จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (5)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ขงจื๊อ

ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)

คราวนี้เขาจึงได้กลับไปรื้อค้นปกรณ์เล่มนี้ขึ้นมาใหม่แล้วก็พบว่า ตัวบทของปกรณ์ชำรุดเสียหายไปกว่า 10 บท คงเหลือเพียง 29 บท แต่เท่าที่เหลือทั้งหมดนี้มีจำนวนบทที่ยอมรับกันต่อมาว่าถูกต้องแม่นยำ 28 บท และโดยที่ราชวงศ์ฮั่นมีนโยบายให้รื้อฟื้นปกรณ์ของสำนักต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ความสำคัญของปกรณ์เล่มนี้จึงถูกฟื้นฟูขึ้นมาให้คงฐานะเดิม นั่นคือ ถือเป็นหนึ่งในตำราหลักสำหรับการศึกษาในชั้นบัณฑิต

เนื่องจากปกรณ์เล่มนี้ชำรุดสูญหายไปกว่า 10 บทและเหลืออยู่ 28 บท จำนวนที่เหลือนี้จะเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของหนึ่งใน “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” คือ เหยา ผู้นำในยุคตำนานที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วในบทที่ 2 แล้วมาจบลงตรงเรื่องราวในรัฐฉินซึ่งตรงกับยุควสันตสารทกับยุครัฐศึก

ที่สำคัญ เนื้อหาทั้งหมดใช่แต่จะบอกเล่าเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากที่น่าสนใจและดูจะเป็นความโดดเด่นของปกรณ์เล่มนี้ก็คือ การแฝงหลักคิดและแนวทางการเมืองและการปกครองเอาไว้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

ในที่นี้จะยกเรื่องที่ถูกกล่าวขานกันมากเรื่องหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง นั่นคือ เรื่องของผู้นำในยุคตำนานต่อยุคต้นประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ อี่ว์ ผู้ซึ่งมีคุณูปการจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมจนถูกเลือกให้เป็นผู้นำต่อจากซุ่น (ก่อนหน้าซุ่นคือเหยา)

ดังได้เคยกล่าวไปตั้งแต่บทต้นๆ แล้วว่า อี่ว์ได้ใช้เวลาแก้ปัญหาดังกล่าวถึง 13 ปีจึงสำเร็จนั้น ในปกรณ์เล่มนี้จะอธิบายให้เห็นว่าอี่ว์ได้แบ่งพื้นที่ที่จะแก้ปัญหาออกเป็น 9 ภาค ทั้งเก้าภาคนี้เริ่มจากชายฝั่งทะเลตะวันออกไปจดทะเลทรายทางตะวันตกและจากเหนือจดใต้

และในแต่ละภาคยังพิจารณาจากภูเขา แม่น้ำ ที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม และระดับความอุดมสมบูรณ์ของแต่ละพื้นที่ประกอบเข้าด้วยกัน (หากใช้คำที่นิยมในปัจจุบันก็อาจเรียกได้ว่าแก้ปัญหาแบบบูรณาการ) จากนั้นก็แก้ปัญหาไปทีละภาคจนหมดและสำเร็จด้วยดี

ที่สำคัญ เมื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แล้ว อี่ว์ยังได้แบ่งพื้นที่ในแต่ละภาคออกเป็นระยะๆ โดยใช้ระยะละ 500 หลี่ (ลี้) เป็นเกณฑ์ แล้วกำหนดให้แต่ละ 100 หลี่ปลูกธัญพืชชนิดใดเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร และแต่ละระยะที่ว่านี้ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์อย่างไรระหว่างผู้ปกครองกับราษฎร

แต่ที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือ ทั้งหมดนี้จักต้องปลอดพ้นจากการเผชิญหน้ากับชนชาติหมาน¹

จากที่กล่าวมานี้ไม่เพียงจะทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดอี่ว์จึงใช้เวลาถึง 13 ปีในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเท่านั้น หากยังทำให้เห็นถึงการวางระบบการปกครองที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพอีกด้วย

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ซูจิง หรือ ซ่างซู หรือ รัฐตำนานปกรณ์ ใช่แต่จะมีคุณค่าเฉพาะยุคสมัยนั้นของจีน หากกล่าวในแง่มุมของข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังถือว่ามีคุณค่าต่อการศึกษาสังคมจีนโดยรวมอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการฉายให้เห็นภาพพัฒนาการของรัฐจีนเอง

