สุจิตต์ วงษ์เทศ : เครื่องแบบนักเรียน อำนาจควบคุมความรู้

ชุดนักเรียนแพงขึ้นกว่าปีก่อน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นตอนเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่เพื่อส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ

มีชุดนักเรียนอย่างเดียวไม่พอ เพราะกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ต้องมีกิจกรรมพลศึกษา, ลูกเสือ, เนตรนารี จึงต้องซื้อหาชุดพลศึกษา, ลูกเสือ, เนตรนารี รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆประกอบอีกไม่น้อย ใช้แต่งตัวทำกิจกรรมนั้น

เปิดเทอมเหมือนกันทุกปี บรรดาสื่อพากันเสนอข่าวพ่อแม่ผู้ปกครองฐานะทางการเงินไม่ดี ต่างปรับทุกข์ที่ต้องกู้หนี้ยืมสินและจำนำสิ่งของแลกเงินสดมาใช้จ่ายให้ลูกหลานเข้าโรงเรียน
ชุดนักเรียน คือ“เครื่องแบบ”อย่างหนึ่งที่รัฐไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ ราว 100 ปีมาแล้ว กำหนดให้นักเรียนหญิงชายทั่วประเทศต้องแต่งอย่างเดียวกัน จะต่างกันบ้างก็ในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ

กฎกติกาอย่างนี้เยี่ยงทหารตำรวจและข้าราชการต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนกันทั่วประเทศตามที่หน่วยงานนั้นๆกำหนด ซึ่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เครื่องแบบต้อง“สีกากี”เท่านั้น (เป็นสีเมืองขึ้น หรืออาณานิคมอังกฤษ) แต่ปัจจุบันเหลือสีกากีเฉพาะตำรวจกับข้าราชการพลเรือน

เครื่องแบบนักเรียน มาจากไหน?

คำถามนี้ไม่มีคำตอบตรงไปตรงมา แต่มีคำอธิบายของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่นานมาแล้วว่าสืบเนื่องจากวัฒนธรรมอำนาจ หรือโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยราว 100 ปีมาแล้ว มีคติว่า“ความรู้คืออำนาจ” ผู้มีวิชาความรู้เป็นผู้ดีมีอภิสิทธิ์ แต่ต้องถูกควบคุมด้วยอำนาจที่เหนือขึ้นไป

ดังนั้นผู้เรียนวิชาความรู้ต้องมีเครื่องแบบ เหมือนทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการ เพื่อควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยตามความต้องการของผู้มีอำนาจเหนือกว่า

ต่อมาไทยต้องปรับตัวเป็นรัฐสมัยใหม่ตามโลกตะวันตก

แต่คนชั้นนำที่อยู่ข้างบนๆไม่ปล่อยวางอำนาจ เลยต้องรักษาเครื่องแบบนักเรียนนิสิตนักศึกษาไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาโครงสร้างวัฒนธรรมอำนาจมิให้ลดลงหรือหายไป

แล้วร่วมกันสรรหาคำอธิบายถึงข้อดีของเครื่องแบบนักเรียนอย่างตะแบงตะบิดตะบอยตะบี้ตะบันดันทุรังซึ่งล้วนไม่จริงว่าเป็นระเบียบเรียบร้อย แลดูเหมือนๆกันงดงาม โดยลงท้ายว่าประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เดือดร้อนพ่อแม่ผู้ปกครอง ถ้าแต่งตามสบายไม่มีเครื่องแบบจะทำให้บางพวกซื้อหาแบรนด์เนมมาแต่งแข่งกัน

สอดคล้องกับคำอธิบายของนักวิชาการตะวันตกเมื่อนานมาแล้วว่า ไทยเป็นประเทศ

“ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา”

ราว 50 ปีมาแล้ว บ้านนอกคอกนายังเป็นป่าดง โดยเฉพาะอีสาน “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” แล้วยังไม่มีถนนหนทางสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ ผู้คนจนยากหนักหนาสาหัส

แต่ราชการบังคับให้นักเรียนต้องแต่งเครื่องแบบให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งๆเด็กนักเรียนทั้งหมดไม่มีข้าวและนมสดกินกลางวันที่โรงเรียน

บรรดานักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการ ครูบาอาจารย์จำนวนหนึ่ง พากันเรียกร้องให้ผ่อนปรนแล้วยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน โดยให้แต่งตัวตามยถากรรมเท่าที่มีในชีวิตประจำวัน คือเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ ปะๆ และไม่มีถุงเท้ารองเท้า ขอแต่ให้ไปเรียนหนังสือเท่านั้น

ผลคือ นักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์พวกหนึ่งถูกจับติดคุกข้อหาคอมมิวนิสต์ ส่วนพวกที่เหลือต้องพากันหุบปากแล้วต้องเก็บตัวเงียบหายไป โดยรัฐเผด็จการทหารยุคนั้นไม่อนุญาตให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนนิสิตนักศึกษา เพื่อสืบลักษณะ“ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา” เอาไว้สุดจิตสุดใจตราบจนบัดนี้

ถ้าจะให้สังคมไทยทันสมัยอย่างมีพัฒนาการ หรือมีพัฒนาการสู่ความทันสมัยอย่างแท้จริง ต้องยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนนิสิตนักศึกษา

บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วประเทศจะประหยัดค่าใช้จ่าย “ซื้อ” การศึกษาให้ลูกหลานได้ไม่น้อย แล้วบรรเทาความเดือดร้อนได้ดีนัก กระทั่งอย่างอื่นๆก็จะดีขึ้นตามมามหาศาล