วิธีวิทยา พุทธทาส กระบวนการ ในการรื้อสร้าง จาก รากฐาน “เดิม”

บทที่ 3 ของหนังสือ “พุทธทาสภิกขุ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และการปฏิรูปเชิงนวสมัยนิยมในประเทศไทย” ของ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน มีความสำคัญ

เป็นบทว่าด้วย “ภาษาคน-ภาษาธรรม : วิธีตีความพระไตรปิฎกของพุทธทาสภิกขุ”

เริ่มจากประโยค ฐานรองรับทางทฤษฎีสำหรับการตีความหลักคำสอนในนิกายเถรวาทตามแนวใหม่ของท่านพุทธทาสก็คือ

แนวคิดเรื่อง “จิตว่าง”

จากนั้นก็กล่าวว่า “จิตว่าง” หมายถึงจิตที่ปลอดจากสิ่งเศร้าหมองในทางศีลธรรม และอยู่ในสถานะสงบราบคาบ ซึ่งเป็นบาทฐานของนิพพาน

ท่านพุทธทาสถือว่า “จิตว่าง” เป็นอุปกรณ์สำหรับทำความเข้าใจเป้าหมายทางจิตวิญญาณของพระพุทธศาสนา และเป็นฐานหลักของการปฏิบัติสำหรับบุคคลแต่ละคนและสังคมโดยรวม เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว

ข้อสังเกตของ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน คือ

ในขณะที่การตีความเรื่อง “จิตว่าง” ของท่านพุทธทาสอาศัยแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ แนวคิดเรื่อง “สุญญตา” หรือ “ความว่าง” เรื่องนี้กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากแวดวงนิกายเถรวาทตลอดเวลาที่ผ่านมา

ถามว่าเพราะอะไร

 

คําอธิบายจาก ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน คือ เพราะสุญญตาหรือจิตว่างนั้นโดยทั่วไปถือกันว่าเป็นหลักการรองที่ใช้อธิบายแนวคิดสำคัญๆ

อย่างเช่น “อนัตตา” ความไม่มีตัวตัวตน และ “อนิจจตา” ความไม่เที่ยง

เนื่องจากวงการศึกษาพระไตรปิฎกแบบประเพณีนิยมในประเทศไทยถือว่า แนวคิดเรื่องสุญญตาและจิตว่างมีความสำคัญน้อย

ท่านพุทธทาสจึงไม่สามารถตัดสินความถูกต้อง เหมาะสมในการเน้นย้ำแนวคิดดังกล่าว โดยอ้างประเพณีนิยมของไทยในการตีความพระไตรปิฎก หรืออ้างถึงอรรถกถารุ่นหลังที่สนับสนุนประเพณีนิยมเช่นว่านั้น

ว่ากันตามจริงแล้ว ในการกำหนดให้แนวคิดเรื่องจิตว่างเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับการนำเสนอหลักคำสอนนิกายเถรวาทตามแนวใหม่นั้นท่านพุทธทาสได้พึ่งพาอาศัยคำสอนในพระพุทธศาสนานิกายมหายานและนิกายเซนอย่างมาก

และก็เป็นความจริงที่ว่า ท่านพุทธทาสได้ผละออกจากแนวการวิเคราะห์และการตีความตามที่คณะสงฆ์ไทยได้สอนสืบทอดกันมา เพื่อจะได้เสนอวิธีการตีความตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทตามแนวของท่านเอง

การผละออกจากแนวการตีความแบบดั้งเดิมของไทยดังกล่าวนี้มีประเด็นหลักอยู่ 3 อย่างด้วยกัน

 

ประเด็น 1 ได้พัฒนาทางเลือกใหม่ในการตีความพระไตรปิฎก ซึ่งก็ทำให้สามารถอ้างได้ว่าข้อความในพระไตรปิฎกที่สนับสนุนทัศนะนั้นมีอยู่มากกว่าที่พบจากการอ่านพระไตรปิฎกอย่างผิวเผิน

ท่านเรียกทฤษฎีการตีความแบบใหม่นี้ว่า “ภาษาคน-ภาษาธรรม”

ประเด็น 1 ท่านเลือกอ่านพระไตรปิฎกเถรวาทเฉพาะบางเรื่อง บางส่วน โดยได้ตัด “พระอภิธรรมปิฎก” อันเป็นส่วนสุดท้ายของพระไตรปิฎกออกไปทั้งหมด เพราะเห็นว่าไม่รับกับแนวทางการตีความของท่าน

โดยสรุป ท่านตัดพระอภิธรรมปิฎกทิ้งไปเพราะปกรณ์ส่วนนี้ไม่อยู่ในรูปของพระพทธวจนะ

ท่านถือว่า พระพุทธวจนะที่อยู่ใน “พระสุตตันตปิฎก” มีความสำคัญสูงสุด เพราะเห็นว่าพระธรรมเทศนาและถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์นั้นแสดงถึงญาณปัญญาที่แท้จริงของพระองค์

อนึ่ง ท่านยังไม่ยอมรับคำอธิบายพระไตรปิฎกในคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค” ของ พระพุทธโฆษาจารย์ อีกด้วย แม้ว่าคัมภีร์นี้จะถือกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 แล้วว่า เป็นอรรถกถาที่สำคัญที่สุดสำหรับพระไตรปิฎก

ในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการตีความของ พระพุทธโฆษาจารย์ นั้น ท่านพุทธทาสได้เปิดทางให้แก่วิธีการตีความพระไตรปิฎกตามแบบใหม่ของท่านเอง ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีเดิม และอาศัยทฤษฎี “ภาษาคน-ภาษาธรรม”

นอกจากนี้ ในบรรดาข้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่ท่านยอมรับแล้วท่านก็เลือกใช้เฉพาะบางส่วนเท่านั้นอีกด้วย

ยกตัวอย่างว่า ในการศึกษาพระสุตตันตปิฎกนั้นท่านจะเน้นที่ “ทีฤนิกาย มัชฌิมนิกาย อังคุตตรนิกาย” และ “สังยุตนิกาย” ซึ่งมีข้อความจากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์อยู่มากที่สุด ในทางตรงกันข้าม ท่านไม่สนใจข้อความใน “ขุททกนิกาย” ของพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นส่วนของพระไตรปิฎกที่เต็มไปด้วยคำสอนแบบ “งมงาย” และเป็นที่นิยมกัน

แต่ท่านเองไม่ยอมรับ

 

จากนี้จึงมองเห็นได้ว่าเพียงแค่ 2 ประเด็นอัน ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ยกมาก็สะท้อนให้เห็นในกระบวนการของท่านพุทธทาสภิกขุ เด่นชัดยิ่งว่าดำเนินไปในลักษณะ “รื้อสร้าง”

นั่นก็คือ รื้อจาก “ของเดิม” เลือกในส่วนที่เห็นว่าเหมาะสม ตัดในส่วนที่เห็นว่าไม่เหมาะสม แล้วก็สร้างขึ้นมาใหม่

เป็นของ “ใหม่” จากรากฐาน “เดิม”