จริงการไม่กระทำอะไรของ ออง ซาน ซูจี ในกรณีการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮิงญาครั้งนี้

ผมไม่หวั่นวิตกแต่อย่างไรว่า คณะกรรมการโนเบลจะเรียกรางวัลคืนจากเธอ รางวัลสันติภาพซึ่งเคยให้แก่คนอย่าง เฮนรี่ คิสซินเจอร์ ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายและพิการนับเป็นหมื่นในชิลีและกัมพูชา ไม่น่าจะมีความหมายทางจิตใจต่อดอว์ซู มากไปกว่าเกราะที่ช่วยกำบังภยันตรายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากเผด็จการทหาร

แม้กระนั้นเธอก็ยังอาจเคยถูกจำขังในคุกนรกอินเส่งอย่างน้อยหนึ่งเดือนขึ้นไป หลังจากถูกจับกุมในกรณีถูกกลุ่มอันธพาลของกองทัพ (USDA) โจมตีขบวนรถของเธอใน 1996/2539

ออง ซาน ซูจี มีบทบาทในพม่าอย่างไม่ตั้งใจ เมื่อเธอกลับมาย่างกุ้งเพื่อพยาบาลมารดาซึ่งกำลังป่วยหนัก และถูกนักศึกษาเชิญให้ไปปราศรัยในการประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988/2531 จนถูกมองว่าเป็นพลังหลักเบื้องหลังการประท้วงใหญ่

และหลังจากนั้น เธอก็กลายเป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุดในการวางแนวทางต่อสู้กับเผด็จการทหาร ด้วยการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่ลดละภายในประเทศ เผชิญหน้ากับความอยุติธรรมต่างๆ อย่างไม่หวั่นไหว ด้วย “อิสรภาพจากความกลัว” ในขณะที่แนวทางต่อสู้สายอื่น เช่น ร่วมกับขบวนการชนกลุ่มน้อยในการต่อสู้กับกองทัพด้วยอาวุธ ฯลฯ ประสบความล้มเหลว และนักต่อสู้ทั้งที่อยู่ในประเทศหรือหนีออกไป ต่างหันมาดำเนินการหนุนช่วยดอว์ซูในรูปต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

เธอกลายเป็นวีรสตรีของคนทั้งโลก ยืนหยัดที่จะรับความทรมานจากเผด็จการทหารในประเทศ ทั้งๆ ที่รัฐบาลทหารพม่าจะยินดีอย่างยิ่งหากเธอตัดสินใจเดินทางออกไปเสีย

ผมคิดว่า ง่ายเกินไปหน่อยไหม ที่จะโจมตี ออง ซาน ซูจี ว่า เพราะบัดนี้เธอ “สบาย” แล้ว กลายเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนพม่า จึงไม่อยากเหนื่อยไปทัดทาน “ทัตมาดอว์” ที่จัดการกับชาวโรฮิงญาอย่างโหดร้าย

AFP PHOTO / RAVEENDRAN
AFP PHOTO / RAVEENDRAN

คนที่ได้ผ่านการต่อสู้ด้วยความกล้าหาญอย่างทรหดอดทนมาขนาดนั้น จะกลายเป็นเหมือนนายกฯ ที่ทหารอุ้มเข้าทำเนียบเท่านั้นเองกระนั้นหรือ

แต่ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเธอ ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อนบ้างเลย และผมอยากจะพูดถึงจุดอ่อนตรงนั้นในฐานะมนุษย์ด้วยกัน และในฐานะคนแหยๆ ซึ่งอาจเข้าใจความเป็นมนุษย์ด้วยกันมากกว่าคนกล้าหาญ

ดอว์ซูเป็นพม่าที่รู้จักพม่าจริงๆ น้อยมาก เธอต้องออกจากประเทศเมื่ออายุยังน้อย เพราะมารดาได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำอินเดียของพม่าหลังเอกราช เป็นธรรมดาที่มารดาต้องนำลูกน้อยกำพร้าพ่อติดไปด้วย เหตุดังนั้นเธอจึงได้รับการศึกษาเกือบทั้งหมดในชีวิตในต่างประเทศ คืออินเดียและอังกฤษในเวลาต่อมา

