จัตวา กลิ่นสุนทร : “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”- การก่อเกิด 3 ขุนพล “หนังสือพิมพ์ประชาชาติ”

หนังสือรายสัปดาห์ นโยบาย “การเมือง-เศรษฐกิจ” ซึ่งบรรจุเนื้อหาประกอบอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากตามรูปแบบของนิตยสารรายสัปดาห์ในประเทศนี้ เมื่อหลายทศวรรษมีไม่กี่ฉบับ

“สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เมื่อกว่า 40 ปีก่อนจึงมองดูแปลกใหม่ แตกต่างไปจากหนังสือรายสัปดาห์การเมืองขนาดแปดหน้ายกเล็กๆ ซึ่งเน้นหนักการวิเคราะห์เจาะลึกการเมืองเป็นนโยบายหลักเพียงอย่างเดียว

คอลัมน์ “ศิลปะ” ในหนังสือรายสัปดาห์ขณะนั้นคิดกันว่าอาจไม่มีนักอ่านให้ความสนใจสักเท่าไร ทั้งการเรียนการสอนศิลปะก็ยังไม่ได้ขยายขอบเขตกว้างขวางเป็นที่นิยมไปเกือบทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศดังเช่นปัจจุบัน

แต่กลายเป็นตรงกันข้ามเพราะคอลัมน์นี้ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านดีมาก

ยิ่งกว่านั้นนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” ได้กลายเป็นสนามของนักเขียนคอลัมน์ศิลปะ ซึ่งเสนอความเคลื่อนไหวของศิลปิน การศึกษาศิลปะร่วมสมัย

รวมทั้งมีการวิจารณ์ผลงานศิลปะกันบ่อยครั้งขึ้น

จนอาจพูดได้ว่าสนามแห่งนี้ทำให้เกิดเขียนคอลัมน์ศิลปะขึ้นมาไม่น้อย

 

คอลัมน์ “หมอดู” ทำนายทายทักเรื่องของดวงชะตา ซึ่งท่าน (อาจารย์) สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ (หมอทรัพย์ สวนพลู) สร้างความแปลกใหม่ในสำนวนชวนติดตามในระดับแนวหน้า รวมทั้งความแม่นยำถูกต้องโดนใจเสมอๆ

คอลัมน์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผลักให้ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ในรูปแบบใหม่ขณะนั้นขยับยอดจำหน่ายขึ้นไปเรื่อยๆ กับราคาหน้าปกเพียง 4 บาท

ถึงตรงนี้คงต้องย้อนเวลาไปสักใกล้ๆ 50 ปีเพื่อขอบพระคุณสำหรับคอลัมน์ “ดวงใคร ดวงมัน” โดย “หมอทรัพย์ สวนพลู” ซึ่งมีที่มาที่ไปทั้งชื่อคอลัมน์ และนามปากกาล้วนเป็นฝีมือท่าน (เจ้าสัวช้าง) ขรรค์ชัย บุนปาน หรือ “อาจารย์ช้าง” ของค่าย “มติชน” ทั้งระบบเป็นคนตั้งให้เพราะเป็นผู้เชื้อเชิญชักนำผู้อาวุโสเข้าสู่ “สยามรัฐ”

ดังที่บรรณาธิการได้บอกล่าวไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนว่า ทั้งท่านเสถียร จันทิมาธร ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านขรรค์ชัย บุนปาน ล้วนผ่าน “สถาบันสยามรัฐ” มาทั้งสิ้น

ปี พ.ศ.2514-2515 (เจ้าสัวช้าง) ขรรค์ชัย บุนปาน แวะมาจอดป้ายนั่งทำงานอยู่ริมถนนราชดำเนินประเดี๋ยวหนึ่ง โดยปล่อยให้สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินตามความรู้สึกตัวเองไปยังสหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับมาพร้อมหนังสือ “เมด อิน ยูเอสเอ” (MADE IN USA) ในท่วงทำนองไม่ค่อยจะแตกต่างจาก “พญาอินทรีแห่งสวนอักษร” (ท่านพี่ปุ๊) “รงค์ วงษ์สวรรค์

หลังจากนั้นทั้ง 3 ท่าน “เสถียร-สุจิตต์-ขรรค์ชัย” จึงลาจากหนังสือพิมพ์แห่งตำนานริมถนนราชดำเนินเพื่อไปก่อร่างสร้างหนังสือพิมพ์รายวัน “ประชาชาติ” ตามความฝันของพวกเขา

“ประชาชาติรายวัน” ร่วงหล่นลงไปพร้อมกับ “เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519” ก่อนที่ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” จะได้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดังกล่าว

 

ย้อนเวลา ย้อนเหตุการณ์อีกสักเล็กน้อยคงจะไม่ว่าอะไร เพราะตัวละครหลายท่านได้เสียชีวิตไปพอสมควร บังเอิญเกิดมีความจำดีขึ้นมาได้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลัง “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เข้ายึดอำนาจ มีการตั้งรัฐบาลเรียบร้อย ท่าน “สมัคร สุนทรเวช” (อดีตนายกรัฐมนตรี) (เสียชีวิต) ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ท่านออกคำสั่งเรียกหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไปพบพูดคุย ก่อนจะให้เปิดดำเนินการต่อไปตามแบบฉบับของการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ในประเทศไทยที่จะต้องควบคุมสื่อมวลชน

จำได้ว่าเข้าไปพบท่านพร้อมกับบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เวลานั้นยังมีขนาดแท็บลอยด์ (Tabloid Size) แต่ไม่ได้พูดคุยกับ “ท่านรัฐมนตรี” กลับได้พบคุณ “ประหยัด ศ.นาคะนาท” (อดีต) บรรณาธิการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ยุคแรกๆ ไปร่วมทีมกับเขาด้วย ก็เลยงงๆ เพราะเขาเป็นคนในแวดวงหนังสือพิมพ์ด้วยกัน

