บทวิเคราะห์ : เมืองใน ‘ฝุ่น’

ในประเทศ / เมืองใน ‘ฝุ่น’

ไม่ใช่หนังไทย “เมืองในหมอก” ของเพิ่มพล เชยอรุณ เมื่อปี 2521

แต่เป็น “เมืองในฝุ่น” ปี 2562 ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช.

ไม่ว่าฝุ่นการเมืองที่ปกคลุมการเลือกตั้งจนขมุกขมัว ไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หลังจากเลื่อนมาแล้ว 5 ครั้งในเกือบ 5 ปี

ไม่ว่าฝุ่น PM 2.5 ที่กระจายหนาทึบอยู่ในอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ไม่ว่าฝุ่นไฟใต้ ซึ่งห่อหุ้ม 3 จังหวัดชายแดนและสงขลามานานกว่า 15 ปี กลับมาปะทุรุนแรงอีกครั้งช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องเดือนมกราคม 2562 และไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานถึงเมื่อใด

สุดท้าย ฝุ่นจาก “พี่ใหญ่ คสช.” ที่กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เพียงคำพูดไม่กี่คำก็ “เรียกแขก” ได้จากทั่วทุกสารทิศ เหมือนพระสังข์ท่องมนต์เรียกเนื้อเรียกปลา

รัฐบาล คสช.จะแหวกม่านฝุ่นเหล่านี้อย่างไร น่าติดตาม

โดยเฉพาะการที่ “ผู้นำ” ยอมรับ ภายใต้ปัญหาฝุ่นรุมเร้า หากประชาชนไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง

รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทุกเรื่อง

 

สําหรับปัญหาฝุ่นการเมือง ลดระดับความขมุกขมัวลงทันที

เมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงสายวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา

การบังคับใช้ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากปฏิทินเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 2 มกราคม

อันเป็นชนวนเหตุให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ด้วยการจัดเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือหากเลื่อนก็ต้องไม่เกินวันที่ 10 มีนาคม

เพื่อลดความเสี่ยงถูกร้องเป็น “โมฆะ”

การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งภายใต้สโลแกน “ไม่เลื่อน ไม่ล้ม ไม่ต่อเวลา” มีขึ้นหลายครั้งในกรุงเทพฯ ลุกลามไปในหลายจังหวัด โดยมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแสดงความเห็นสนับสนุน

เมื่อกระแสทำท่า “จุดติด”

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. จึงต้องออกมาปรามว่า อย่าสร้างความวุ่นวาย และ “อย่าล้ำเส้นกัน”

การเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานในหลายแง่มุม

บ้างว่าเพื่อต้องการให้พรรค คสช.มีความได้เปรียบสูงสุดก่อนลงสนาม บ้างก็ว่าเกี่ยวข้องกับฤกษ์ยาม บ้างก็ว่าเป็นการยื้อเวลารอดูสถานการณ์ และหาช่องอยู่ในอำนาจต่อ

กระทั่ง กกต.แถลงยืนยันวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ฝุ่นการเมืองก็เริ่มจางลง แต่ก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด

ที่หลงเหลือคือข้อสงสัยว่า หาก กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้งได้ทันวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายตามกรอบ 150 วันหลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 ธันวาคม 2561

จะมี “มือดี” ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้เป็น “โมฆะ” หรือไม่

หากเป็นโมฆะ ก็หมายความว่ารัฐบาล คสช.จะได้อยู่รักษาการอำนาจต่อไป จนกว่าจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่

ซึ่งไม่ใช่เวลาแค่สั้นๆ แน่นอน

 

ขณะที่วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขของรัฐบาล คสช. ด้วยการออกมาตรการต่างๆ ทั้งเฉพาะหน้า ระยะกลางและระยะยาว

ถึงกระนั้นก็ยังถูกมองว่าไม่ฉับไวเท่าที่ควร

ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าทั้งที่มลพิษจากฝุ่นเป็นปัญหาของเมืองหลวงมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2561

รายการ “กู๊ดมันเดย์” โดยนายทักษิณ ชินวัตร ตอน 2 กล่าวถึงปัญหาวิกฤตฝุ่นในเมืองไทย พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขโดยยกตัวอย่างเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ทั้งปักกิ่ง ดูไบ และสิงคโปร์

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กถึง “กู๊ดมันเดย์” ตอนที่ 2 ว่า

“ขนาดฟังแบบคนที่มีอคติต่อทักษิณ ยังทึ่งเลย แกจับประเด็นเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ดีมากๆ ทั้งสาเหตุและแนวทางแก้ไข รวมไปถึงวิสัยทัศน์ในอนาคต

เรียกว่าดีกว่าลุงตู่ ลุงป้อม หรือนายบี ให้สัมภาษณ์มากมายนัก

แกออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เห็นว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องรถ ซึ่งไม่อ้อมค้อมที่จะฟันธงว่าเป็นเครื่องยนต์ดีเซล

เลยเสนอให้ส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรืออีวี อย่างจริงจังเหมือนในประเทศจีน เพื่อเลิกใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถเก่าๆ ได้แล้ว

