E-DUANG : ลักษณะลื่นไหลของ”คำขาด”และ”เส้นตาย”

กรณี “ธรรมกาย”ได้นำเสนอคำที่น่าสนใจเข้าสู่การพิจารณาของสัง คมอย่างน้อยก็ 2 คำ
1 คือคำว่า “คำขาด”
1 คือคำว่า “เส้นตาย”
เห็นได้จากคำพูดไม่ว่าจะมาจาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไม่ว่าจะมาจาก พล.ต.อ.ศรี วราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.
หยิบหนังสือ”พจนานุกรม ฉบับมติชน”
พลิกไปหน้า 184 สดมภ์ที่ 1 บรรทัดที่ 8 หากนับจากด้านล่าง บรรทัดที่ 36 หากนับจากด้านบน
คำขาด น.คำกล่าวที่เด็ดเดี่ยว ข้อเสนอที่ห้ามต่อรอง
พลิกไปหน้า 884 สดมภ์ที่ 2 บรรทัดที่ 12 หากนับจากด้านล่าง
เส้นตาย น. เวลาที่กำหนดเป็นเด็ดขาด
ไม่ว่าจะเป็น “คำขาด” ไม่ว่าจะเป็น “เส้นตาย” แฝงความเฉียบขาด
ยากยิ่งจะแข็งขืน ต่อกร

กระนั้น หากติดตามกรณี”ธรรมกาย”อย่างต่อเนื่องก็จะสัมผัสได้ในลักษณะอันเรียกได้ว่า
ลื่นไหล
เพราะแท้จริงแล้ว ไม่ว่า “คำขาด” ไม่ว่า”เส้นตาย”อันออกมาจาก “ดีเอสไอ” หรือออกมาจาก”ตำรวจ”
มิได้เพิ่งเกิดขึ้น มิได้เป็นครั้งแรก
ตรงกันข้าม คำขาดต่อ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน
จากเมื่อเดือนมิถุนายนมาถึงเดือนธันวาคม เป็นเวลานานกว่า 6 เดือนแล้ว
คำนั้น”ขาด”ไปหลายครั้ง เส้นนั้น”ตาย”ไปหลายหน

สถานการณ์ล่าสุด อาการลื่นไหวของ “คำขาด” และของ”เส้นตาย”ก็ยังดำเนินอยู่
แรกรับรู้ว่าจะเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน
ต่อมา “คำขาด”และ”เส้นตาย”ก็เลื่อนไปอยู่ที่วันที่ 30 พฤศจิกายน
แต่เมื่อไม่เป็นจริงในวันที่ 30 พฤศจิกายน
“ดีเอสไอ”ยืนยันว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยภายในวันที่ 10 ธันวาคม
ขณะที่”ตำรวจ”ขีดกรอบภายใน”3 เดือน”
ความน่าสนใจก็คือ คนที่ยื่น”คำขาด”คนที่ขีด”เส้นตาย”ยังเป็น 2 เจ้าเก่าคนเดิม
1 คือ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
1 คือ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.
บางทีอาจต้อง “นิยาม”ความหมายของ “คำขาด”และ”เส้นตาย”กันใหม่