ในประเทศ / เป็นนักการเมือง ได้อะไร มากกว่าที่คุณคิด?

ในประเทศ

เป็นนักการเมือง

ได้อะไร

มากกว่าที่คุณคิด?

 

หลังเผชิญคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 29 มกราคม ว่า หากตัดสินใจรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเลือกอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือไม่

คำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ

“มันต้องอยู่มั้ง ไม่มีอย่างอื่น ถ้าอยู่คือต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯ คนใน คนนอก วุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ”

แม้จะยังมีลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้

แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นความ “ชัดเจน” ที่สุดแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกทางเดินสู่การเมือง ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

ซึ่งก็คงแน่นอนว่าน่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ใช่พรรคอื่น

เมื่อเป็นเช่นนั้น

ก็เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ใกล้จะเป็นนักการเมือง 100% แล้ว

 

ความชัดเจนดังกล่าว น่าจะสยบข่าวลือต่างๆ นานาลงได้

และทำให้แกนนำในพรรค พปชร.สบายใจขึ้น

เนื่องจากระยะหลังๆ มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังชั่งใจว่าจะเข้าสู่การเมืองทางใด

และมีการเริ่มพูดถึง “โมเดลนายกฯ คนนอก” หนาหูขึ้น

ด้วยประเมินว่า พรรค พปชร.อาจจะไม่ได้เสียง ส.ส.เพียงพอที่จะผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้

ทำให้จะต้องเลือกโมเดลนายกฯ คนนอก คือ ระดมเอาเสียงจากพรรคต่างๆ มาหนุนให้เข้าสู่อำนาจ

แม้จะเป็นงานหิน

แต่ก็จะทำให้ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นกลาง ไม่อิงอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

กระแสข่าวดังกล่าวแรงถึงขนาดที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรค พปชร.ต้องให้สัมภาษณ์ว่า

“แม้พรรคยังไม่มีมติทาบทามบุคคลใด แต่การลงพื้นที่เวทีใหญ่ที่ภาคเหนือ ได้สอบถามประชาชน พบว่าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ที่ผ่านมาอาจทำอะไรได้ไม่เต็มที่เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”

และว่า

หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบรับการทาบทามจาก พปชร.คงหาเสียงยาก และเป็นเรื่องใหญ่ที่ปรับตัวไม่ทัน เพราะตลอดการรณรงค์หาเสียงได้พูดถึงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพรรคเตรียมจะนำไปต่อยอดมาตลอด

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ

พรรค พปชร.ก็ยิ้มออก

และมั่นใจในเส้นทางการเมืองของพรรคมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ของพรรค ตามการเปิดเผย นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนสมาชิก พปชร. ระบุว่า หลังจากที่ 4 รัฐมนตรี คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ในวันที่ 29 มกราคม

วันเดียวกัน จะมีการประชุมกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก่อนที่จะนำรายชื่อผู้สมัครเสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้การรับรองในวันที่ 30 มกราคม

โดยที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค มีวาระสำคัญที่พิจารณาคือ

การรับรองรายชื่อผู้ที่จะลงสมัครแบบเขตและบัญชีรายชื่อ

การหาบุคคลที่เห็นสมควรเสนอให้เป็นนายกฯ

ทั้งนี้ จากการรวบรวมความเห็นของกรรมการสาขา ตัวแทนประจำจังหวัดและสมาชิกพรรค

มีการเสนอเข้ามา 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และนายอุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร.

จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเสนอทั้ง 3 รายชื่อ หรือแค่ 1-2 รายชื่อ

ทั้งนี้ หลังจากมีมติแล้วจะเข้าสู่กระบวนการทาบทาม

และส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์อย่างเป็นทางการ

แล้วแจ้งคณะกรรมการสมัครรับเลือกตั้งหลังหัวหน้าพรรคนำผู้สมัครระบบเขต เข้าไปสมัครรับเลือกตั้ง ในระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้

 

ในฟากผู้ถูกทาบทาม คือ พล.อ.ประยุทธ์นั้น

เจ้าตัวบอกว่า ต้องรอให้มีการมาเชิญก่อน เมื่อเชิญมาแล้วก็ต้องมีระยะเวลาที่จะต้องนำนโยบายของพรรคมาศึกษา ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะร่วมกับพรรคการเมือง ต้องดูหลายนโยบายว่ารับได้หรือไม่ ในเมื่อทำงานมาแล้ว 4-5 ปี พอจะรู้บ้างว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำได้หรือไม่ได้

ขณะเดียวกัน ต้องศึกษากฎหมายทุกตัวว่าอะไรทำได้ไม่ได้

“เมื่อเขามาเชิญผม ผมต้องพิจารณาอย่างที่ว่า และขอเวลาในการพิจารณา ว่าผมควรจะอยู่หรือไม่อยู่ ควรจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ถ้าทำต่อจะทำอะไร มากน้อยแค่ไหนอย่างไร มันมีเวลาให้ผมตัดสินใจ เพราะเขาบอกแล้วว่า ถ้าจะต้องมีการเสนอรายชื่อนายกฯ ในช่วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ ผมก็จะพิจารณาในช่วงนั้น จะรู้กันตอนนั้นว่าอยู่หรือไม่อยู่ อย่าเพิ่งเร่งรัดอะไรผมมากนักเลย รวมถึงเรื่องบทบาทของผม ได้มอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยไปหารือฝ่ายกฎหมาย อย่างคณะกรรมการกฤษฎีกาและหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เกิดความชัดเจน ไม่ว่าจะการเยี่ยมประชาชน การประชุม ครม.นอกสถานที่ แม้กระทั่งการพูดในวันศุกร์ ผมก็จะถามเขาหมดว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางการเมืองต่อไปในการทำผิดกฎหมาย ผมต้องรอบคอบต่อการตัดสินใจของผม” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ขณะเดียวกันก็ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า

1) จะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้ออก ก็ไม่ออก

2) จะไม่ลาออกจากหัวหน้า คสช. เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้อยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่

 

จุดยืนดังกล่าวเชื่อว่า จะเป็นการเปิดช่องให้มีการต้อนรับ “นักการเมือง” น้องใหม่ อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะถึง พล.อ.ประยุทธ์จะอ้างกฎหมาย ไม่ยอมออกจากนายกฯ และหัวหน้า คสช.

แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองคงไม่อาจยอมรับได้โดยง่าย

อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ถ้าประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งควรมีความชัดเจนว่า จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งไม่มีปัญหากับการดำรงตำแหน่งที่เป็นอยู่ เพราะการเลือกตั้งต้องยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจพิเศษ แต่จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์

พร้อมทั้งเตือนความจำว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจ ม.44 ปลด กกต.และชะลอการแบ่งเขตเลือกตั้งมาแล้ว

ดังนั้น จึงควรแสดงจุดยืนที่สร้างความเชื่อมั่น ว่าจะไม่มีการใช้อำนาจแทรกแซงการเลือกตั้งอีก

เช่นเดียวกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า แม้ว่า 4 รัฐมนตรีได้ลาออกไปแล้ว จากนี้ไปคงถึงคิว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออก เพื่อให้พรรคที่จะสนับสนุนได้เสนอชื่อ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องจริยธรรม แต่เกี่ยวไปถึงกฎหมายด้วย หากไม่ลาออก แล้วพรรคที่สนับสนุนนำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์หาเสียง จะเข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อในสถานะนายกฯ เพื่อไปเอื้อประโยชน์ทางการเมือง

คาดว่าประเด็นเหล่านี้จะเป็นประเด็นร้อนแรงบนเวทีหาเสียง

 

ไม่รวมถึงการต้องเริ่มวัดกึ๋นกับคู่ชิงนายกรัฐมนตรีจากพรรคอื่น

ซึ่งแน่นอนว่า เวทีแห่งการวัดความรู้ความสามารถนั้น เป็นเวทีที่อยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน

ไม่อาจใช้อำนาจพิเศษใดๆ เข้ามาแทรกแซง

หรือหากมีการแทรกแซง แน่นอนย่อมจะได้รับการตอบโต้ และวิจารณ์อย่างรุนแรงอย่างแน่นอน

ซึ่งก็มีคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาร่วม 5 ปี แต่ก็อยู่ในฐานะรัฐบาลจากการรัฐประหาร เมื่อต้องลดระดับลงมาในระนาบเดียวกับนักการเมืองทั่วไปแล้ว

อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น หากฝันเป็นจริง คือสามารถนำพาพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลและผลักดันตนเองขึ้นสู่นายกรัฐมนตรีสำเร็จ

แรงเสียดทานทางการเมืองย่อมจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบเท่าตัว

และเป็นแรงเสียดทานในวัฒนธรรมการเมืองแบบรัฐสภา ที่ไม่อาจชี้ให้ใครปิดปาก หรือนำไปปรับทัศนคติได้

 

ตลอดชีวิตราชการที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์

แน่วแน่กับการตอบคำถามและแสดงให้สังคมเห็นว่า

“การเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด”

อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวผ่านคุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในพระราชูปถัมภ์ฯ ที่เข้าพบนายกฯ เพื่อมอบดอกป๊อปปี้ เนื่องในวันทหารผ่านศึก 3 กุมภาพันธ์

ว่า

“ผมเป็นทหารมาก่อน แม้ว่าจะแก่แล้วก็ตาม แต่ใจก็ยังเป็นทหาร ขณะที่ทหารหลายคนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ แม้ไม่เสียชีวิตก็เป็นอาชีพเดียวที่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยง ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ จึงอยากให้ทุกคนช่วยอธิบายด้วย เพราะมีหลายคนบอกว่าไม่รู้มีทหารไว้ทำไม อย่าไปฟังใครบอกว่าไม่ต้องมีทหาร ถ้าไม่มีแล้วจะทำอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่การเมืองเต็มตัว

นอกจากจะต้องหาคำตอบให้สังคมแล้ว ยังต้องหาคำตอบให้ตนเองด้วยว่า

“การเป็นนักการเมือง ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด” หรือไม่

ชีวิตนักการเมืองของนายทหารที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หลัง 24 มีนาคม จึงน่าติดตามยิ่ง