ซึ่งถ้าไม่รีบตัดสินใจให้บริษัทผลิตรถยนต์ในไทยเปลี่ยนมาผลิตรถ EV ต่อไปเขาก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นกันหมด แต่ถ้าเราจะเป็นฐานการผลิตรถ EV บ้าง เราก็จะส่งออกไปขายได้

ที่เหลือลองไปฟังดู มีอีกหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น การส่งเสริมให้ชาวนาใช้วิธีการหมักตอซังข้าวในนา แทนการเผาทิ้งแล้วเกิดฝุ่นละออง”

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงปัญหาเดียวกันว่า

“วันนี้ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.มีปริมาณมากกว่าเมื่อวาน ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่านดูแลสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเหมาะสม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเองก็เช่นกัน

ผมขอให้กำลังใจและเน้นย้ำให้ทุกท่านดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วย”

ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงยังออกแถลงการณ์มาตรการเร่งด่วน 9 ข้อ ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่ก็ดูเหมือนไม่ทันการณ์

สังคมจัดการเปรียบเทียบวิสัยทัศน์ผู้นำคนปัจจุบันกับอดีตผู้นำแล้วเรียบร้อย

พร้อมตั้งคำถามถึงการใช้ชีวิตภายใต้หน้ากากป้องกันฝุ่น

ประชาชนต้องการวิสัยทัศน์แบบใด

 

ปัญหาฝุ่นจากไฟใต้

เป็นปัญหาระดับประเทศยืดเยื้อมากว่า 15 ปี ผ่านมาหลายรัฐบาล แต่ไม่สามารถ “ดับ” ได้สำเร็จ บางช่วงดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ล่าสุดตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงต้นปี 2562 ได้เกิดความรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งการบุกยิง อส.ในโรงเรียน คาร์บอมบ์ถล่มฐาน ตชด. บุกยิงถล่มโรงพัก

และที่สะเทือนใจมากที่สุด เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกกราดยิงถล่มวัดรัตนานุภาพ หรือวัดโคกโก ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

ส่งผลให้พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และเจ้าอาวาสวัด มรณภาพพร้อมพระลูกวัด รวม 2 รูป

แม้ผู้นำรัฐบาลพยายามระบุ เป็นการลงมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต้องการยกระดับความรุนแรงขึ้นสู่สากล เพื่อให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง

แต่ฝ่ายเห็นต่างกลับมองว่า เป็นการตอบโต้กรณีกลุ่มชายฉกรรจ์แต่งกายคล้ายทหารบุกยิงโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดใน จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561

รวมถึงล้างแค้นเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ “จับตาย” แนวร่วมในพื้นที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 มกราคม และยังมีการนำภาพคนตายมาเผยแพร่ในโซเชียล

ไฟใต้ที่กลับมาโหมแรงรอบใหม่

สวนกับสิ่งที่ผู้นำรัฐบาล คสช. ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ว่าจะดำเนินมาตรการเข้มข้นภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สะท้อนความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

 

ขณะที่ฝุ่นพี่ใหญ่ คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นอีกประเด็นต้องพูดถึง

ด้วยอารมณ์คนในสังคมคุกรุ่นจาก “นาฬิกาหรู” ต่อเนื่องไปยังคำสัมภาษณ์กรณีฝุ่น PM 2.5 “หากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายเสร็จสิ้นใน 2-3 ปี จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองได้”

หรือต่อเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธก่อเหตุในเคนยา บุกโจมตีโรงแรมในเครือดุสิตธานีของคนไทย ที่ระบุถึงสาเหตุว่า “คงเห็นอาหารอร่อยมั้ง” กลายเป็นตลกร้าย สื่อต่างประเทศนำไปตีข่าวแพร่ทั่วโลก

ล่าสุด การจัดงานเลี้ยง “ข้าวเหนียวมะม่วง” ครั้งใหญ่

เชิญนักท่องเที่ยวจีนมาร่วมกว่า 10,000 คน เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย หลังเกิดเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวชาวจีนล่มที่ จ.ภูเก็ต มีผู้เสียชีวิต 47 คน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 แล้วมีการให้สัมภาษณ์ “เขาทำตัวของเขาเอง”

แต่แล้วผลจากการเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วง และอาหารอื่นๆ ด้วยงบฯ กว่า 7 ล้านบาท กลับไม่เป็นดั่งคาด

ถูกสังคมวิจารณ์ว่าไม่ต่างจากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ภาพข้าวเหนียวมะม่วงเหลือทิ้งบานเบอะ ได้รับการส่งต่อๆ กันในโซเชียลมีเดีย

ก่อให้เกิดกระแสตีกลับ น่าอเนจอนาถ

 

ไม่ว่าฝุ่นใด จึงล้วนเป็นสัญญาณ “ขาลง” ให้รัฐบาล คสช.ต้องตระหนัก ยิ่งวันเลือกตั้งทอดยาวออกไปเท่าใด อาจไม่เป็นผลดีกับตัวเองมากเท่านั้น ดั่งเช่นสำนวนจีน

“ค่ำคืนยาวนาน ฝันยุ่งเหยิง”

สำหรับรัฐบาล คสช. นับจากวันนี้ไปถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม จะยุ่งเหยิงขนาดไหน จะมี “งานงอก” อีกหรือไม่

  น่าติดตาม พร้อมกับเอาใจช่วยเป็นอย่างยิ่ง