ขอแสดงความนับถือ/ประจำวันที่ 8-14 ก.พ. 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

เนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้ประสานงานสื่อสารองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ส่งใบแจ้งข่าว

ย้ำปรากฏ #SaveHakeem

มายัง “มติชนสุดสัปดาห์”

เป็นคำเรียกร้องของแคตเธอรีน เกอร์สัน นักรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เรียกร้องให้ปกป้อง “ฮาคีม อาลี อัล อาไรบี” นักฟุตบอลบาห์เรน

 

“…ทางการไทยควรยุติกระบวนการใดๆ ที่เป็นผลมาจากคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ฮาคีมเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการทรมานในบาห์เรน และครอบครัวของเขายังถูกประหัตประหารต่อไปที่นั่น

นอกจากนั้น ฮาคีมและภรรยาก็ยังได้รับที่พักพิงในออสเตรเลียแล้ว

เขาไม่ควรถูกกักตัวแม้แต่อีกเพียงวันเดียว และควรได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านที่เมลเบิร์นทันที

รัฐบาลไทยควรตระหนักว่า แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวของบาห์เรนคือการจับตัวฮาคีมมาลงโทษ

เพราะการที่เขาออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสงบ

และหากถูกส่งตัวกลับไปบาห์เรน

ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่เขาจะถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม

ถูกทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้าย

ทั้งนี้ ตำรวจสากลทำถูกต้องแล้วที่ได้ยกเลิก “หมายแดง” เพื่อจับตัวฮาคีม

เนื่องจากเป็นการออกหมายที่ขัดกับนโยบายคุ้มครองผู้ลี้ภัยของหน่วยงาน

กรณีนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลก

ทำให้คนทั้งโลกต้องตื่นตระหนก เช่นเดียวกับกรณีราฮาฟ โมฮัมเหม็ด ผู้ลี้ภัยจากซาอุดีอาระเบีย

ทางการไทยมีโอกาสอีกครั้งที่จะแสดงเจตจำนงเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย

โดยการปล่อยตัวฮาคีม และไม่ปฏิบัติตามคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของบาห์เรน

เนื่องจากการปฏิบัติตามคำขอเช่นนี้ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน…”

 

แม้ฟีฟ่าจะมีจุดยืน “ฟุตบอลเหนือการเมือง” โดยแจ่มชัด

แต่กรณีนี้ ฟีฟ่านี้มีท่าทีสอดคล้องแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไทยต้องหาทางออกให้ดี

เพราะอาจจะบานปลาย ดั่งบทความพิเศษของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ที่ว่าไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

“ทำไมโลกคว่ำบาตรไทยเรื่องรัฐบาล ส่งนักบอลบาห์เรนไปตาย”

และ “ความหนักใจของไทยกับกรณีฮาคีม อัล อาไรบี’ ในคอลัมน์ “เขย่าสนาม”

อ่านแล้วจะรู้ว่าทำไมเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก

ขณะเดียวกันไม่ควรพลาด

“กาตาร์แชมป์เอเชียท่ามกลางความขัดแย้งด้านการเมืองโลกอาหรับ” ของอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ที่หน้า 29

เข้มข้น-ดราม่าไม่แพ้กัน

 

อนึ่ง ระหว่างนั่งจัดระเบียบตะกร้าจดหมาย

ไปรษณียบัตร ฉบับที่ถ่ายลงให้อ่าน โผล่ออกมาให้เห็น

ส่งมาตั้งแต่ปี 2014 เลียนแบบการทายบอลโลก ด้วยการทายการเมืองไทย

เลยเอามาให้พิจารณา พอได้อารมณ์ขัน

ย้ำว่า เป็นการทายเมื่อปี 2014

ส่วนปี 2019 ผลอาจไม่เป็นอย่างที่ทาย

“ทหารบก” อาจเป็นนักเตะยอดเยี่ยม เพราะถอยเข้าไปเตะในกรมกอง

ประชาธิปัตย์อาจไม่ใช่พรรคต่ำร้อยอย่างที่ถูกสบประมาท

อำมาตย์ อาจยังอยู่

แต่ผลทายคู่ชิง ประชาธิปไตย ชนะ เผด็จการ นั้น

อยากเชื่อตามคำทายชิปเป้งเลย (ฮา)