เผยแพร่ |
---|
ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)
จากหลักคิดเฉพาะเรื่อง เจิ้งหมิง ตามที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นต่อไปว่า แท้จริงแล้วการทำนามให้เที่ยงตามข้อเสนอของขงจื่อดังกล่าวก็คือ การทำหน้าที่ให้ตรงกับฐานะหรือตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ณ ขณะหนึ่งๆ
คือถ้าอยู่ในฐานะบิดาก็ทำหน้าที่บิดา แต่หากในอีกกาลเทศะหนึ่งผู้เป็นบิดามีฐานะเป็นผู้นำรัฐด้วย บิดาคนนั้นก็พึงทำหน้าที่ของผู้นำรัฐ ไม่พึงนำฐานะทั้งสองมาปะปนกัน หาไม่แล้วก็จะกระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่ว่า นามแต่ละนามพึงปฏิบัติตน (ตามนามของตน) เช่นไรนั้น ใน หลุนอี่ว์ มีกล่าวเอาไว้ในหลายที่ ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือ หลักคำสอนเรื่องเหญิน อี้ หลี่ และจื้อนั้นเอง
สารัตถะของ หลุนอี่ว์ จากที่กล่าวมาแต่เพียงสังเขปนี้ คงทำให้เห็นพอสมควรถึงหลักคำสอนและหลักคิดในเรื่องการเมืองและการปกครองในทัศนะของขงจื่อ แต่ก็ดังได้กล่าวไปแล้วว่าขงจื่อไม่ได้ประสบผลสำเร็จมากนักในยุคสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ เพราะผู้นำของแต่ละรัฐต่างก็เมินเฉยต่อข้อเสนอของเขา
กว่าที่หลักคำสอนหรือหลักคิดของเขาจะเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง เวลาก็ลุล่วงไปจนถึงเมื่อราชวงศ์ฮั่นก้าวขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีน หรือในอีกราว 300 ปีต่อมาแล้ว และนับจากนั้นต่อมาอีกกว่า 2,000 ปี ก็คือห้วงเวลาที่สำนักหญูของขงจื่อมีอิทธิพลเหนือสังคมจีนตลอดมา
สำนักเต้ากับเหลาจื่อ
จําเดิมก่อนจะเกิดสำนักเต้าจนเป็นที่ยอมรับกันนั้น กล่าวกันว่า ต้นธารความคิดของสำนักนี้มีที่มาจากนักปรัชญาที่ชื่อ หยางจู บุคคลผู้นี้มีประวัติไม่แน่ชัด อีกทั้งหลักคำสอนของเขาก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องของความน่าเชื่อถือ แต่หากไม่ติดในข้อถกเถียงที่ว่า แล้วยึดเอาปกรณ์ที่อ้างถึงหยางจูมาอธิบายก็จะพบว่า หยางจูสอนในเรื่องการถือสันโดษด้วยการละจากเรื่องทางโลกอย่างเด็ดขาด
แต่จะเห็นภาพความเด็ดขาดนี้ได้คงต้องดูคำกล่าวเปรียบใน เมิ่งจื่อ ที่กล่าวได้อย่างเห็นภาพว่า “แม้ถอนขนเพียงหนึ่งเส้นแล้วยังประโยชน์แก่โลกหล้า ก็จักไม่ทำ” จนเห็นได้ถึงความแตกต่างที่มีน้อยมากหากเปรียบเทียบกับหลักคำสอนของสำนักเต้า
พ้นไปจากต้นธารของสำนักเต้า เมื่อหลักคำสอนของสำนักเต้าตั้งมั่นอยู่ในสังคมจีนได้แล้ว เต้าจัดเป็นสำนักหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่ด้อยไปกว่าสำนักหญู
แต่ที่ต่างออกไปก็คือ มีน้อยครั้งที่หลักปรัชญาของสำนักนี้จะถูกชนชั้นนำของจีนนำมาใช้ในการปกครอง
มูลเหตุประการหนึ่งน่าจะมาจากหลักคิดของสำนักนี้เอง ที่มุ่งให้บุคคลปลีกวิเวกห่างหายไปจากสังคม แล้วใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ
