แมลงวันในไร่ส้ม/ ข่าวเลือกตั้งระอุขึ้น ลุ้น ‘บัญชีชื่อนายกฯ’ โหวต ส.ส.-ชิงผู้นำประเทศ

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวเลือกตั้งระอุขึ้น

ลุ้น ‘บัญชีชื่อนายกฯ’

โหวต ส.ส.-ชิงผู้นำประเทศ

 

บรรยากาศการเลือกตั้งเข้มข้นเป็นลำดับ ข่าวการเมืองเรียกความสนใจจากผู้อ่านได้อย่างคึกคัก ด้วยประเด็นข่าวที่เต็มไปด้วยสีสัน และสะท้อนความซับซ้อนในการเลือกตั้งครั้งนี้

แม้จะชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ขั้นตอนในการประกาศกำหนดวันเวลาในการเลือกตั้ง กลับมีปัญหาอย่างมาก โดยรัฐบาลและ กกต.ต่างโยนกันไปมา

สุดท้ายชัดเจนว่ากำหนดวันเลือกตั้งขยับจาก 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไปเป็น 24 มีนาคม 2562

การเลื่อนดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากประชาชนบางกลุ่ม จนเกิดการชุมนุมคัดค้านทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอน พรรคการเมืองต่างๆ พากันลงพื้นที่หาเสียงแบบแข่งกับเวลา

เพราะการเลือกตั้งที่เว้นว่างมาหลายปี กฎกติกาที่เปลี่ยนไปมาก การชิงจังหวะเข้าชี้แจงต่อประชาชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ลึกลงไปในการแข่งขันหาเสียงก็คือ การต่อสู้ระหว่างขั้วการเมือง

เป็นความต่อเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่ทำให้การเมืองไทยแบ่งเป็นฝ่ายเป็นขั้ว

และมีชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นเป้าหมายสำคัญ

ขั้วที่มีรากฐานจากกลุ่มต่อต้านทักษิณ คือพรรคพลังประชารัฐ ที่ดึงเอานักการเมืองหน้าเก่าจากพรรคต่างๆ รวมถึงพรรคเพื่อไทย มาร่วมในนามกลุ่มสามมิตร

ผสมผสานกับนักการเมืองรุ่นกลางๆ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองท้องถิ่น

ในขั้วนี้ ยังมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวตั้งตัวตี

อีกขั้วหนึ่ง คือแชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทย ที่นายทักษิณเป็นผู้แจ้งเกิดให้ตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทย

แม้จะผ่านการถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ยังรักษาคะแนนนิยมไว้ได้ รอบนี้เป็นเป้าการถูกดูด แต่ก็ยืนยันว่า แม้มีอดีต ส.ส.ถูกดูดไปหลายคน แต่ก็ไปแต่ตัว คะแนนยังอยู่กับพรรค และพรรคตั้งใหม่ที่กระจายอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยไปเข้าสังกัด อาทิ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ

และยังมีกลุ่มที่ท่าทีไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน นำมาโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระยะหลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.อย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีเป็นญาติดีกับพรรคเพื่อไทย กลุ่มนี้ยังรวมถึงภูมิใจไทย ที่ยังรักษาผู้สมัครเด่นๆ ของพรรคเอาไว้ได้

 

แล้วการเมืองเรื่องเลือกตั้งก็เข้มข้นมากขึ้นอีก เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร ออกโรงมาประกาศจัดรายการทางเว็บไซต์ โดยบันทึกเสียงออกเผยแพร่ทุกวันจันทร์ ในชื่อรายการว่า “Good Monday รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร” เริ่มรายการตอนที่ 1 เมื่อ 14 มกราคม

และเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม ได้เผยแพร่รายการตอนที่ 2 หยิบยกเรื่องฝุ่นขึ้นมาเสนอแนะทางแก้ไข โดยยกตัวอย่างจากกรณีของนครปักกิ่ง แก้ปัญหาด้วยการย้ายโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินอยู่รอบเมือง ใช้พลังงานอื่นที่สะอาด มีโรงงานอุตสาหกรรมรอบเมืองจับย้ายหมด ส่วนรถยนต์มีนโยบายว่า ภายใน 5-6 ปีรถที่จะวิ่งในปักกิ่งต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น และก็ถือโอกาสเอาวิกฤตนี้มาส่งเสริมอุตสาหกรรมทำรถไฟฟ้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ส่งเสริมให้มีการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้ามากขึ้น

พร้อมกับระบุว่า ปัญหาฝุ่นของไทยเกิดจาก 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งคือรถ โดยเฉพาะรถดีเซล กับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน รถเก่า หมดสภาพมาวิ่ง ปัญหารถติด ปัญหารถมาก ซึ่งต้องแก้อย่างจริงจัง

สอง ก็คือการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์ มาผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ เพื่อลดมลภาวะ และไม่ต้องนำเข้าน้ำมันมากมาย ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่า การจะไม่ให้รถที่เป็นเครื่องยนต์วิ่งได้อีกกี่ปี ต้องมีแผน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนที่มีรถที่เป็นเครื่องยนต์ธรรมดาวันนี้ต้องเดือดร้อน

นายทักษิณกล่าวอีกว่า ที่เป็นมลภาวะมาก ยังมีการเผาชีวมวลทั้งหลาย พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เกษตรกรมักจะเผาตอข้าว แทนที่จะขุดหรือขังน้ำไว้ให้เน่า ควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส โดยการรณรงค์เกษตรกรลดการเผา biomass เปลี่ยนเป็นการปล่อยให้เน่าบนดินแล้วจะเป็นปุ๋ยในตัว

 

วันเดียวกันนั้นเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ความว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เร่งสั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรีบแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยระบุว่าให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วน 9 ข้อ อาทิ

เพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น.ทุกวัน จนกว่าฝุ่นละอองจะลดลงอยู่ในระดับมาตรฐาน,  แจกหน้ากากอนามัย N95 ในพื้นที่สวนลุมพินี บางคอแหลม จตุจักร บางกะปิ บางขุนเทียน โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย คนชรา เด็ก และผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิด, เข้มงวดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งรถโดยสารสาธารณะ

จัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยเร่งคืนพื้นผิวการจราจร ณ จุดที่ดำเนินการเสร็จแล้ว สำหรับจุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จะปรับพื้นที่ผิวถนนให้กว้างขึ้น โดยบีบหรือลดพื้นที่การก่อสร้างบนพื้นผิวการจราจรให้แคบลง

จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูงและระบบสาธารณูปโภค โดยจะดำเนินการติดตามตรวจสอบและสำรวจ ให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละอองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ฯลฯ

 

คาดหมายว่าหลังจากพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศใช้ นอกจากกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ยังจะกำหนดวันยื่นใบสมัครสำหรับ ส.ส.เขตและยื่นรายชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระหว่าง 4-8 กุมภาพันธ์

ในห้วงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองจะต้องยื่นรายชื่อผู้พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคละ 3 ชื่อด้วย โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องให้ความยินยอม หรือจะไม่ยื่นก็ได้

พรรคหลักๆ ที่แวดวงการเมืองจับตา ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ จะส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วยหรือไม่

และจะมีชื่ออื่นประกบด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เป็นตัวเต็ง

หากมีการประกาศรายชื่อดังกล่าวออกมา เชื่อว่าการแข่งขันเลือกตั้งจะยกระดับไปอีกขั้น เพราะชื่อของ “ว่าที่นายกฯ” จะเป็นชื่อที่เอ่ยอ้างถึงบนเวทีหาเสียงและพื้นที่แย่งชิงคะแนนต่างๆ

การลงคะแนนเลือก ส.ส.และพรรคการเมือง จึงจะมีความหมายไปถึง “ผู้นำ” ในอนาคตด้วย