ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : รัฐบาลต้องแก้ปัญหา ‘ฝุ่นพิษ’ โดยนึกถึงชีวิตมากกว่าสร้างภาพ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สองสัปดาห์แล้วที่หมอกควันพิษปกคลุมกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ใกล้เคียงอย่างน่าสะพรึงกลัว ท้องฟ้าไม่ใช่สีฟ้า แหงนหน้ามองก็ไม่เห็นก้อนเมฆ อาคารสูงหลายสิบชั้นถูกฝุ่นสีเทาห้อมล้อมจนมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น

เมืองหลวงและปริมณฑลมีสภาพราวแดนสนธยาในหมอกทึบที่อาณาจักรแผ่กว้างสุดลูกหูลูกตา

ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายจนแต่ละคนสัมผัสถึงความผิดปกติเหมือนกัน

สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ช่วยกันทำคือการแบ่งปันข่าวสารผ่าน “โซเชียล” จนทุกคนสำนึกว่ากำลังมีชีวิตในโครงครอบที่น่ากังวลอย่างที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากตระหนักว่าแท้จริงแล้วหมอกควันคือ “ฝุ่นพิษ” ซึ่งอันตรายต่อชีวิตในระยะยาว ท่ามกลางการรับรู้ว่าหมอกควันไม่ใช่ละอองฝุ่นแบบที่พบทั่วไป

ประชากรกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็ค่อยๆ ค้นพบว่าฝุ่นคือปัญหา “มลพิษทางอากาศ” จนรับรู้ต่อไปถึงปัญหาฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมถึง 25 เท่า โดยที่ขนจมูกหรือหน้ากากอนามัยป้องกันละอองพิษขนาดนี้ไม่ได้เลย

ขณะที่ประชาชนเผชิญปัญหาจนตระหนักว่ามลพิษทางอากาศคือภัยคุกคามที่เป็นจริง

นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ก็ขยายพรมแดนความรู้ว่าละอองฝุ่นที่ปนเปื้อนสารพิษนั้นเข้าสู่ทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้

ฝุ่นจึงไม่ใช่แค่ปัญหาเมืองสกปรก แต่คือมลพิษซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งและหัวใจในระยะยาว

หากยอมรับว่าอากาศคือทรัพยากรสาธารณะเหมือนน้ำ, ไฟฟ้า, ยารักษาโรค ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑลคือการที่ “โซเชียล” กลายเป็นช่องทางให้เกิด “ญัตติสาธารณะ” ซึ่งเห็นว่าปัญหาหมอกควันคือ “ฝุ่นขนาดจิ๋ว” ซึ่งเป็น “มลพิษทางอากาศ” โดยที่ภาครัฐไม่ได้มีบทบาทอะไรในเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว

สำหรับคนเดินถนนทั่วไป ภาพคนกรุงเทพฯ สวมหน้ากากทั้งขาวและดำเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ป้ายรถเมล์กลายเป็นศูนย์รวมของมนุษย์ซึ่งไร้ทางเลือกในการเลี่ยงอากาศพิษ

รถเมล์แอร์เป็นเสมือนที่หลบภัยของคนที่ไม่อยากตายเพราะฝุ่นโสโครก

ส่วนรถยนต์คือประตูสู่อภิสิทธิ์ทางอากาศที่คนส่วนใหญ่ได้แต่เฝ้ามอง

ล่าสุด ความต้องการปกป้องตัวเองของประชาชนลุกลามถึงขั้นเป็นเหตุให้หน้ากากป้องกันฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 ขาดตลาดไปแล้ว

เว็บไซต์ซื้อของออนไลน์ระบุว่ายอดขายหน้ากากกลุ่มนี้สูงขึ้น 240 เท่าตัว

ส่วนเครื่องฟอกอากาศก็มียอดขายสูงขึ้น 2 เท่า จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี

ถึงแม้คนกรุงเทพฯ จะร่วมกันสร้างญัตติสาธารณะและปกป้องตัวเองจากมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นมกราคม หน่วยงานรัฐอย่างกรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีมาตรการอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้มากนัก อธิบดีและผู้เกี่ยวข้องบอกว่าอากาศไม่เลวร้ายอย่างประชาชนคิด หรือพูดตรงๆ คือตำหนิประชาชนว่าวิตกจริตมากไป

สำหรับนายกฯ ที่ใช้กระบอกปืนตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล คำแถลงเรื่องนี้ครั้งแรกจบด้วยการโทษทุกคนว่าทำให้เกิดปัญหานี้

ปกป้องว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้ดีที่สุดแล้ว

และปิดท้ายด้วยการบอกให้ประชาชนช่วยตัวเอง

ขณะที่รองนายกฯ ที่โดดเด่นเรื่องแกว่งปากหาเสี้ยนก็สั่งให้รอไปอีกสามปี จากนั้นอากาศจะดีขึ้นเอง