จากเหตุนี้ ปรัชญาของสำนักเต้าจึงมีที่มาอันต่างไปจากสำนักหญู ที่ซึ่งอย่างไรเสียสำนักหญูก็ประกาศชัดแจ้งว่า หลักคิดของสำนักตนนั้นส่วนหนึ่งสืบทอดมาจากราชวงศ์โจวตะวันตก โดยเฉพาะจากแนวคิดของโจวกงต้าน แต่กับสำนักเต้าซึ่งมีปรัชญาที่ผูกติดกับธรรมชาติจึงย่อมต่างออกไป
และด้วยเหตุที่ผูกติดกับธรรมชาติ ปรัชญาของสำนักนี้จึงมีความลึกซึ้งจนดูลึกลับและซับซ้อนไปด้วย
กล่าวคือ หลักคิดของสำนักเต้านั้นว่ากันว่าคลี่คลายมาจากภูมิปัญญาจีนโบราณ ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติที่เป็นไปอย่างแนบแน่น และทำให้สำนักนี้ต้องอาศัยความรู้ในเรื่องอิน-หยางและอู่สิงหรือธาตุทั้งห้า (น้ำ ไฟ ไม้ โลหะ และดิน) มาอธิบายหลักคิดทางปรัชญาของตนด้วย
ในขณะที่ปกรณ์เล่มสำคัญของสำนักนี้คือ เต้าเต๋อจิง นั้นก็มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าใครคือผู้แต่ง ถึงแม้จะเชื่อกันว่าความคิดหลักๆ ของปกรณ์เล่มนี้จะมาจากความคิดของเหลาจื่อก็ตาม และก็ด้วยเหตุนี้ เหลาจื่อจึงมีฐานะเป็นปรมาจารย์ของสำนักเต้าไปโดยปริยาย ทั้งที่ประวัติของเขาก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือไม่ต่างกับตัวปกรณ์เช่นกัน
ที่ว่าประวัติเหลาจื่อมีความคลุมเครือก็เพราะใน สื่อจี้ ได้บันทึกประวัติของเขาไว้เพียงแค่ 461 ตัวอักษรเท่านั้น
มิหนำซ้ำยังบันทึกด้วยความไม่แน่ใจอีกด้วยว่าควรเป็นอย่างไร
ภายใต้ความคลุมเครือเช่นนี้ประวัติของเหลาจื่อจึงถูกบอกเล่าแต่เพียงว่า เป็นคนรัฐฉู่ มีชื่อสกุลหรือแซ่ว่า หลี่ ชื่อตัวว่า เอ่อร์ ชื่อรองว่า ตาน ในวัยทำงานเคยดำรงตำแหน่งเป็นบรรณรักษ์ในหอสมุดของราชสำนักโจว เป็นผู้ศึกษาและบำเพ็ญเต้า คือการปลีกวิเวกหลีกเร้นจากสังคมไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลก ขงจื่อเคยพบและสนทนากับเขา
ต่อมาเมื่อได้เห็นความเสื่อมของราชวงศ์โจวจึงออกจาริกไปจนถึงชายแดน นายด่านเมื่อรู้ว่าคือเหลาจื่อ จึงขอให้เหลาจื่อเขียนปกรณ์อันเป็นภูมิปัญญาของตนทิ้งไว้ให้ เหลาจื่อทำให้ตามคำร้องขอจนแล้วเสร็จ ปกรณ์เล่มนี้มีภาคต้นกับภาคปลายรวมเป็น 2 ภาค มีตัวอักษรกว่า 5,000 คำ จากนั้นเหลาจื่อจึงออกจากด่านชายแดนไปโดยไม่มีผู้ใดรู้จุดหมายปลายทางของเขา
แม้จะเป็นประวัติที่สั้นกระชับจนแทบจับเค้าชีวิตและงานไม่ได้มาก แต่ประวัติเพียงเท่านี้คงไม่ก่อความคลุมเครือมากนักหาก สื่อจี้ ไม่อธิบายต่อไปว่า ที่รัฐฉู่มีบุคคลคนหนึ่งชื่อ เหล่าไหลจื่อ ได้เขียนปกรณ์เกี่ยวกับวิถีคุณธรรม (เต้าเต๋อ) ขึ้นมา ปกรณ์เล่มนี้มีอยู่ 15 บท เหล่าไหลจื่อผู้นี้มีชีวิตร่วมสมัยกับขงจื่อ
จากนั้น สื่อจี้ จึงย้อนกลับมากล่าวถึงเหลาจื่อว่า เนื่องจากบำเพ็ญเต้า เหลาจื่อจึงมีอายุยืนยาว คือบ้างก็ว่ามีอายุถึง 160 ปี บ้างก็ว่าถึง 200 ปี และว่า เมื่อขงจื่อจากโลกไปแล้ว 129 ปี มีขุนนางผู้หนึ่งซึ่งทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ในหอสมุดของราชสำนักโจวชื่อว่า ตาน จากนั้นก็กล่าวต่อไปว่า เหลาจื่อมีทายาทสืบตระกูลเรื่อยมา ซึ่งจนถึงราชวงศ์ฮั่นก็ยังปรากฏมีสายเลือดของเขาอยู่สืบกันมา
จากบันทึกดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า บุคคลที่ถูกระบุว่าคือเหลาจื่อจะมีอยู่ 3 คน คนแรกคือเหลาจื่อที่มีชื่อตัวว่า เอ่อร์ คนที่สองคือ เหล่าไหลจื่อ และคนที่สามคือ ตาน
จะเห็นได้ว่า หากเป็นคนแรก (เอ่อร์) จะมีชีวิตร่วมสมัยเดียวกับขงจื่อเช่นเดียวกับคนที่สอง (เหล่าไหลจื่อ) ต่างกันแต่เพียงคนที่สองจะมีอายุยืนยาวกว่าขงจื่อนับร้อยปี คนที่สาม (ตาน) เกิดหลังขงจื่อกว่าร้อยปี แต่กลับมีชื่อรอง (ตาน) ตรงกับเหลาจื่อที่มีชีวิตร่วมสมัยกับขงจื่อ
และคงด้วยความคลุมเครือนี้เองจึงทำให้เรื่องราวของเหลาจื่อง่ายต่อการแต่งเติมในชั้นหลังๆ ที่บ้างก็ว่าเหลาจื่อขี่กระบือหายไปทางตะวันตก บ้างก็ว่าเหลาจื่อข้ามทะเลทรายหายไปทางตะวันตกในบริเวณซินเจียงปัจจุบัน
และบ้างก็ว่าเหลาจื่อสำเร็จเป็นเทพหรือเซียน สุดแต่จะผูกให้เรื่องราวเป็นอย่างไร
ส่วนปกรณ์ที่กล่าวกันว่าเหลาจื่อเป็นผู้แต่งนั้นก็มีความคลุมเครือเช่นกัน เพราะถึงที่สุดแล้วก็มิอาจระบุได้ว่าใครคือผู้แต่ง และแต่งขึ้นในยุคใดระหว่างก่อนกับหลังยุคขงจื่อ ทราบแต่คำเรียกปกรณ์ที่มีมาแต่เดิมว่า เหลาจื่อ แล้วในชั้นหลังต่อมาก็เปลี่ยนเป็น เต้าเต๋อจิง
คำเรียกหลังนี้เป็นวิธีเรียกขานตามที่นิยมกันในยุคโบราณ กล่าวคือ เรียกตามชื่อบทชื่อหนังสือด้วยถ้อยคำแรกที่เห็น และโดยที่ภาคต้นของปกรณ์เริ่มด้วยคำว่า เต้า และภาคปลายเริ่มด้วย เต๋อ จึงเรียกขานชื่อปกรณ์ด้วยการเพิ่มคำว่า จิง เข้าไปเป็น เต้าเต๋อจิง ในที่สุด กล่าวเฉพาะชื่อของปกรณ์เล่มนี้แล้วมีความหมายที่ลึกซึ้งเช่นกัน ผู้ที่อธิบายความหมายได้อย่างน่าสนใจท่านหนึ่งคือปัญญาชนจีนสยามชื่อ เสถียร โพธินันทะ
เสถียร โพธินันทะ เปรียบปกรณ์เล่มนี้ว่ามีฐานะสูงส่งไม่ต่างกับ ภควัทคีตา ที่เป็นปกรณ์ของศาสนาพราหมณ์ โดยเสถียรระบุว่า ปกรณ์ทั้งสองเล่มมีสารัตถะที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือ “สอนลัทธิเอกภาพแห่งสรรพสิ่งเป็นอมตะ เที่ยงอยู่เป็นนิตย์ มีมาแล้วกำลังมีอยู่ และจักมีต่อไปอนันตกาล สรรพสิ่งเกิดขึ้นและสลายไปในเอกภาพนี้”
และว่า ปกรณ์ทั้งสองจะต่างกันก็ที่คำเรียกขานเท่านั้น คือฝ่ายอินเดียเรียกเอกภาพนี้ว่า พรหม หรือ ปรมาตมัน หรือ อาตมัน แต่ฝ่ายจีนคือเหลาจื่อเรียกว่า เต้า ดังนั้น หากเรียกตามนัยที่เสถียรอธิบายแล้วก็อาจเรียก เต้าเต๋อจิง ในสยามพากย์ได้ว่า มรรคาตมันปกรณ์
ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า คำว่า “เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง” ที่เสถียรใช้ก็คือ ดุลยภาพระหว่างสรรพสิ่งหรือระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ ซึ่งสำหรับสำนักเต้าแล้วดุลยภาพนี้ตั้งอยู่บนปฏิสัมพันธ์ที่สมดุลกันของอิน-หยางนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม จากหลักคำสอนของสำนักเต้าที่มีปฏิสัมพันธ์กับภูมิปัญญาอิน-หยาง และให้ความสำคัญกับดุลยภาพระหว่างชีวิตกับธรรมชาติอย่างแนบแน่นนี้เอง หลักคิดของสำนักนี้จึงละในเรื่องทางโลก
ด้วยเห็นว่ามิใช่หนทางที่นำไปสู่ เต้า หรือ อาตมัน