ก.3 หลี่จิง (รีตปกรณ์, Record of Ritual, The Book of Rites) สังคมจีนในอดีตก็ไม่ต่างกับสังคมอื่นในเรื่องหนึ่งคือ การที่มีแบบแผนการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แบบแผนนี้ถูกกำหนดมาช้านานแล้ว โดยผู้กำหนดหากไม่เป็นปราชญ์ผู้ซึ่งภูมิปัญญาของเขาเป็นที่ยอมรับของผู้คนแล้ว ก็จะเป็นศาสดาทางศาสนาผู้ซึ่งมีหลักคำสอนอันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของสังคมนั้น

แบบแผนนี้ก็คือ รีต ที่ซึ่งงานศึกษานี้ได้กล่าวไปบ้างแล้วในบทที่ว่าด้วยรัฐในยามแรกผลิตอนที่เกี่ยวกับระเบียบแบบแผนใน “หลี่” หรือรีตของราชวงศ์โจว แต่กล่าวสำหรับรีตในสังคมจีนปัจจุบัน ไม่ว่าจะในจีนแผ่นดินใหญ่ (ซึ่งคงเหลือน้อยเต็มทีเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต) หรือในชุมชนจีนที่อยู่ในประเทศต่างๆ ล้วนมีรากฐานมาจากปกรณ์เล่มสำคัญคือ หลี่จิง ทั้งสิ้น

ปกรณ์เล่มนี้มีที่มาจากความคิดความเชื่อของสังคมจีนที่วิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่อง แต่จะย้อนกลับไปถึงยุคตำนานหรือราชวงศ์แรกของยุคต้นประวัติศาสตร์ (ราชวงศ์เซี่ย) หรือไม่นั้นยังไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์

แต่ตราบจนเมื่อความเป็นรัฐได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ความคิดความเชื่อในด้านต่างๆ ก็ถูกประมวลเข้าด้วยกันเป็นปฏิสัมพันธ์ผ่านรูปคำทางความคิดว่าด้วยเรื่องของฟ้า (เทียน) ดิน (ตี้) องค์อธิปัตย์ (จวิน)² บุพการี (ชิน) และครู (ซือ) โดยฟ้ากับดินคือต้นกำเนิดของชีวิต บุพการีคือต้นกำเนิดของครอบครัว และองค์อธิปัตย์กับครูคือต้นกำเนิดของการปกครองและวัฒนธรรม

และภายใต้องค์ประกอบ 3 ส่วนคือ ฟ้ากับดินหนึ่ง บุพการีหนึ่ง และองค์อธิปัตย์กับครูอีกหนึ่งนี้ สวินจื่อ (ปราชญ์ลัทธิขงจื่อ) ระบุว่า คือสามต้นธารของรีต (หลี่) ที่บุคคลพึงเคารพบูชา ซึ่งในข้างหนึ่งก็เพื่อให้ตระหนักอยู่เสมอในฐานะอันเป็นแหล่งที่มาของความสุขในชีวิต และในฐานะผู้ให้กำเนิดบุคคลที่บุคคลมิควรลืม อีกข้างหนึ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การอบรมสั่งสอนให้บุคคลพึงเดินตามต้นธารทั้งสามนี้ในฐานะระเบียบแบบแผนอันยิ่งใหญ่ ที่จักอำนวยความอยู่ดีมีสุขแก่ตนในฐานะบุคคลผู้สุภาพอ่อนน้อม

จากองค์ประกอบทั้งสามนี้ต่อมาได้วิวัฒน์มาเป็นรีตที่ปรากฏในหลี่จิง โดยการชำระของขงจื่อในที่สุด

จากเหตุดังกล่าว ขงจื่อหรือสำนักหญูของเขาจึงเป็นสำนักที่โดดเด่นในการอธิบายเรื่องรีตมากที่สุด เกณฑ์หรือมาตรฐานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องรีตจึงมักมีที่มาจากสำนักนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะในด้านสถาบันทางการเมือง พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ ล้วนถูกรังสรรค์แล้วบันทึกเอาไว้เพื่อใช้ศึกษา

บันทึกที่สำคัญมีอยู่ 3 เล่มและเรียกรวมกันว่า “ซานหลี่” (ไตรรีต) อันประกอบด้วย อี๋หลี่ (กฎเกณฑ์แห่งรีต) โจวหลี่ (รีตแห่งโจว) และ หลี่จี้ (บันทึกรีต)

อี๋หลี่ ซึ่งเป็นเล่มแรกก็คือ หลี่จิง บางที่ก็เรียกว่า ซื่อหลี่ (รีตแห่งสัตชน) เล่มนี้บางที่กล่าวว่าโจวกงต้านเป็นผู้เขียน บางที่ก็ว่าขงจื่อเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นมา เนื้อหาในปกรณ์เล่มนี้จะกล่าวถึงความสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับรีตในด้านต่างๆ เช่น แบบแผนหรือรูปแบบทางพิธีกรรมหรือรัฐพิธีในเทศกาลหรือวาระพิเศษต่างๆ เป็นต้น

