วิกฤติศตวรรษที่21 : สงครามและการเผชิญหน้าหลายแบบระหว่างจีน-สหรัฐ

วิกฤติประชาธิปไตย (40)

สงครามและการเผชิญหน้าหลายแบบระหว่างจีน-สหรัฐ

ในขณะนี้ได้เกิดสงครามและการเผชิญหน้าหลายแบบระหว่างจีน-สหรัฐ

ที่เป็นข่าวใหญ่และก่อความวิตกให้แก่ชาวโลกไม่น้อย ได้แก่ สงครามการค้า และการเผชิญหน้าทางทหารที่บริเวณทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

การเผชิญหน้านี้ยังได้ขยายตัวไปยังภูมิภาคอื่น ได้แก่ แอฟริกา ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจนถึงในไซเบอร์สเปซและอวกาศ

สงครามและการเผชิญหน้าดังกล่าว มีการวิเคราะห์กันว่าเบื้องลึกคือสงครามเทคโนโลยี การแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางเทคโนโลยี ซึ่งใครชนะก็จะเก็บชัยชนะในสงครามและการเผชิญหน้าเหล่านี้ในที่สุด

เรายังพบความขัดแย้งจีน-สหรัฐในมิติอื่น ได้แก่ การต่อสู้กันทางอุดมการณ์และการเป็นแบบอย่างของการพัฒนา ที่นับวันจะทวีความเข้มข้นขึ้น

โดยแต่ละฝ่ายพยายามสร้างตัวอย่างนวัตกรรม และโน้มน้าวให้ประชาชนของตนและประชาชาติอื่นถือปฏิบัติ

ในเรื่องที่น่าหวาดเสียวนี้ มีการตั้งคำถามจำนวนหนึ่ง เช่น สงครามและการเผชิญหน้านี้จะพัฒนาไปอย่างไร จะนำไปสู่สงครามใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ จะส่งผลกระทบต่อโลกและประเทศต่างๆ อย่างไร และใครจะชนะ ซึ่งคำตอบไม่ใช่ง่าย เพราะเรื่องมันมีความซับซ้อน

ประการแรก สงครามและการเผชิญหน้านี้เกิดขึ้นแบบไม่มีใครตั้งใจ สหรัฐไม่ได้คิดว่าการหันมาจูบปากเล่นไพ่จีนในสมัยนิกสันและสนับสนุนให้จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกจะทำให้จีนเติบโต จนกระทั่งกลายเป็นศัตรูคู่แข่งขันใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ ถ้าหากรู้ล่วงหน้าก็คงจะไม่ปฏิบัติเช่นนี้

จีนเองก็ไม่ได้คิดว่าการรุ่งเรืองอย่างสันติของตนจะก่อความเกรี้ยวกราดให้แก่สหรัฐได้ถึงเพียงนี้ และผู้นำสหรัฐเองถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ทำสงครามกับจีนที่มีประชากรกว่าพันล้าน

ส่วนจีนนั้นก็ไม่ได้คิดจะทำสงครามกับสหรัฐ สู้รักษาการได้เปรียบดุลการค้าไปเรื่อยๆ จะดีกว่ามาก

ดังนั้น มันจึงเป็นสงครามและการเผชิญหน้าที่ทั้งสองฝ่ายพยายามจำกัดวงให้อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ คล้ายกับละครไทยประเภท “ตบ-จูบ”

นั่นคือตบกันไปพักหนึ่งแล้วก็หันมาจูบปากเจรจากัน

แต่การควบคุมสงครามและความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ตบกันแรงไป จนหันมาจูบกันไม่ได้

ที่สำคัญกว่านั้นในประการต่อมาก็คือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในตัวระบบมันเอง นั่นคือการประกอบการในระบบทุนนิยมต้องการหากำไร และวิธีพื้นฐานคือการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและเทคนิคการบริหารเพื่อลดต้นทุน สร้างกำไร ได้เปรียบคู่แข่ง จนกระทั่งสามารถเข้าครอบงำตลาดได้

การพัฒนาดังกล่าวนำไปสู่กระบวนโลกาภิวัตน์ที่ไม่มั่นคง โดยในกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นคือทุนการเงินได้ก้าวขึ้นมาอยู่เหนือและแยกตัวจากทุนการผลิตหรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง สามารถสร้างสินค้าของตนเองขึ้นเพื่อหากำไรโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง ทั้งยังสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

ประการท้ายสุด การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดหย่อนและรวดเร็ว ก่อผลที่ไม่พึงประสงค์หลายประการ ได้แก่ การเร่งการผูกขาด เนื่องจากทุนใหญ่มีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีสูงกว่าทุนขนาดเล็กหลายเท่า

