อภิญญา ตะวันออก / หมูบิน! จ้าวเวหา : ทุ่งสังหารพระตะบอง

การบินกลับจากกำปอดที่เริ่มจากตีวงไปฝั่งตะวันตกจนปะทะกับกระแสลมฝั่งทะเลที่วูบดันกับแรงต้าน และการสูญเสียเชื้อเพลิงที่หมดเปลืองไปกับการรันเวย์แท็กซี่บนพื้นศิลาแลงแห่งสนามบินกำปอด โดยเฉพาะอนุสรณ์ของหายนะที่สนามบิน เป็นสิ่งที่ต่างสิ้นเชิงจากทุกพื้นที่

รวมทั้งกิจการบรรทุกปลาพาณิชย์ทางอากาศของสายการบินกัมพูชา นับว่ามหัศจรรย์ในแวดวงการบินของยุค “70 ต่อไปจากนี้ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่พวกเขาจะทำไม่ได้ สำหรับประวัติการบินพาณิชย์ของประเทศแห่งนี้

สำหรับหมูบิน! จุดหมายปลายทางแห่งต่อไปคือจังหวัดพระตะบอง เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศซึ่งได้ชื่อว่ามีความเสี่ยงในระดับต้นๆ เช่นเดียวกับเขตอื่นๆ ซึ่งกัมพูชาเวลานั้น ทุกหย่อมหญ้าล้วนแต่มีกองกำลังเขมรแดงแฝงตัวไปอยู่ ในที่นี้ไม่เว้นแม้แต่สนามโปเชนตง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันอันว่างเว้นจากตารางบินที่น่าเบื่อนั้น กีย์ครั้งหนึ่งเขาริอ่านออกนอกพื้นที่อย่างสุ่มเสี่ยง และน่าแปลกไปอีกเมื่อเขานึกอยากใคร่ซื้อเอ็ม 16 สักหนึ่งกระบอก และเผอิญว่าร้านขายปืนที่ว่านี้ก็อยู่ชานเมืองไปสัก 3-4 กิโลเมตร บนเส้นทางพนมเปญ-กำปงโสม

ที่ชุกชุมไปด้วยกองทัพปลดปล่อยเขมรแดง

 

น่าแปลก ที่ดูเหมือนว่าบันทึกของกีย์ดูจะชุมนุมไปด้วยเรื่องที่เขาไม่สมัครใจจะเปิดเผย เช่นกรณีที่ติดตามคณะ “อภิรักษ์เมืองพระนคร” ผจญภัยในเสียมเรียบ

และเหตุจูงใจที่ทำให้เขาต้องเดินทางไปหาอาวุธปืนด้วยตัวเองนั่น?

ทุกอย่างดูจะลับลวงพราง แม้ความจริงการตกเป็นเป้าโจมตีในทุกพื้นที่

แต่การออกนอกเมืองคราวนี้ เขายืมรถจี๊ปของนายจ้าง ไม่เท่านั้น เมื่อขับไปบนเส้นทางที่ล้อมด้วยสวนปาล์มและดงอ้อย

ทันใดนั้นเอง เขาก็ได้ยินเสียงปืนดังรัวขึ้น กีย์ซึ่งกอดปืนที่ซื้อมาแนบอก เขาใช้ต้นข่อยร้อยปีเป็นที่กำบัง แต่ห่างไป 300 หลาด้านซ้ายมือของเขา เหล่านักรบเขมรแดงในชุดดำ 30 นายกำลังลาดตระเวนพร้อมอาวุธปืนจากโซเวียต ที่เปิดฉากยิงใส่ทหารรัฐบาลเขมรสาธารณะที่โต้กลับอย่างดุเดือด

การต่อสู้นี้ต่อเนื่องไปถึง 30 นาที ท่ามกลางการโจมตีที่เกือบจะคร่าชีวิตกีย์ หมูบิน! ไปด้วย เขาตระหนักทันทีว่า หากถูกจับเป็นเชลยโดยเขมรคอมมิวนิสต์ เขาคงถูกกล่าวหาว่าเป็นอเมริกันและสายลับซีไอเอแบบเดียวกับฟร็องซัวส์ บิโซต์ เจ้าหน้าที่แห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศที่เคยประสบชะตากรรมเป็นเชลยศึกถึง 3 เดือนที่เสียมเรียบ (*)

ปฏิบัติการนี้ กีย์ยังเชื่อว่าเป็นไปอย่างมีขั้นตอน ราวกับได้รับคำสั่งลงมา การจู่โจมที่เกิดขึ้นราว 30 นาที ในที่สุดนักรบเขมรแดงก็เป็นฝ่ายล่าถอยอย่างมีแบบแผน และทิ้งคนตายไว้จำนวนหนึ่ง

หลุดจากสนามรบครั้งนั้นมาได้ กีย์ หมูบิน! สาบานกับตัวเองว่า จะไม่ย่างกรายออกนอกเขตเมืองหลวง แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์จากนั้น พอมิเชล บรูเนต์ ชักชวนไปหมู่บ้านแห่งหนึ่ง

กีย์ หมูบิน! ก็ไม่มีปฏิเสธ

 

มิเชล บรูเนต์ คือใคร? เขาไม่ใช่ศาสตราจารย์และผู้ชำนาญการด้านฟอสซิล แต่เป็นนักชาติพันธุ์วิทยาสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศคนหนึ่ง ซึ่งชื่อจัดตั้งนี้ อาจทำให้คิดได้ว่า เขาอาจเป็นฟร็องซัวส์ บิโซต์ (?) บุคคลที่กีย์ หมูบิน! ยอมรับว่ารู้จักและเป็นสหายรักคนหนึ่ง (118)

แต่การเดินทางไปหมู่บ้านของนายช่างเงิน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากทางหลวงพนมเปญ-เสียมเรียบ หรือพนมเปญ-กำปงทม (?) หมู่บ้านแห่งนี้มีทำเลบริเวณปากแม่น้ำ และภายในหมู่บ้านก็มีช่างเขมรที่มีทักษะในการสลักเครื่องเงินเป็นพระพุทธรูปในแบบต่างๆ

ทว่า ทำไมบรูเนต์จึงจำต้องไปที่นั่น?