สรุปความก็คือ หลังจากประชาชนทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหา “มลพิษทางอากาศ” จนทุกคนควักกระเป๋าสตางค์เพื่อซื้อความปลอดภัยให้ตัวเอง

ระบบราชการและนักการเมืองที่ได้อำนาจโดยรัฐประหารก็ไม่ได้มีบทบาทแก้ไขปัญหาอะไรมากนัก นอกจากด่าประชาชนซ้ำ

และสั่งให้ประชาชนอดทน

หนึ่งในวาทกรรมที่ พล.อ.ประยุทธ์บีบให้สื่อถ่ายทอดสู่สังคมคือรัฐบาล คสช.แก้ปัญหาดีกว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือก

แต่ปัญหาหมอกควันที่ยกระดับเป็นมลพิษทางอากาศคือหลักฐานว่า คสช.แก้ปัญหาเรื่องนี้น้อยมาก

จนข้อความที่คุณสู่ขวัญโพสต์ว่า “ผู้มีอำนาจไม่ทำอะไรเลย” แพร่ระบาดทั่วโซเชียลในพริบตา เมื่อรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจนประชาชนรู้สึกได้ทั่วไป

ตัวเลขคุณภาพทางอากาศในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคมจึงไม่ดีกว่าเดิมนัก

มิหนำซ้ำมลพิษที่เคยเลวร้ายในเขตศูนย์กลางเมืองหลวงยังแผ่ขยายไปสู่เขตที่อยู่อาศัยด้วย ปัญหามลพิษจึงมีโอกาสคุกคามประชาชนยิ่งกว่าเดิม

เท่าที่นักวิจัยบางรายระบุ เขตที่อยู่อาศัยอย่างทวีวัฒนาวันที่ 22 มกราคม มีคุณภาพอากาศ AQI ที่ 249 ซึ่งหากถึงระดับ 300 จะอันตรายขั้นประเทศอื่นๆ ให้ประชาชนอยู่ในบ้านทั้งหมด ส่วนฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ก็พุ่งไปที่ 199.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หรือเกินเกณฑ์ปกติ 4 เท่าตัว

ในกรณีจังหวัดรอบนอกอย่างนครปฐม ค่าคุณภาพอากาศ AQI วันเดียวกันนี้อยู่ที่ 174 ซึ่งก็นับว่าสูงมาก แม้จะยังไม่เข้าใกล้ระยะที่มาตรฐานระหว่างประเทศห้ามออกจากบ้านก็ตาม ส่วนพื้นที่แถบพุทธมณฑลสาย 2 มีค่า AQI อยู่ที่ 246 จนโรงเรียนเพลินพัฒนาสั่งปิดการเรียนชั้นอนุบาลไปเลย

น่าสนใจว่าความเฉื่อยชาของรัฐบาลเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพที่สองปัญหานี้ขยายสู่เขตที่อยู่อาศัยติดต่อกันสองสัปดาห์ เพราะในการสำรวจคุณภาพอากาศวันที่ 16 มกราคม เขตที่อยู่อาศัยอย่างบางพลัดกลับมีฝุ่นพิษเข้าขั้นอันตรายสูงสุดแซงหน้าเขตธุรกิจอย่างดินแดงหรือคลองเตยด้วยซ้ำไป

พูดง่ายๆ ด้วยความล่าช้าและไม่เข้าใจปัญหามลพิษอย่างจริงจังของ คสช. ฝุ่นพิษขนาดเล็กและคุณภาพอากาศที่เลวร้ายกำลังเป็นภัยคุกคามประชาชนถึงหน้าบ้านโดยตรง ต่อให้จะไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางเมือง, ย่านพาณิชย์ หรือพื้นที่ซึ่งมีโรงงานและการจราจรหนาแน่นก็ตาม

แน่นอนว่ามลพิษทางอากาศและฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 โดยตัวเองแล้วไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่การที่ประชาชนแบ่งปันข้อมูลผ่าน “โซเชียล” จนเกิด “ญัตติสาธารณะ” เรื่องสภาพปัญหาและการดิ้นรนป้องกันตัวเองนั้นทำให้ความรู้สึกว่า “ผู้มีอำนาจไม่ทำอะไรเลย” ขยายตัวจนเป็นปัญหาต่อรัฐบาล คสช.โดยตรง

พูดก็พูดเถอะ การที่อดีตนายกฯ อย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาแสดงความเห็นเรื่องการแก้ฝุ่นพิษในประเทศอื่นๆ ผ่านเว็บไซต์ Thailandofficial คงมีส่วนให้ คสช.รู้สึกว่าต้องทำอะไรเรื่องนี้เพื่อลดแรงกดดันมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะไม่มีใครยอมรับตรงๆ