และถ้าทุนขนาดเล็กสามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าสตาร์ตอัพประสบความสำเร็จก็มักถูกซื้อกิจการไปรวมกับกลุ่มทุนใหญ่

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการขยายตัวของช่องว่าง ได้แก่ ช่องว่างระหว่างแรงงานมีฝีมือกับแรงงานไร้ฝีมือ ระหว่างผู้บริหารกับพนักงานทั่วไป

ที่สำคัญคือช่องว่างในเมืองใหญ่ ระหว่างคนรวยและคนจนในเมืองอย่างแก้ไขไม่ตก ช่องว่างที่ขยายขึ้นนี้เพิ่มความขัดแย้งเป็นสามเส้า นอกจากเป็นความขัดแย้งภายในหมู่ชนชั้นนำแล้ว ยังมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำและชาวรากหญ้าในประเทศต่างๆ ที่รุนแรง เกิดความปั่นป่วนแตกแยก รัฐล้มเหลว

อนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการโฆษณาเต็มที่ว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน แต่สร้างสิ่งของได้มากขึ้นนี้เป็นจริงในด้านหนึ่ง

แต่ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีได้เร่งการใช้ทรัพยากรและพลังงานมากจนเกิดมลพิษสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชากรแออัดแน่นหนา ต้นทุนของทรัพยากรและพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น เกิดการแข่งขันแย่งชิงกำไรผลประโยชน์และทรัพยากรทั้งภายในและระหว่างชาติรุนแรงขึ้น

สิ่งที่จำต้องนำมาประกอบการพิจารณาอีกประเด็นหนึ่งก็คือ จีน-สหรัฐไม่ใช่โลก

โลกยังประกอบด้วยชาติใหญ่อื่นๆ อีก ที่อยู่ในกลุ่ม 20 เป็นต้น และที่ไม่อยู่ ประเทศเหล่านี้ก็มีผลประโยชน์ของตนที่จะต้องรักษา

สหรัฐได้พยายามก้าวขึ้นเป็นเจ้าโลกแต่ประเทศเดียวและล้มเหลวไป

จีนก็ย่อมไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

เหล่านี้ทำให้สหรัฐและจีนจำต้องหาพันธมิตร และระมัดระวังไม่ให้ติดหล่มสงครามที่มีราคาแพง

จากที่กล่าวนี้จึงเห็นได้ว่า ด้านหนึ่ง สงครามและการเผชิญหน้าระหว่างจีน-สหรัฐ ไม่อาจสงบลงไปง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนใจหรือการเจรจาของผู้นำทั้งสองประเทศ เช่น การหย่าศึกการค้าเปิดการเจรจาเพื่อทำความตกลงทางการค้าการลงทุนใหม่ที่เป็นข่าวอยู่ ถึงแม้จะประสบความสำเร็จแต่ก็จะไม่ยั่งยืน ไม่นานก็หันมาตบตีกันอีกจนได้

ในอีกด้านหนึ่ง ชี้ว่าความขัดแย้งนี้จำต้องขยายวงไปในทุกมิติ ทั้งอำนาจแข็ง อำนาจอ่อน และอำนาจฉลาด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดว่าอารยธรรมมนุษย์จะก้าวไปด้านไหนด้วย

Photo by SAUL LOEB / AFP

สงครามเทคโนโลยีจีน-สหรัฐ

สงครามเทคโนโลยีจีน-สหรัฐ เป็นสงครามที่ไม่ได้ประกาศเหมือนกับสงครามการค้า แต่มีความสำคัญสูงยิ่ง

แก่นเนื้อหาเป็นสงครามการผลิต การลงทุน การปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ สหรัฐ-ตะวันตกเป็นผู้เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ 1.0 มาก่อน ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งที่เป็นกายภาพ สถาบันและทางความรู้วิทยาการจนแข็งแรง อยู่ในฝ่ายเหนือกว่า

ส่วนจีนที่มาทีหลัง แต่ก็มีข้อได้เปรียบหลายประการ

ข้อแรกได้แก่ การเป็นประเทศใหญ่ มีทรัพยากรและประชากรมาก และมีอาวุธนิวเคลียร์ สามารถดำเนินนโยบายการพัฒนาอย่างเป็นอิสระจากสหรัฐและตะวันตกได้โดยไม่ถูกแทรกแซงเปลี่ยนระบอบหรือปิดล้อมเหมือนในประเทศอื่น อย่างเช่น คิวบา อินโดนีเซีย อิรัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเริ่มต้นอุตสาหกรรมใหม่ของตนโดยอาศัยตลาดอันกว้างใหญ่ของตนเป็นฐาน

ข้อต่อมามีความได้เปรียบที่สามารถกระโจนข้ามจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมขั้นที่สองเป็นขั้นที่สามและสี่ได้

ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์ ไม่ต้องวางคู่สายให้สิ้นเปลืองยุ่งยาก กระโดดมาสู่โทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟนได้เลย

จีนกระโดดสู่ยุคอินเตอร์เน็ตตามหลังตะวันตกไม่นาน

ปัจจุบันเป็นชาติที่มีผู้ใช้สมาร์ตโฟนและอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก

ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเร็วกว่าสหรัฐเสียอีก

มีข้อมูลว่าปี 2016 ในสหรัฐมีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือสูง 112 พันล้านดอลลาร์ แต่ในจีนการชำระเงินแบบเดียวกันมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ (ดูบทความของ Alyssa Abkowitz ชื่อ Cashless Society Has Arrived- Only It”s in China ใน wsj.com 04.01.2018)

ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของการมาทีหลังอีกข้อหนึ่งก็คือ จีนสามารถเก็บรับบทเรียนทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดจากการปฏิบัติของชาติต่างๆ ก่อนหน้านั้นได้มาก ทำให้ประหยัดเวลาและทุ่นค่าใช้จ่ายในการพัฒนา

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่า จีนมักกล่าวถึง “ลักษณะเฉพาะของจีน” ที่ต่างกับของชาติอื่น นั่นเป็นเพียงด้านหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่จีนคิดค้นและปฏิบัตินั้นมีลักษณะเป็นสากล เก็บรับวิทยาการนวัตกรรมจากชาติต่างๆ ทั่วโลก

ความได้เปรียบของการมาทีหลังและพัฒนาน้อยกว่า ที่ควรกล่าวถึงข้อสุดท้ายก็คือ ประเทศพัฒนาภายหลังมีช่องทางที่จะเติบโตอีกมาก ต่างกับประเทศที่พัฒนามาก่อนและกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ถึงหรือใกล้ถึงขีดสูงสุด มีช่วงที่จะพัฒนาต่อไปได้น้อย และทำได้ยากขึ้น

ดังจะเห็นว่าในปัจจุบันประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายอยู่ในกระบวนการการเติบโต เป็นเหมือนหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอัตราการเติบโตต่ำอยู่ในภาวะชะงักงัน เรื่องอะไรก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น คนอพยพ ก็ทำให้ผู้คนทะเลาะเบาะแว้ง ถึงขั้นจะทำให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยง

จากประวัติความเป็นมา จีนเคยเจริญขึ้นถึงขีดสูงสุดมาแล้วในสมัยโบราณ ขณะที่ตะวันตกยัง “ป่าเถื่อน” อยู่ เทคโนโลยีสำคัญ 4 อย่างที่ถือว่าทำให้ยุโรปก้าวสู่สมัยใหม่ได้แก่ การทำกระดาษ การพิมพ์ ดินปืน และเข็มทิศ ก็ล้วนได้มาจากจีนโดยผ่านการค้าตามเส้นทางสายไหม

เทคโนโลยีเหล่านี้จีนพยายามแหนหวงแต่ก็หลุดลอดไปจนได้ เช่น เทคนิคการผลิตเส้นไหม จีนได้ค้นพบมาหลายพันปีแล้วจนกระทั่งแต่งเป็นตำนานบอกเล่าไว้

แต่ในปี ค.ศ.300 เทคนิคนี้ก็รู้ไปถึงญี่ปุ่น และราวปี 522 ความลับรู้ไปถึงตะวันตกโดยจักรพรรดิไบเซนไทน์ จ้างวานนักบวชลักลอบนำไข่ตัวไหมกลับไป

เป็นที่สังเกตว่าการพัฒนาเทคโนโลยีโบราณของจีนที่ยังใช้เครื่องกลและแรงงานคน-สัตว์เป็นสำคัญนั้นดำเนินไปในความคิดชี้นำเรื่องความสมดุล (เช่น ระหว่างหยินและหยาง) เป็นความสมดุลระหว่างฟ้ากับดิน ครอบครัว-กงสีกับบุคคล บรรพชนกับอนุชน จักรพรรดิกับขุนนาง-ประชาชน โดยส่วนแรกเป็นใหญ่และดูแลปกป้องส่วนหลัง ซึ่งประกอบเป็นคติความเชื่อและพิธีกรรมจำนวนมากตามลัทธิขงจื๊อและเต๋า

การค้นพบในสาขาวิทยาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การแพทย์และเทคโนโลยีต่างๆ ต้องช่วยรักษาสมดุลนี้ไว้ไม่ใช่ทำลาย

การค้นพบดินปืนของจีนก็เริ่มจากความต้องการหายาอายุวัฒนะ เพราะว่าดินประสิวที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของดินปืน จีนโบราณใช้เป็นยารักษาโรคหลายอย่างและช่วยบำรุงสุขภาพ

เมื่อค้นพบแล้วก็นำมาใช้เพื่อจุดพลุและประทัดเพื่อการเฉลิมฉลองต่างๆ ภายหลังจึงนำไปใช้ในการทหาร

หรือการค้นพบเข็มทิศของจีน ครั้งแรกนำมาใช้เกี่ยวกับการวางตำแหน่งสิ่งก่อสร้าง เพื่อให้มีสุขภาพและโชคดี

ภายหลังจึงนำมาใช้เพื่อการเดินเรือ

จักรพรรดิจิ๋นซีผู้รวมประเทศจีนเป็นอันหนึ่งเดียวกันเป็นครั้งแรก ต้องการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทำลายประเพณีเก่า ถึงขั้นให้มีการ “เผาตำรา ฝังบัณฑิต” ในสำนักขงจื๊อ (ราว 210 ก่อนคริสตกาล) ครั้งใหญ่ แต่ลัทธิขงจื๊อก็กลับมาครองใจชาวจีนอีกเป็นพันปี

สำหรับตะวันตก มีความคิดชี้นำไปอย่างทางหนึ่ง ได้แก่ การเน้นปัจเจกชน การเป็นผู้พิชิต ผู้ครอบครอง สั่งสมอำนาจและความมั่งคั่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้สร้างยุคสมัยใหม่โดยพัฒนาเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีหลายครั้งด้วยกันจนเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ และ “อินเตอร์เน็ตเชื่อมทุกสิ่ง”

ในปัจจุบันเทคโนโลยีของตะวันตกมีลักษณะทำลายล้างในตัวเอง นั่นคือเทคโนโลยีใหม่เข้าทำลายเทคโนโลยีเก่าที่มีประสิทธิภาพสู้ไม่ได้ และก็ทำให้ค่านิยมความเชื่อและการปฏิบัติที่เนื่องด้วยเทคโนโลยีเก่านั้นถูกทำลายไปด้วย นักวิชาการตะวันตกบางคนเรียกว่า “การทำลายเชิงสร้างสรรค์”

พบว่าการทำลายเชิงสร้างสรรค์นี้มีความเร็วและรุนแรงกว่าเดิมเป็นอันมาก เช่น เครือข่ายไร้สายที่พัฒนาอย่างรวดเร็วหลายรุ่น ขณะที่ใช้ 4 จีกันอยู่ทั่วไป ก็เตรียมวางตลาดรุ่น 5 จี และรุ่น 5 จี ยังไม่ทันวางตลาดดี บริษัทด้านนี้ก็กำลังพัฒนารุ่น 6 จีกันอยู่ นิยมเรียกว่า “เทคโนโลยีพลิกโลก” (Disruptive Technology)

เมื่อจีนได้ประจักษ์ว่าเทคโนโลยีของตนสู้ของตะวันตกไม่ได้ ก็รับเทคโนโลยีตะวันตกมาพัฒนาประเทศ

ประธานเหมาแม้ส่วนตัวจะไม่ชอบลัทธิขงจื๊อที่เน้นระเบียบและความสมดุล และต้องการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทำลายสิ่งเก่า

แต่ก็ยังยึดหลักความสมดุล ให้การพัฒนาเมืองกับชนบท อุตสาหกรรมและการเกษตร บริเวณชายฝั่งทะเล และดินแดนที่ลึกเข้าไปไม่เกิดช่องว่างห่างกันเกินไป

จนกระทั่งนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้นำรุ่นหลังว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงเอียงซ้าย และลัทธิเฉลี่ยสัมบูรณ์

เข้าถึงยุคเติ้งเสี่ยวผิง การปฏิรูปผูกพันกับตลาดโลกมากขึ้น “ต้องยอมให้บางพื้นที่พัฒนาก่อน” ก็พยายามรักษาสมดุลดังกล่าวไว้ ถึงสมัยสีจิ้นผิง ประเทศจีนมีการพัฒนาไปมากจนเป็นมหาอำนาจโลก แต่ความไม่สมดุลและช่องว่างยิ่งรุนแรง

สีได้เน้นหลักความสมดุลหลายประการด้วยกัน ได้แก่ ความสมดุลและระหว่างทุนการเงินกับทุนอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ให้ทุนการเงินขึ้นมาอยู่เหนือ หากแต่สนับสนุนทุนอุตสาหกรรม ความสมดุลระหว่างการพัฒนากับระบบนิเวศ และความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า “ชุมชนแห่งการมีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” (เรียกสั้นๆ ว่าอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ)

จีนคิดว่าการสร้างความสมดุลเป็นจุดแข็งสำคัญของเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจรัฐที่จะนำพาประเทศและจูงใจชาวโลกได้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามเทคโนโลยีในบางด้านที่สำคัญ และสงครามการค้าการเงินระหว่างจีน-สหรัฐ