เครือข่ายในชีวิตของเธอตั้งแต่เล็ก ทำให้เธอรู้จักพม่าแต่เพียงภาษาและพระพุทธศาสนา แน่นอนเธอย่อมรู้จักบ้านเกิดของเธอผ่านหนังสืออีกมากมายที่เธอคงได้อ่าน แต่ก็เหมือนนักวิชาการซึ่งเจนจัดประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ไม่เคยลงวิจัยภาคสนามในประเทศนั้นเลย พม่าที่เธอรู้จักจึงเป็นพม่านามธรรม ไม่ใช่พม่ารูปธรรม

ทั้งนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่า เธอคงมีสำนึกผูกพันกับบ้านเกิดแรงกว่านักพม่าศึกษาต่างชาติทั่วไป เป็นธรรมดาที่เครือข่ายในชีวิตของเธอย่อมปลูกฝังสำนึกนี้แก่เธอมาตั้งแต่เล็ก

แต่พม่าที่เครือข่ายของเธอ เช่น มารดารู้จักคุ้นเคยมาตั้งแต่เล็ก ไม่ใช่พม่าหลังจากได้รับเอกราชแล้ว หากเป็นอาณานิคมพม่าของอังกฤษ

อาณานิคมพม่าของอังกฤษเป็นอย่างไร ผมขอนำเอาความเห็นของ J. S. Furnivall มาสรุปอย่างสั้นๆ ว่า แม้ประชากรพม่าจะมีความหลากหลายสูงมาก ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่อพยพเข้ามาในภายหลัง แต่ในการนำพม่าเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ อังกฤษจัดให้ประชากรอันหลากหลายนั้นอยู่ในห้องของตัวเอง ห้องใครห้องมัน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนในห้องอื่นเลย นอกจากการแลกเปลี่ยนในเชิงพาณิชย์

ข้อมูลเกี่ยวกับพม่าที่เธอถูกบอกเล่ามาแต่เล็กแต่น้อย จึงเป็นพม่าในห้องของพม่า (Burman) ซึ่งหมายถึงคนที่มีอัตลักษณ์เป็นชาวพม่า

 

ครั้นเมื่อเธอกลายเป็นผู้นำของขบวนการประชาธิปไตยในพม่าอย่างฉับพลัน เครือข่ายใกล้ชิดของเธอในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ล้วนเป็นชาวพม่าทั้งสิ้น แม้ว่าดอว์ซูได้รับความชื่นชมยกย่องจากชนกลุ่มน้อยโดยทั่วไป ในฐานะสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย อันเป็นแนวทางการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาติพันธุ์ตนเอง แต่ไม่ใช่ความไว้วางใจสมบูรณ์

แม้ว่าดอว์ซูจะถือว่าการยุติสงครามกลางเมืองเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคเอ็นแอลดี แต่เธอก็ไม่เคยมีข้อเสนอว่าอนาคตของความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ในรัฐพม่าควรเป็นเช่นไร ปราศจากข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมพอสมควร เธอจะโน้มน้าวกองทัพให้วางปืนลงได้อย่างไร ในเมื่อปืนช่วยสร้างทรัพย์มหาศาลให้แก่นายพลอยู่เวลานี้

รัฐบาลของเธอเพิ่งจัดการประชุม “ปางโหลง” ครั้งที่สองไปไม่นานมานี้ แต่ก็เป็นการประชุมครั้งแรกที่มุ่ง “ละลายน้ำแข็ง” มากกว่าจัดทำข้อเสนอทางเลือกต่างๆ ขึ้นมา เพราะที่จริงแล้ว ประชาชนต่างชาติพันธุ์ที่ไม่ขัดข้องจะอยู่ร่วมในสหภาพ ต่างก็ต้องการเชื่อมโยงกับสหภาพในลักษณะที่แตกต่างกัน

ซ้ำร้ายกว่านั้น ในทางปฏิบัติบนพื้นดิน น้ำแข็งก็หาได้ละลายลงแต่อย่างใด เพราะการสู้รบก็ยังดำเนินต่อไปเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิมเสียอีกในกรณีภาคเหนือและตะวันตกเฉียงใต้

