บทวิเคราะห์ : นักธุรกิจผวารัฐบาลใหม่ไม่นิ่ง wait and see ชะลอลงทุนใหญ่ 

ทั้งความยากของการได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ เกณฑ์การนับคะแนนหลังเลือกตั้ง ครั้งประวัติศาสตร์ ในรอบ 8 ปี และที่มาของ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30 นับว่าซับซ้อน-ซ่อนกล

ที่เคยลุ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะกระโดดลงสู่สนามการเมือง ภายใต้ “ระบบบัญชีรายชื่อ” พรรคการเมือง คัมแบ๊ก-ต่อวาระเป็นนายกรัฐมนตรีดับเบิลสมัย ดูเหมือนจะต้องรอเทคนิคปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย

ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ “พล.อ.ประยุทธ์” สมารถดำรงสถานะ 3 หัว สวมทั้งหมวกหัวหน้า คสช.-นายกรัฐมนตรี-ผู้สมัครว่าที่นายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ ได้ในเวลาเดียวกัน

การคาดการณ์ทำนายผลของนักวิจัยข้อมูลการเมือง ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าพรรคไหนจะได้ชัยชนะเด็ดขาด ตรงกันข้าม กลับวิเคราะห์เฉพาะปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ ในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล เงื่อนปมและกับดักหลังการเลือกตั้ง จึงยังเป็นที่ “คาใจ” ของเหล่านักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย

 

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ในวันที่ 24 มีนาคม คาดว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 45 วัน คือราวปลายเดือนเมษายน และรับรองผลการเลือกตั้ง 95% ภายใน 9 พฤษภาคม

จึงเป็นที่คาดหมายไทม์ไลน์การเลือกประธานรัฐสภา, เลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไว้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง หลังเดือนมิถุนายน ประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ และแม้ว่ามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในช่วงหลังไตรมาส 2 ไปแล้ว ก็ยังต้องลุ้นต่อว่า จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย-หรือรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ สุ่มเสี่ยงต่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างยิ่ง

นักธุรกิจขาใหญ่ ที่กำลังเข้าด้าย-เข้าเข็ม กับสัมปทานโครงการนับแสนล้าน อย่างนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) คาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะไม่เปลี่ยนแปลงเมนูลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ โครงการการคมนาคมขนส่ง รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน มอเตอร์เวย์

“อะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ถูกต้องเสีย ต้องยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าคำราม

“ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ จะได้รับการผลักดัน บีทีเอสพร้อมจะลงประมูลทุกโครงการ”

ประสานเสียงกับนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ที่เห็นว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอาจจะมีความล่าช้าของโครงการไปบ้าง แต่ไม่น่าจะมากนัก เชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐจะต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าทางคู่ หรือโครงการในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

เซ็กเตอร์ที่วิเคราะห์ขาด ไปไกลถึงการจัดตั้งรัฐบาล คือกลุ่มธุรกิจการเงิน ที่ฟันธงว่าหลังเลือกตั้งจะได้ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย และเป็นรัฐบาลผสม”

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) พยากรณ์ว่า “ต้องติดตามดูเศรษฐกิจในช่วงหลังเลือกตั้ง กลไกการเลือกตั้งแบบใหม่ ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะได้รัฐบาลเสียงข้างมาก ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลอาจต้องการพรรคขนาดกลางเข้าร่วม ถ้าขั้วเดิมก็สานต่อง่าย แต่ถ้าขั้วใหม่อาจเห็นนโยบายใหม่”

ทุนอุตสาหกรรม “เจ้าบุญทุ่ม” ในค่ายรถยนต์ ที่มีเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุนปีละนับแสนล้าน มีทั้งกุมขมับ-และลุ้นตัวโก่ง

โดยตัวแทนจากหอการค้าญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า “สิ่งที่นักลงทุนกังวล นอกจากความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังเป็นห่วงนโยบายใหม่ที่ออกมา ซึ่งรัฐบาลดำเนินการโดยที่ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือถูกสอบถามความคิดเห็นก่อน”

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดหวังว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง ในฐานะนักลงทุนคาดหวังที่จะเห็นความสงบเรียบร้อย รวมถึงความต่อเนื่องของนโยบายที่ดีๆ ต่อไป

ที่ถือเป็นสายแข็งอยู่เมืองไทยมากว่า 141 ปี เปลี่ยนผ่านมาแล้ว 6 แผ่นดิน อย่างค่าย บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ฝ่าเหตุการณ์การเมืองหลายสถานการณ์ อยู่ในรัฐบาลไทยมาแล้ว 61 คณะ ทั้งก่อน-หลังประชาธิปไตย “นายฮาราลด์ ลิงค์” ประธานกลุ่มบริษัทบีกริมฯ ใจดีสู้เสือ บอกว่า

“เปลี่ยนผ่านทุกครั้งไม่ได้ทำให้แผนการดำเนินงานในแต่ละปีเปลี่ยนไปจากที่วางไว้ ไม่ได้ต้องทุ่มเงินลงทุนมากขึ้น หรือชะลอลงหรือปรับแผนอะไร ยังคงมั่นใจในประเทศไทย”

2 ค่ายยักษ์คอนซูเมอร์ ที่เกาะติดการเมือง ยัง wait and see และต้องลุ้นฝีมือรัฐบาลใหม่ ให้ดันกำลังซื้อต่อเนื่องจากการเลือกตั้ง

 

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ ระบุว่า หากได้รัฐบาลที่มีฝีมือเข้ามาบริหารงานก็จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะนี้ยังไม่มีแผนการลงทุนใหม่ๆ คาดว่าจะต้องรอดูทิศทางของเศรษฐกิจหลังจากการเลือกตั้ง ว่ากำลังซื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว บริษัทก็จะเดินหน้าปรับแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวต่อไป

ตามน้ำไปกับตัวแทนค่ายซีพี นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เห็นว่า ภาคเอกชนทุกรายต้องการที่มีผลต่อบรรยากาศของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ทั้งหมดนั้นล้วนสะท้อนภาพความไม่มั่นใจจากภาคธุรกิจ นักลงทุน

จนกว่าจะถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง เห็นหน้านายกรัฐมนตรีคนใหม่ ยักษ์ธุรกิจจึงจะวางใจเดินเครื่องขับเคลื่อนลงทุน…อีกครั้ง