ด้วยทีมงานอันกระตือรือร้น ตั้งอกตั้งใจมุ่งมั่นช่วยกันปั้น “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ร่วมกับคอลัมนิสต์แขนงอื่นๆ จากหลายมุมของสังคมพร้อมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มืออาชีพของ “สยามรัฐรายวัน” โดยมีทีมที่ปรึกษาอาวุโสระดับครู อาจารย์ทั้งหลาย “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” จึงดีวันดีคืนไต่เต้าขึ้นเป็นอันดับต้นๆ สำหรับนิตยสารแนวทางดังที่กล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุว่าหนังสือพิมพ์แนวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรายวัน รายสัปดาห์ ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าของกิจการในการลงโฆษณา เพราะเขาไม่คิดว่าจะสามารถขายสินค้าให้ได้ ขณะเดียวกันก็พยายามหลบเลี่ยงเรื่องการเมืองด้วย จึงต้องพึ่งพาอาศัยราคาขายหนังสือเป็นด้านหลัก แต่ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้

 

ย้อนเวลาพูดถึงอดีตอีกแต่ดังที่บอกแล้วว่าไม่ได้เรียงลำดับเวลาเคร่งครัด นึกถึงบรรยากาศเมื่อกว่า 40 ปีกับหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ริมถนนราชดำเนินตั้งแต่วันก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คิดถึง “อัศศิริ ธรรมโชติ” (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งได้กล่าวบ้างแล้วเมื่อฉบับก่อนถึงเรื่องสั้น ชื่อ “ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของเขาที่ได้รับรางวัล “ซีไรต์” (S.E.A. WRITE AWARD) ประจำปี พ.ศ.2524

ทีมงาน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ได้คิดวางแผนเมื่อจะทำการปรับปรุงแล้วว่าให้เขาเขียน “เรื่องสั้น” เป็นคนแรกของฉบับ “ปฐมฤกษ์” ที่ได้เปลี่ยนแปลงใหม่

พร้อมทั้งตามหา “พิจารณ์ ตังคไพศาล” มือการ์ตูนเพื่อนจากคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร รุ่นต้นๆ มาเขียนภาพประกอบ

และในเวลาต่อมาจึงยกหน้าที่บรรณาธิการ “เรื่องสั้น” ให้กับอัศศิริ เพื่อคัดเอาเรื่องของนักเขียนจากภายนอกมาลงตีพิมพ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ดำเนินรอยตามอาวุโสระดับมืออาชีพรุ่นเก่าก่อน สืบทอดเจตนารมณ์ยึดแนวนโยบายนิตยสารฉบับเก่งเก่าแก่นี้ไว้

“อัศศิริ ธรรมโชติ” มีส่วนช่วยสร้างนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดบนถนนหนังสือจำนวนไม่น้อย อาจเรียกได้ว่า “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เป็นสนามแจ้งเกิดนักเขียนเรื่องสั้น 2 ยุค ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497-2514 และหลังการปรับปรุงเปลี่ยนโฉม พ.ศ.2520-2530—

 

อยากบอกต่ออีกแค่นิดเดียวว่าผมน่าจะมีส่วนในการสร้างนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน กวี ท่านนี้ เพราะมองเห็นความเป็นศิลปินซุกซ่อนอยู่ในตัวเขามาตั้งแต่ได้พบกันวันแรกเมื่อเพื่อนรักของผมซึ่งได้เข้าไปเรียนพร้อมกับเขาจึงเป็นเพื่อนกัน ได้นัดหมายนำพามาแนะนำเพื่อให้ช่วยปูทางเข้าสู่ “สยามรัฐ” เพราะรักชอบพอสื่อฉบับนี้ และศรัทธาเจ้าของผู้ก่อตั้งคือ ท่านศาสตราจารย์ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช”

เป็นบรรณาธิการบริหาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” อยู่ถึง 10 ปีเต็มๆ จึงได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายมาเป็น “บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา “สยามรัฐรายวัน”

ถือโอกาสบอกกล่าวเสียเลยในครั้งนี้ทั้งที่ไม่เคยคิดจะป่าวประกาศโดยปล่อยให้ได้รับรู้รับทราบกันเองตลอดมาว่าได้ทุ่มเทสร้างนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ที่กำลังถูกปล่อยทิ้งให้ลืมเลือนกันไปก่อนหน้านั้นให้กลับมาได้รับความนิยมโดยดำรงจิตวิญญาณ ยึดมั่นนโยบายหลักๆ ของผู้ก่อตั้งในยุคแรกๆ เอาไว้ พร้อมยืนหยัดอยู่ได้ด้วยราคาจำหน่ายของยอดการพิมพ์ที่สูงพอประมาณ

ขณะเดียวกันนิตยสารรายสัปดาห์ในแนวทางเดียวกัน ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ อาจยึดแนวนโยบายเป็นแบบอย่างไปบ้างก็ย่อมรู้เห็นกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคอลัมน์ “ศิลปะ” และ “ทำนายดวงชะตา”

ปล่อยมือจาก “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ไว้ให้กับทีมงานซึ่งได้คัดเข้ามาร่วมงานด้วยตัวเอง โดยลูกน้องเก่าซึ่งสนิทสนมกันมากแนะนำฝากฝังมาให้ดำเนินงานสืบทอดต่อไป ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร

หงุดหงิดอยู่บ้างในบางครั้งกับแนวทาง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” หลังเดินจากมา ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุจนผมต้องลาจาก “สยามรัฐ” ในอีก 4 ปีให้หลัง

แต่ยังได้กลับไปเยือน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” อีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี