สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปการศึกษา ฉบับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะสำเร็จหรือไม่?

สมหมาย ปาริจฉัตต์

นวัตกรรมการศึกษายุคปฏิรูป

ผมคลี่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ยกร่างเสนอรัฐบาลมาตามลำดับ หยิบเนื้อในมาเล่าสู่กันฟัง ยังไม่ทันจบครบทุกประเด็น

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ธันวาคม 2561 มีมติรับทราบร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่) พ.ศ. … สาระสำคัญเป็นการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยควบรวมส่วนราชการต่างๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เข้าด้วยกัน เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกระทรวงดังกล่าว

วันเดียวกันนั้นมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อีก 10 ฉบับ ที่สำคัญได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ฉบับใหม่ที่จะมาใช้แทนฉบับ พ.ศ.2542 และร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …

ร่างกฎหมาย 11 ฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. … ถูกนำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในอีกสองวันต่อมาคือวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมให้ความเห็นชอบทุกฉบับ

ข้ามปีใหม่มาถึงวันที่ 17 มกราคม 2562 ร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ถึงเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯ ลงมติให้ความเห็นชอบแล้วเช่นกัน

 

ครับ เหตุเพราะกฎหมายการศึกษาเข้าสภาทีเดียวทั้งพวงเหล่านี้จะส่งผลต่อการบริหารการศึกษาไทยขนานใหญ่อีกครั้ง จึงจำเป็นต้องบันทึกไว้ และนำมาบอกกล่าวทุกฝ่ายให้ร่วมกันติดตาม

ว่าการออกแบบโครงสร้างการบริหารอุดมศึกษาโมเดลใหม่ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษาฯ รวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เด็กไทยเป็นนักสร้างนวัตกรรม นำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมจะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยบรรลุเป้าหมาย ว่ากันทำนองนั้น ผลการปฏิบัติจริงจะเป็นเช่นไร

แต่กว่าจะถึงวันนั้น ที่แน่ๆ เกิดองค์กร หน่วยงานและกรรมการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นก่อนแล้ว

ระดับชาติสูงสุดจะมี คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการการอุดมศึกษา คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และกรรมการระดับรองเฉพาะด้านลงไปอีกหลายคณะ

ที่สำคัญ จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอีกเป็นการเฉพาะ ทำหน้าที่เพิ่มแรงผลักดันให้ความหวังเป็นจริงให้ได้อีกต่างหาก

 

การเกิดขึ้นของกลไก องค์กรใหม่ๆ เหล่านี้ มองมุมบวกก็ว่าเป็นการร่วมด้วยช่วยกันให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

แต่มองอีกด้าน เป็นนวัตกรรมการสร้างองค์กร เกิดแท่งใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดซูเปอร์บอร์ด เหนือบอร์ดปกติ

ขณะที่พฤติกรรมของคน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ลงไปจนถึงผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ ส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากเท่าที่ควร กลไก กระบวนการ ที่จะทำให้คนเปลี่ยนไม่เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างกว้างขวาง จึงมีคำพูดที่ว่า ครูไทยยัง 2.0 อยู่เลยให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังคงมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ขณะที่ “คน” เปลี่ยนแปลงช้า คำถามที่ว่า ปฏิรูปจะส่งผลถึงผู้เรียนแค่ไหน เมื่อไหร่ จึงเป็นความท้าทายอยู่ต่อไป

แก้ที่ระบบ โครงสร้าง ก็ว่าไป แต่ต้องแก้ที่คนพร้อมกันไปด้วยทั้งสองส่วนเพราะล้วนส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน

เสริมสร้างจุดเด่น ขจัดจุดด้อย ปลดล็อกปัจจัยลบทั้งหลาย ในทุกเรื่องที่บั่นทอน อิสรภาพ เสรีภาพ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการของคน

ตั้งแต่นักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการประจำระดับสูง ตามลำดับลงมาจนถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ชุมชน

 

ผมยังเชื่อในความคิดที่ว่า ต้องมุ่งเน้นเปลี่ยน “คน” เป็นสำคัญ ทำคู่ขนานกันไปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะครู อาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ

ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปครู ครับ

ตั้งแต่ระดมก่อนปฐมวัย ปฐมวัย การศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัย จนถึงอุดมศึกษา

ทำให้สิ่งที่เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่แล้ว พ.ศ.2542 จนถึงฉบับใหม่ที่กำลังพิจารณากันอยู่ขณะนี้เกิดขึ้นจริงเสียที

กฎหมายใหม่เขียนไว้อย่างนี้

มาตรา 48 ให้การผลิตครูมุ่งเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ทำให้นิสิตนักศึกษาครูมีความศรัทธาต่อวิชาชีพครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับประสบการณ์ด้านวิชาชีพและการนิเทศที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร

ให้รัฐจัดตั้งกองทุนผลิตและพัฒนาครู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สนับสนุนทุนการศึกษา คัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครูเพื่อให้ผู้รับทุนเข้าศึกษามีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของประเทศ

มาตรา 53 ให้กระทรวงมีระบบและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาสมรรถนะและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

ระบบและวิธีการ กระทรวงอาจดำเนินการเองหรือสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หรือจัดให้มีการร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมเพื่อดำเนินการได้

พร้อมกันนี้ 1 ใน 7 ประเด็น ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ กอปศ.เสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการคือ เร่งผลักดันดิจิตอลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ และยกเครื่องการผลิตและพัฒนาครูไปพร้อมกัน

การปฏิรูปการศึกษาโดยสร้างนวัตกรรมทางกฎหมายเพื่อให้เกิดสภาพบังคับและความต่อเนื่องเหล่านี้ จะเป็นจริง บรรลุผลแค่ไหน ระหว่างกฎหมายกับคน สิ่งใดเป็นปัจจัยชี้ขาด เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในที่สุด