ศัลยา ประชาชาติ : รัฐบาลทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง เร่งปิดดีลโปรเจ็กต์ยักษ์ จัดทัพข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ

ก่อนจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ รัฐบาล คสช. ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี พยายามเร่งเครื่อง “ลงเสาเข็ม” โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) ต่างๆ อย่างเต็มที่

ช่วงชิงความได้เปรียบจากการเป็น “รัฐบาลอำนาจพิเศษ” ที่ไม่ต้อง “รักษาการ” ในช่วงที่กฎหมายเลือกตั้งประกาศแล้ว

โดยเฉพาะโครงการที่ถือเป็นหัวใจของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อย่างการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองอย่างเข้มข้นกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี

แม้ว่าจะมีการเจรจาต่อรองกันอย่างดุเดือด แต่งานนี้ นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณา ระบุว่าต้องเร่งพิจารณาข้อเสนอกลุ่มซีพีให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติ และเซ็นสัญญาในเดือนมีนาคมนี้

ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) วงเงินลงทุน 47,900 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เลื่อนเปิดรับซองข้อเสนอของเอกชนจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เป็น 15 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งยืนยันว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2562

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงินลงทุนกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท ได้เปิดขายทีโออาร์รอบใหม่เมื่อ 28 มกราคม-8 กุมภาพันธ์นี้ และกำหนดยื่นซองประมูลวันที่ 29 มีนาคม 2562

รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หรือ “เมืองการบิน” มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ที่เปิดขายทีโออาร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาและมีเอกชนสนใจซื้อทีโออาร์ทั้งสิ้น 42 ราย โดยกำหนดให้เอกชนที่สนใจยื่นซองประมูล 28 กุมภาพันธ์ 2562

เรียกว่าพยายามดันเมกะโปรเจ็กต์ให้อยู่ในโรดแม็ปของรัฐบาล

แต่โปรเจ็กต์ที่มีการจับตาและมีโอกาสเซ็นสัญญาในรัฐบาลชุดนี้มากที่สุดก็คือ “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” หากการเจรจาต่อรองกับเอกชนบรรลุผล

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังเตรียมแผนชงเมกะโปรเจ็กต์ที่ค้างท่อมูลค่าอีกเกือบ 1 แสนล้านบาท เพื่อที่จะให้การลงทุนเดินหน้าตามแผนที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

 

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า 1-2 เดือนนี้จะเร่งนำโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งที่พร้อม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเพื่อให้เริ่มประมูลและก่อสร้างต่อไปได้

ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ 3 สายทางในภาคอีสาน ได้แก่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 ก.ม. วงเงิน 67,965 ล้านบาท, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 ก.ม. วงเงิน 26,654 ล้านบาท และช่วงจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307 ก.ม. วงเงิน 37,523.61 ล้านบาท

รวมทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย ที่เตรียมเสนอให้ ครม.อนุมัติในเดือนมีนาคม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 8.84 ก.ม. วงเงิน 6,500 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 ก.ม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 ก.ม. วงเงิน 7,500 ล้านบาท

รวมถึงโครงการจัดหารถเมล์ล็อตใหม่ 2,188 คัน ทั้งรถเมล์ NGV รถเมล์ไฮบริด และรถเมล์ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่ากลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะออกประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์เส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี และเส้นบางปะอิน-นครราชสีมา 30 ปี วงเงิน 6.1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดขายทีโออาร์เดือนมีนาคมนี้ และให้ยื่นซองประมูลในเดือนกรกฎาคม 2562

ทั้งเตรียมเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 79,006 ล้านบาท เสนอให้ ครม.อนุมัติในเดือนมีนาคมนี้

รวมถึงการลงทุนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะเปิดประมูล PPP net cost ระยะ 30 ปี วงเงิน 128,000 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะ 16.4 ก.ม. วงเงิน 96,000 ล้านบาท และคัดเลือกเอกชนเดินรถสายสีส้มเส้นทางจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 36 ก.ม. วงเงิน 32,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเสนอ ครม.อนุมัติ

ส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 ก.ม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเร็วๆ นี้

 

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ไปพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ดินในโครงการการจัดประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับโรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ที่สัญญาจะครบ 30 ปีในปี 2564

โดยให้เร่งเจรจาคู่สัญญาเดิม เพื่อกำหนดเรื่องอัตราผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับ ในกรณีต่อสัญญาเช่ากับเอราวัณอีก 20 ปี โดยให้จบก่อนเลือกตั้ง

รวมถึงกรมธนารักษ์ที่เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสาม มูลค่าลงทุน 3,300 ล้านบาท กับกลุ่มบริษัทบีทีเอส ซึ่งล่าสุดทางอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะเร่งให้มีการเซ็นสัญญาได้ก่อนเลือกตั้ง

และนอกจากการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ในช่วงก่อนเลือกตั้งแล้ว รัฐบาล คสช.ยังได้เร่งวางตัวผู้บริหารหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ว่างอยู่และกำลังจะว่างลง เพื่อให้ขานรับกับนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ด้วยเม็ดเงินการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้เป็นที่หมายปองหลังจากมีรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งช่วงกลางปีนี้ ขณะที่ผู้บริหารในบางหน่วยงานที่ยังไม่มีตัวจริงก็ต้องเร่งพิจารณาสรรหาให้เรียบร้อยเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไป

เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ นั่งรักษาการแทนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึงปัจจุบัน โดยวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้บอร์ด ร.ฟ.ท.จะมีการประชุมเพื่อเปิดสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

ขณะที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ก็ยังไม่มีผู้อำนวยการ แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาจะตัดสินให้ ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการ เป็นผู้ได้รับคัดเลือก แต่ยังมีเสียงคัดค้านจนทำให้ชะลอการเสนอชื่อให้ ครม.พิจารณา ซึ่งก็จะเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการโครงการใหญ่ที่กำลังประมูล คือ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โซน F วงเงิน 84,361 ล้านบาท

 

ขณะที่กระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เร่งสรรหาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่วงหน้ากว่าครึ่งปี เพื่อเข้ามาแทนนายรพี สุจริตกุล ที่จะครบวาระสิ้นเดือนเมษายน 2562 โดย ครม.ได้เห็นชอบแต่งตั้งนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2561

รวมถึงการเร่งสรรหาผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ การเปิดรับสมัคร “กรรมการผู้จัดการ” ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ระหว่าง 21 มกราคม-8 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อมาแทนนายมงคล ลีลาธรรม ที่จะเกษียนในเดือนมีนาคมนี้

ด้านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ว่างเว้นผู้จัดการทั่วไปอยู่หลายเดือน ก็ได้ “รักษ์ วรกิจโภคาทร” มานั่งเก้าอี้ตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2561 เช่นเดียวกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ได้นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นลูกน้องเก่านายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง สมัยอยู่ธนาคารนครหลวงไทย

ขณะที่บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ล่าสุดก็ได้ตัวเอ็มดีคนใหม่คือ “พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” อดีตผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งจะเข้ามารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้ ครม.เมื่อ 18 ธันวาคม 2561 มีมติแต่งตั้งประธานและกรรมการธนาคารออมสินชุดใหม่ 12 คน โดยตั้งนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธาน รวมถึงเห็นชอบแต่งตั้ง พ.ต.อ.บุญส่ง จันทร์ศรี เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ หลังจากสรรหามาเป็นปี

ทั้งหมดนี้คือภาวะฝุ่นตลบในช่วงที่ปี่กลองเลือกตั้งกำลังรัว เพราะคงไม่มีใครรู้ว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะออกมาเป็นอย่างไรนั่นเอง