 

หาก ออง ซาน ซูจี ยังคุมการบริหารประเทศในส่วนที่รัฐธรรมนูญเปิดให้ต่อไป เธอคงทำประโยชน์ให้พม่าได้บ้าง เช่น ทำให้ความช่วยเหลือต่างประเทศกลับเข้ามาใหม่ พม่าหลุดออกจากข้อห้ามการลงทุนของสหรัฐ หากสามารถประคองตนอยู่ในอำนาจได้ยาวขึ้น ก็ทำให้การเมืองพม่าพอจะ “คาดการณ์ได้” แก่นักลงทุน และน่าจะมีการลงทุนมากขึ้นกว่านี้ไปอีก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ชาวพม่าบางส่วน

หากรัฐบาลเธอต้องการฟื้นฟูคุณภาพการศึกษาพม่าให้กลับดีขึ้นใหม่ ก็มีทางเป็นไปได้มากขึ้น เพราะกองทัพคงไม่เห็นอันตรายจากการศึกษาที่ดี หากมีรัฐบาลพลเรือนเป็นเกราะป้องกันให้ เช่นเดียวกับการสาธารณสุขก็น่าจะได้รับงบประมาณและความเอาใจใส่มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตที่ไม่มีการสู้รบ

แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการยุติสงครามกลางเมืองในพม่า ในรัฐธรรมนูญ นั่นก็เป็นภาระของกองทัพโดยตรง การรักษาความมั่นคงภายในไม่แต่เพียงให้เงินมหาศาลแก่นายพลเท่านั้น แต่คือความชอบธรรมที่กองทัพจะมีและรักษาอำนาจสูงสุดทางการเมืองไว้สืบไป (เหมือนเผด็จการทหารทั่วไป ที่อยู่ได้เพราะศัตรูแห่งชาติเทียมหรือจริงเสมอ) ถ้ายุติสงครามกลางเมืองได้จริง ก็เท่ากับลดอิทธิพลทหารลงไปอย่างมาก จนอาจไม่สามารถผูกขาดภารกิจนี้ไว้กับกองทัพได้ต่อไป อีกทั้งนโยบายนี้ก็จะได้รับความสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อยที่ถูกบีฑาอย่างโหดร้ายอยู่เวลานี้ด้วย

ดังนั้น การยุติสงครามกลางเมืองจึงเป็นคำขวัญทางการเมืองที่ดึงการสนับสนุนได้มาก แม้มีเจตนาจะทำจริง ก็ใช่ว่าจะทำได้สำเร็จในเร็ววัน หรือแม้แต่ในสมัยเดียว

ผมคิดว่าสิ่งที่ดอว์ซู ซึ่งปัจจุบันก็อายุ 71 แล้ว น่าจะต้องการที่สุดในยามขึ้นสู่อำนาจครั้งนี้ คือความไว้วางใจ เพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสำเร็จในจุดประสงค์ทางการเมืองอีกหลายอย่างข้างหน้า

แม้ว่าดอว์ซูได้รับความรักและชื่นชมอย่างท่วมท้นจากผู้คนในพม่า แต่นั่นไม่ใช่ความไว้วางใจ ความรักชื่นชมนำไปสู่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้ เพราะต่างนึกว่าเธอจะใช้อำนาจจากการเลือกตั้งทำสิ่งที่ตนต้องการ ครั้นเธอไม่ได้ทำ เพราะทำไม่ได้ หรือเพราะไม่เห็นด้วยก็ตาม กลับนำมาซึ่งความผิดหวังและความชิงชัง อย่างที่สาวกของวีรธุผิดหวังและเริ่มชิงชัง ออง ซาน ซูจี เนื่องจากเธอไม่เป็นหัวหอกในการต่อต้านมุสลิม

ที่นักการเมืองคนหนึ่งๆ จะทำตามนโยบายที่ตนยึดมั่นศรัทธาได้สำเร็จ ต้องอาศัยมากกว่าความรักความชื่นชม เขาต้องการความไว้วางใจมากกว่า และความไว้วางใจไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นได้ในเร็ววัน