หลังจากกระแสสำนึกว่า “ผู้มีอำนาจไม่ทำอะไร” ลุกลามจนนายกให้สัมภาษณ์ว่าจะเลิกอ่าน “โซเชียล” เพราะทำให้สุขภาพเสียมาแล้วห้าปี รัฐบาลก็ประกาศมาตรการเร่งด่วน 9 ข้อ ซึ่งท่านเชื่อว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ทั้งหมด หรืออย่างน้อยก็คงมากพอจะทำให้ “โซเชียล” หยุดวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย

อย่างไรก็ดี มาตรการที่นายกฯ และรัฐบาลประกาศล้วนเป็นมาตรการที่เข้าข่าย “สร้างภาพ” จนถึงขั้น “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ทั้งสิ้น จนไม่เห็นสัญญาณว่าปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นพิษจะคลี่คลายทั้งในแง่เฉพาะหน้าและระยะยาวแม้แต่นิดเดียว

ตามที่มีการเปิดเผยโดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 14 มกราคม ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กำเนิดจากเครื่องยนต์ดีเซล 50-60%, การเผาในที่โล่ง 35% และโรงงานอุตสาหกรรม 5-10%

แต่มาตรการที่รัฐแถลงกลับพูดถึงการเปลี่ยนเครื่องยนต์อย่างจริงจังน้อยมาก

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนรถโดยสารเป็นรถไฟฟ้าในระยะยาว

ตามที่รัฐบาลระบุ มาตรการหลักๆ ของรัฐบาลยังคงเป็นเรื่องของการฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่น, การจับรถที่ปล่อยควันดำ, ทำฝนหลวง ฯลฯ

ซึ่งบางเรื่องมีนักวิชาการชี้ว่าไม่ได้ลดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

บางเรื่องควรทำนานแล้ว และหลายเรื่องเป็นแค่การตั้งคณะกรรมการคุมฝุ่นจากรถไฟฟ้าและการก่อสร้างซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง

นอกจากมาตรการที่น่าสงสัยว่าจะไม่มีผลแก้ไขปัญหาอะไร รายงานข่าวยังระบุถึงแนวคิดของรัฐบาลในการโยนความผิดไปที่คนเล็กคนน้อยในสังคมเยอะไปหมด

ตัวอย่างเช่น การควบคุมการขายหมูปิ้ง, การห้ามข้าราชการขับรถมาทำงาน ฯลฯ

แต่ไม่มีการพูดถึงการควบคุมรถดีเซลหรือโรงงานโดยตรง

ถ้ายอมรับว่าต้นตอของมลพิษทางอากาศและฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มีต้นตอใหญ่กว่าคุมแม่ค้าหมูปิ้งหรือรถเมล์ควันดำ สิ่งที่รัฐบาลและข้าราชการต้องทำก็คือการดำเนินมาตรการเพื่อระงับต้นตอฝุ่นพิษเหล่านี้อย่างถึงที่สุด ไม่ใช่ไล่จับปลาซิวปลาสร้อยหรือตั้งคณะกรรมการคุยฟุ้งซ่านในเรื่องที่ไม่ใช่เหตุของปัญหาโดยตรง

เท่าที่ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 ระบุ นายกฯ มีอำนาจสั่งการให้ยุติการก่อมลพิษจนเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพประชาชนได้ทันที แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับพูดถึงการดำเนินการกับโรงงานหรืออุตสาหกรรมอย่างเด็ดขาดแบบนี้น้อยมาก ถึงแม้จะใช้ ม.44 กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเมามันมาตลอดห้าปีก็ตาม

ล่าสุด อธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มงวดอีก เหตุผลของท่านคือภาพลักษณ์ของประเทศจะเสียหาย เศรษฐกิจของประเทศจะมีปัญหา และสถานการณ์ด้านมลพิษทางอากาศยังไม่ถึงจุดที่ต้องกังวลอย่างที่ประชาชนพูดๆ กัน

ยังไม่มีแสงสว่างในการแก้ปัญหาที่คุกคามประชาชนในขณะนี้

และตราบใดที่รัฐบาลทำแต่มาตรการสร้างภาพ

โอกาสที่ปัญหาจะคลี่คลายคงได้แก่การอ้อนวอนให้พระพิรุณปล่อยฝนไล่ฝุ่นพิษในประเทศ

แต่นั่นก็เท่ากับประชาชนคิดถูกว่า “ผู้มีอำนาจไม่ทำอะไรเลย” ในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ อย่างที่รู้สึกกันมาตลอดห้าปี