จัตวา กลิ่นสุนทร : 65 ปี “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สิ้นสุดเหลือเพียงตำนาน

ผมเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ยังเป็นช่วงปลายรัฐบาล “ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ ที่มี ฯพณฯ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” (ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 16)

ก่อนจะเปลี่ยน “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 17) เป็น “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” (เสียชีวิต) ซึ่งมาจากการ “เลือกตั้ง” เจ้าของนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” อันดังกระฉ่อน

การทำงานสื่อเป็นไปด้วยความราบรื่น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข่าวสารพัด เรื่อง “การเมือง” ความเคลื่อนไหวต่างๆ หาได้เสมอ ไม่ยากลำบากสำหรับรัฐบาลที่มาจากการ “เลือกตั้ง” ข่าว “เศรษฐกิจ” ย่อมลื่นไหลเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาล พล.อ.เปรม ซึ่งประเทศมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง มีวินัยทางการเงิน การคลัง

ไม่มีข่าวการทุจริตคิดมิชอบ เพราะหัวหน้ารัฐบาลเน้นเรื่องความ “ซื่อสัตย์สุจริต” ประเทศไทยก้าวหน้าไปมาก

ด้าน “เศรษฐกิจ” สามารถค้นพบแหล่งพลังงานกระทั่งเชื่อกันว่าประเทศจะโชติช่วงชัชวาลเมื่อได้ขุดเจาะก๊าซในอ่าวไทยขึ้นมาได้ รัฐบาลตัดสินใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรม “มาบตาพุด” จังหวัดระยอง

 

ผมเข้ามารับหน้าที่ “บรรณาธิการ” ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา พร้อมกับความกดดันพอสมควร เนื่องจากโดยภาพรวมแล้วเจ้าของผู้ก่อตั้งรวมทั้งสมุนบริวารแวดล้อมของท่าน ตลอดจนผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนผลักดันผม ต่างตั้งความหวังว่า “สยามรัฐรายวัน” จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจจนกระทั่งสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เหมือนอย่าง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ที่เพิ่งวางมือจากมา

เมื่อเสนอนโยบายเสร็จสรรพได้ลงมือปรับปรุงทีมงานทั้งด้านข่าวและบทความ เปลี่ยนรูปแบบการผลิตต่างๆ ให้มีสีสันก้าวหน้าทันสมัย เพียงแต่ยังคงรักษาความเป็น “สยามรัฐ” ซึ่งเน้นทางด้านคอลัมน์ บทความอันหนักแน่นเฉียบคมจากนักเขียนในสไตล์ของหนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับดังกล่าวนี้

แต่สิ่งหนึ่งอันเป็นจุดขายตลอดมาของสยามรัฐ คือ คอลัมน์ของท่านศาสตราจารย์ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ผู้ให้กำเนิด

 

พวกเราทำงานหนัก พยามยามเปิดตัวเองออกสู่สังคมกว้างมากขึ้น สร้างคอนเน็กชั่น (Connection) ทั้งในสังคมการเมือง เศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ว่าอยากให้ “สยามรัฐ” ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“สยามรัฐรายวัน” ครบรอบวันเกิด 40 ปี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2533 คิดกันว่าต้องจัดงานวันเกิดสักครั้ง นายใหญ่เจ้าของผู้ก่อตั้ง ผู้บริหารทั้งหลายท่านก็เห็นชอบด้วย

ผมจึงเป็นคนนำการ์ดไปกราบเรียนเชิญ (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยตนเอง ท่านรับปากด้วยความยินดี เพราะท่านเคารพนับถืออาจารย์คึกฤทธิ์ เคยร่วมเดินทางในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2518

งานวันเกิด “ครบรอบ 40 ปี สยามรัฐรายวัน” นอกจากอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ซึ่งขณะนั้นท่านต้องนั่ง Wheel Chair) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พร้อมทีมงาน และรัฐมนตรีอื่นๆ รวมทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มาร่วมแสดงความยินดีกันจนแน่นงาน ทำเอาโรงแรม “แอมบาสซาเดอร์” สุขุมวิท กรุงเทพฯ แคบไปทีเดียว

สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์มากันเกือบครบ เพื่อเตรียมนำเสนอข่าว เนื่องจากวันนั้นมีข่าวว่า รัฐบาลน้าชาติจะยกเลิกคำสั่ง “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” (ฉบับที่ 42) ซึ่งควบคุมปิดกั้นเสรีภาพการทำงานของสื่ออย่างอิสระอีกด้วย

 

เส้นทางเดิน “สยามรัฐรายวัน” กับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” และ “สำนักพิมพ์สยามรัฐ” เมื่อกว่า 30 ปี มีโอกาสค่อนข้างมากทีเดียวที่จะเสนอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

แต่ฝันของคนทำงานต้องสะดุดลง เกิดอุบัติเหตุกับบรรณาธิการอันอยู่นอกเหนือการควบคุมจริงๆ

ทำให้ผมต้องหันหลังให้กับสยามรัฐ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องการเมืองระหว่างอาจารย์ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) กับ (ท่านพี่จิ๋ว) “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 22) ซึ่งผมได้เคยเล่าไปหลายครั้งแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าวซ้ำอีก

ตามแบบฉบับของการโยกย้ายออกจากตำแหน่ง ไม่มีอะไรดีไปกว่าให้ขยับขึ้นเป็นที่ปรึกษา (ไม่มีงานทำ) ซึ่งแรกทีเดียวก็ไม่เป็นไรถ้าหากยังคงมีรายได้จากเงินเดือนเท่าเดิม

แต่ทีมงานผู้จัดการซึ่งคงไม่ค่อยจะกินเส้นกับบรรณาธิการสักเท่าไร เสนอให้ลดเงินเดือน จึงจำเป็นต้องรักษาเกียรติยศของลูกผู้ชายขอไปตายเอาดาบหน้า ขอ “ลาออก” เมื่อปี พ.ศ.2534

ก่อนเกิดการ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” รัฐบาลน้าชาติ โดย “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.)