 

ดอว์ซูได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเชื้อสายพม่าแค่ไหน ผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่เท่าที่ได้มีโอกาสคุยนานๆ หน่อยกับชนกลุ่มน้อย (โดยมากคือไทยใหญ่) ผมพบว่า เขาไม่ได้ไว้วางใจดอว์ซูมากนัก แม้พยายามทุกวิถีทาง – ถึงเป็นทางที่เสี่ยงภัยแก่ตนเอง – ที่จะทำให้พรรคของเธอได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง คนมีการศึกษาบางคนเล่าถึงข้อตกลงปางโหลงที่บิดาของเธอจัดขึ้นว่า เป็นเล่ห์กลที่ตั้งใจจะล่อลวงชนกลุ่มน้อยมาแต่ต้นแล้วด้วยซ้ำ (เพราะกองกำลังของพม่าในตอนนั้นก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะปราบปรามกลุ่มที่อยากแยกเป็นอิสระของชนกลุ่มน้อยได้)

อย่างไรก็ตาม หากพรรคเอ็นแอลดีสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน อย่างน้อยเธอก็น่าจะได้รับความไว้วางใจจากคนเชื้อสายพม่ามากขึ้น แต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจก็อาจคุกคามชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มไปพร้อมกัน เช่น จีนสัมปทานการทำเหมืองหยกเพิ่มขึ้นในรัฐคะฉิ่น โดยร่วมมือกับนายพลเหมือนเดิม ชาวคะฉิ่นก็จะถูกขับไล่ออกจากที่ทำกินมากขึ้นไปพร้อมกัน รวมทั้งอาจถูกเกณฑ์แรงงานหรือกดค่าแรงต่อไปเหมือนเดิม

เศรษฐกิจโตขึ้นทำให้คนเชื้อสายพม่าหายใจได้คล่องขึ้นในระยะแรก แต่ในระยะต่อไปก็รู้สึกได้ว่าค่าแรงที่ได้นั้นไม่เป็นธรรมเหมือนกัน การรักษาความไว้วางใจให้ดำรงคงอยู่ไปนานๆ จึงไม่ง่าย

ความไว้วางใจจากกองทัพน่าจะมีความสำคัญที่สุด ในการเดินทางเยือนสหรัฐ ออง ซาน ซูจี สามารถทำให้รัฐบาลอเมริกันปลดทรัพย์สินของนายพลในสหรัฐซึ่งถูกแช่แข็งได้หมด จึงเป็นบันไดขั้นแรกของการสร้างความไว้วางใจกับกองทัพ

แต่เพียงเท่านี้ไม่พอหรอกที่จะทำให้กองทัพไว้วางใจพอที่พรรคเอ็นแอลดีจะริเริ่มนโยบายอะไรซึ่งอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของนายพล เช่น รักษาสิทธิ์ของชนกลุ่มน้อยซึ่งกำลังถูกลิดรอนอย่างหนักจาก “วิสาหกิจดูด” (extractive enterprises) ของจีน ซึ่งร่วมทุนกับนายพลพม่า

และหากทำเพียงเท่านี้ไม่ได้ เธอจะได้รับความไว้วางใจจากชนส่วนน้อยได้อย่างไร

มีอะไรบางอย่างในการเมืองพม่านับตั้ง 1962/2505 เป็นต้นมาที่คล้ายกับการเมืองไทยในตอนนี้ นั่นคือมีบุคคลที่เป็นที่รักและชื่นชมอยู่จำนวนมากในแต่ละกลุ่ม แต่ไม่มีใครได้รับความไว้วางใจจากคนนอกกลุ่ม ดังนั้น ผู้ที่ได้อำนาจทางการเมืองจึงทำอะไรก็ได้เพื่อรักษาความรักชื่นชมในกลุ่มของตนไว้ ไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้ขยายไปถึงคนนอกกลุ่มได้ วิธีที่จะขจัดอุปสรรคทางการเมืองจึงโน้มเอียงไปทางเดียว คือใช้อำนาจเผด็จการ แม้แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร ก็ใช้วิธีเผด็จการไม่น้อยไปกว่าผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตย จะน้อยหรือมาก ก็เปิดโอกาสให้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์อยู่บ้าง หาทางเลือกอื่นในการเผชิญกับการต่อต้านคัดค้านจากกลุ่มอื่นนอกวิธีเผด็จการ ดอว์ซูและพรรคของเธออาจกำลังหาวิธีนี้อยู่จากช่องเล็กๆ ของประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญพม่าก็ได้

การไม่พูดหรือมีปฏิกิริยาอย่างใดต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กองทัพกระทำต่อโรฮิงญา อาจเป็นทางเลือกที่ดอว์ซูได้ไตร่ตรองและประเมินผลได้ผลเสียมาอย่างรอบคอบแล้วว่า น่าจะดีที่สุด

กองทัพพม่าได้สร้างฐานมวลชนในหมู่ชาวพม่าให้แก่นโยบายต่อต้านมุสลิมของตนไว้ใหญ่พอสมควร การจัดการปัญหาชายแดนอยู่ในเขตอำนาจของทหารอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ถึงพูดอะไรไปก็เพียงทำให้นานาชาติยังยกย่องเธอเหมือนเดิมเท่านั้น ไม่ช่วยให้ทหารยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และกลับมาระแวงระวังตัวเธอเองเหมือนเดิม จนกระทั่งไม่ว่าเธอจะทำอะไร กองทัพก็จะขัดขวางไว้ก่อน

คนมีหลักการทั้งหลายในโลกอาจตั้งคำถามได้ว่า แล้วชีวิตชาวโรฮิงญาไม่มีค่าเลยหรืออย่างไร ผมก็อยากตอบว่ามีสิครับ มีเท่าคนอื่นๆ นั่นแหละ แต่ดอว์ซูทำอะไรได้หรือ ตรงกันข้าม รัฐอื่นๆ ทั้งหลายซึ่งคนมีหลักการอาศัยอยู่เสียอีก ที่พอจะทำอะไรได้มากกว่าดอว์ซู และมากกว่าการประณามดอว์ซู เช่น กดดันให้พม่ายอมรับความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ชาวโรฮิงญา ยอมให้สหประชาชาติหรือชาติสมาชิกอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ในรัฐยะไข่ ฯลฯ

การที่มาเลเซียและอินโดนีเซียยอมฝ่าหลักการไม่แทรกแซงก้าวก่ายของอาเซียน แสดงท่าทีประท้วงเท่าที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นหนึ่งในแรงกดดันของนานาชาติ ซึ่งจะช่วยปกป้องโรฮิงญาได้มากกว่าที่ ออง ซาน ซูจี จะทำอะไรทั้งนั้น

ผมไม่รับรองนะครับว่า ความอดทนกล้ำกลืนต่อความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งนี้ของดอว์ซู มาจากแรงจูงใจอย่างที่ผมกล่าว และคงไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถยืนยันได้ว่า จะนำมาสู่ผลดีอย่างแน่นอน เพียงแต่อยากเสนอทัศนะของคนแหยๆ ที่ไม่กล้าหรือไม่เลือกที่จะยึดหลักการอย่างเหนียวแน่นมั่นคงในทุกสถานการณ์

แต่ก็ไม่จำเป็นว่าคนแหยต้องเป็นคนกะล่อน ไม่กล้าก็คือไม่กล้า แหยก็คือแหย จึงทำให้เข้าใจดอว์ซูในสถานการณ์นี้ เธอเลือกที่จะไม่ทำตามหลักการ โดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ

ดอว์ซูเลือกยุทธวิธีซึ่งอาจแปรผันไปได้ตามสถานการณ์ แต่เธอยังยึดมั่นยุทธศาสตร์เดิม นี่จะเป็นยุทธวิธีที่ผิดหรือถูกไม่มีใครทราบ เวลายังเยาว์นักสำหรับรัฐบาลพลเรือนซึ่งมีอายุเพียง 8 เดือนภายใต้รัฐธรรมนูญทหาร