เล่มต่อมาคือ โจวหลี่ เล่มนี้บางที่ก็เรียกว่า โจวกวาน (รัฐกิจโจว) บางที่ก็ว่า โจวกวานจิง (รัฐกิจโจวปกรณ์) เนื้อหาในปกรณ์เล่มนี้จะกล่าวถึงระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่สถาบันทางการเมืองและสังคมแต่ละสถาบันพึงยึดถือปฏิบัติ

ทั้งสองเล่มนี้กล่าวกันว่าในยุครัฐศึกก็มีอยู่แล้ว แต่จะเกิดขึ้นจริงตั้งแต่เมื่อไรนั้นยังไม่แจ้งนัก

ส่วนเล่มที่สามคือ หลี่จี้ ถือเป็นเล่มที่เกิดหลังสุดและเป็นเล่มที่สำคัญมาก ด้วยเป็นเล่มที่เกิดจากการชำระใน 2 เล่มแรกและเป็นเล่มที่ถูกนำมาใช้และอ้างอิงกัน

และคงเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ หลี่จี้ หมายถึง หลี่จิง³ ไปด้วย

กล่าวสำหรับเนื้อหาใน หลี่จี้ แล้วอาจแบ่งเป็น 4 ด้านด้วยกัน

ด้านแรก เป็นคำแนะนำและอภิปรายเกี่ยวกับระบบพิธีกรรมและคีตการ

ด้านที่สอง เป็นบันทึกเกี่ยวกับรีตในลักษณะต่างๆ ระเบียบปฏิบัติเรื่องมารยาท ธรรมเนียมทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณกาล ชีวิตในยามว่างขณะอยู่ในนิวาสสถาน แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของขุนนาง การปฏิบัติตนทั้งต่อบุพการี ต่อพิธีศพ ต่อการไว้อาลัย ต่อการดื่มกิน ต่อการอบรมสั่งสอน ต่อการสมาคมกับผู้อื่น ตลอดจนต่อการทรงประทานยศศักดิ์และเงินเดือนแก่ขุนนางของกษัตริย์ เป็นต้น

ด้านที่สาม อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับรีตต่างๆ เช่น การสวมหมวก พิธีสมรส การดื่มสุราในชนบท การยิงธนู งานเลี้ยง และรัฐพิธีกับการประดับประดาอันประณีตเมื่อมีการเสด็จเยือนรัฐอื่นเพื่อสัมพันธไมตรีของผู้สูงศักดิ์ เป็นต้น

และด้านที่สี่ เป็นการรวบรวมคำอธิบายและแนวทางปฏิบัติพื้นฐานเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับกฎหมายและการปกครองโดยรีต ซึ่งจัดทำขึ้นโดยบรรดาศิษยานุศิษย์ที่มีชื่อเสียงของขงจื่อ และในด้านที่สี่นี้ย่อมรวมเอาประเด็นที่ปรากฏอยู่ในสองด้านแรกเข้าไว้ด้วย

ทั้งสี่ด้านที่กล่าวมานี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดของรีตผ่านรูปแบบที่พิสดารต่างๆ


เชิงอรรถ

¹ ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วในต้นบทที่ว่าด้วยวันคืนก่อนจักรวรรดิว่า หมานเป็นชนชาติที่อยู่ทางภาคใต้ของจีน ต่อมาดินแดนของชนชาตินี้ก็คือรัฐฉู่ในยุคต้นประวัติศาสตร์ (ชาวรัฐฉู่จึงมีภูมิหลังเป็นชนชาติหมาน) แต่เนื่องจากเรื่องราวตอนนี้อยู่ในยุคตำนานต่อกับยุคต้นประวัติศาสตร์ ชนชาติหมานในที่นี้จึงอาจหมายถึงชนชาติที่อยู่ทางภาคใต้ก็ได้ หรืออาจหมายถึงชนป่าเถื่อนก็ได้ เพราะโดยรูปศัพท์ของคำนี้หมายถึง ดุร้าย เหี้ยมโหด หรือป่าเถื่อน ฯลฯ อยู่แล้ว ในที่นี้เห็นว่าน่าจะเป็นความหมายหลัง

² โดยทั่วไปแล้วคำว่า จวิน หมายถึง กษัตริย์ ราชา จักรพรรดิ และยังเป็นคำที่ใช้เรียกยกย่องบุรุษอย่างให้เกียรติ ในที่นี้ใช้ว่าองค์อธิปัตย์ในความหมายกว้าง และผู้เป็นองค์อธิปัตย์ในเวลานั้นก็คือ กษัตริย์

³ นิตยา (พลพิพัฒนพงศ์) ชวี, วัฒนธรรมจีน, หน้า 67.