 

ชีวิตได้เลี้ยววกเข้าสู่การเมืองบ้างแบบผิวเผิน เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ในปี พ.ศ.2534 ต่อด้วย “สมาชิกวุฒิสภา” (2535-2539)

เวลานั้นไม่ได้มีงานประจำ เมื่อหมดเทอมจากวุฒิสภา มีการเลือกตั้ง “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) ในปี พ.ศ.2539 จึงลงสมัคร และได้รับเลือกเป็น “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ของจังหวัดระยอง (สสร.ระยอง)

วนเวียนอยู่กับกิจกรรมการเมือง แต่ไม่เคยทิ้งอาชีพสื่อมวลชนที่ค่อนข้างรักเข้าเลือด จนบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง คณะทหารได้ “ยึดอำนาจ” รัฐบาลของ “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 23) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

ด้วยความรักผูกพัน วันหนึ่งได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยียน “สยามรัฐ” เพื่อนๆ ได้ชักชวนให้มาช่วยทำ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” จึงได้กลับไปยังถิ่นเดิมในนามที่ปรึกษาอีกระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ครบรอบปีที่ 57 ในปี พ.ศ.2552 ในฐานะคนคุ้นเคยจึงได้รับหน้าที่เขียนถึงที่มาที่ไป วันนี้แม้เวลาจะผ่านเลยไปถึง 10 ปี (สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์-เกิดการเปลี่ยนแปลง)

จึงขอค้นหานำมาฉายซ้ำอีกครั้งเป็นบางตอน เขียนไว้ดังนี้—

 

“หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สถาปนาหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” ปรากฏโฉมบนโลกหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2493 ตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดของประเทศนี้ จนกระทั่งมีอายุยืนยาวก้าวสู่ปีที่ 60 ภายใต้คาถา “พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม””

เป็นคนก็กำลังเตรียมจะจัดงานฉลอง “แซยิด” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า “สยามรัฐรายวัน” ดึงดูดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ระดับฝีมือชั้นแนวหน้าแห่งยุคสมัยสู่อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

ข้อเขียนมีมากจนไม่มีพื้นที่จะตีพิมพ์ได้ทั้งหมด ประกอบกับ “สยามรัฐรายวัน” หยุดวันอาทิตย์ จึงเกิดความคิดหาพื้นที่เพื่อรองรับข้อเขียนที่ดีมีคุณค่าแทนการโยนทิ้งลงตะกร้า “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถือกำเนิดแทรกมาตรงช่องว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามชื่อภายใต้คาถาเดียวกัน เรียกว่า “สยามรัฐฉบับเบ่ง” วางตลาดฉบับแรกเดือนกันยายน พ.ศ.2497 อ่อนวัยกว่า “สยามรัฐรายวัน” 3 ปีเศษ

นักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกๆ ของ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นมืออาชีพ ยึดอาชีพหนังสือพิมพ์ด้วยความรักอย่างบริสุทธิ์ใจ พิมพ์นิยมแบบนั้นทุกวันนี้ล้มหายตายจากไปตามอายุขัยไม่น้อย ยังมีชีวิตอยู่ก็ล้วนสูงวัย อยากหยิบรายชื่อบรรดาปรมาจารย์รุ่นก่อนในวงการน้ำหมึกบางท่านมาบันทึกไว้ให้เป็นเกียรติประวัติ เท่าที่ความจำยังเอื้ออำนวย อาทิ

คุณประหยัด ศ.นาคะนาท คุณประยูร จรรยาวงศ์ (มือการ์ตูน) คุณวิลาส มณีวัต คุณประมูล อุณหธูป หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (ศิลปินแห่งชาติ) (พี่ปุ๊) “รงค์ วงษ์สวรรค์ (ศิลปินแห่งชาติ) (พี่นพ) คุณนพพร บุณยฤทธิ์ (เสียชีวิต) และ ฯลฯ ท่านเหล่านี้เป็นลูกหม้อ เขียนหนังสือเพราะอยากจะเขียน เขียนการ์ตูนเพราะอยากจะทำ ไม่ได้พยายามทำเพื่อเงินแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ตั้งใจเข้ามาหาประโยชน์โดยอาศัย “สยามรัฐ” เป็นที่แอบแฝงแจ้งเกิด เพื่อนำเอาไปใช้เป็นใบเบิกทางไต่เต้าสู่อำนาจสร้างความร่ำรวย ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอาชีพไหนเป็นไปได้รวดเร็วทันใจดุจพลิกฝ่ามือเท่าอาชีพ “นักการเมือง”

นักหนังสือพิมพ์ คนเขียนการ์ตูนจอมปลอมรุ่นหลังๆ จึงแอบเข้า “สยามรัฐ” เพื่อหาเลี้ยงปากท้องพร้อมใช้เป็นบันไดปีนป่ายสู่ “การเมือง” คนแล้วคนเล่า—?

ขอจบเรื่อง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สื่อสิ่งพิมพ์อันเต็มไปด้วยตำนานและผู้สร้าง แต่เพียงเท่านี้ครับ