คราวหนึ่ง เขาก็เสี่ยงชีวิตไป “สำนักอภิรักษ์เมืองพระนคร” ที่เสียมเรียบมาแล้ว คราวนี้พวกเขาตัดสินใจโดยสารรถประจำทางที่มีสัมภาระเต็มอัดแน่นอยู่บนหลังคา ส่วนภายในรถยนต์ก็แออัดยัดทะนานราวกับปลากระป๋อง

หลังจากผ่านด่านตรวจต่างๆ ของกองทัพนับสิบแห่งตลอดระยะราว 10 กิโลเมตร ทั้งหมดก็เผชิญกับการถูกโจมตีโดยกลุ่มเขมรแดง (อีกครั้ง) โชคดีที่กีย์-บูรเนต์หนีรอดไป ถึงหมู่บ้านศิลปาชีพ ที่เร่งรีบทำกิจธุระ และเช่ารถกลับพนมเปญอย่างปลอดภัยอีกครั้ง

และเป็นภารกิจเสี่ยงตายอีกครั้งที่แคล้วคลาดมาได้

 

ฤดูฝนที่เพิ่งมาเยือน และชวนให้ถวิลหาถึงความสุขจากทัศนียภาพของชั้นบรรยากาศเมืองพระตะบอง โดยเฉพาะท้องนาทุ่งกว้างในช่วงเช้า ขณะที่การก่อตัวของกลุ่มเมฆหนาทึบ-กูมูโลนิมบัสที่มักจะมวนตัวกันเป็นพายุฝนในตอนบ่าย

สภาพที่เปลี่ยนไปอย่างตรงข้ามนี้ มีผลต่อการบินที่ยากขึ้น และพระตะบองก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นใดๆ ในความเป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะปัญหาบนภาคพื้นดิน

เมืองหลวงฝั่งตะวันตก-อันดับสองของประเทศ ว่ากันว่าพระตะบองยังมีหอบังคับการบินที่ทันสมัยกว่าเมืองอื่น ซึ่งในที่นี้ไม่แน่ใจว่าเป็นสนามบินแห่งเดียวกับที่อยู่จังหวัดกำปงฉนังหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นประโยชน์ต่อเครื่องดีซี-3 ที่สามารถลงจอดอย่างปลอดภัย แม้ขณะที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่พอให้รื่นรมย์บ้าง สำหรับการบินระยะสั้นเพียง 1 ชั่วโมงจากโปเชนตง

กระนั้น สำหรับสายตาของหมูบิน! แล้ว เพียงได้ชื่นชมความงามจากกลุ่มเทือกเขาดากาม่อนที่เลื้อยผ่านจากฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ถึงตะวันตกเฉียงเหนือ ตามระยะพื้นที่ราว 100 กิโลเมตรที่ครอบคลุมจากโพธิสัตว์-กำปงฉนังจนถึงพระตะบอง ด้วยความสูงเฉลี่ยที่ 1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

หากสภาพอากาศดี พวกหมูบิน! จะมีโอกาสชื่นชมความงามที่ราบตอนล่างของทะเลสาบใหญ่ แหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และเป็นแอ่งอารยธรรมอันเก่าแก่ เช่นเดียวกับเทือกเขาดากาม่อนที่งามสง่าในยามสาย เมื่อมองจากอายเบิร์ดวิว

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเที่ยวบินพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตตามหลักการวิชาชีพ หากแต่การสำรวจ “หมุดหมาย” บนเส้นอากาศและการบินนี้ กีย์กลับยกย่องบาบาลว่าเป็นนักบินที่บินสำรวจเขมรอย่างโชกโชนคนหนึ่ง และสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้นั่นก็คือ “หมุดหมาย” สำคัญที่เป็นองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศกัมพูชา และมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อนักบินรุ่นหลัง

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสถานที่และการติดตามระยะเวลาอย่างละเอียด ที่จำเป็นยิ่งต่อนักบินและลูกเรือในการเลือกบินในแนวตั้งตามเวลาที่กำหนด มีความหมายว่า หากเครื่องบินขึ้นบิน หวังว่าจะไม่มีการแก้ไขเส้นทาง

และคนที่รับอานิสงส์ไปเต็มๆ แห่งบันทึกความรู้ที่สมบูรณ์แบบนี้ ก็คือกีย์นั่นเอง

 

สําหรับเที่ยวบินแรกพระตะบองนี้ บุคคลที่ 3 คือฌ็อง บูลเบต์ (ชื่อจัดตั้ง?) นักชาติพันธุ์วิทยาวัย 45 ปี ที่จำใจทิ้งภารกิจอภิรักษ์เมืองพระนคร ภายใต้ความกดดันของกองกำลังเขมรแดง ที่อาศัยปราสาทวิหารในเขตนครวัดนครธมที่กว้างใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นฐานปฏิบัติการเคลื่อนไหว

ฌ็อง บูลเบต์ จึงเป็นอีกคนหนึ่งที่ย้ายมาทำงานที่พระตะบอง ขณะที่บางคนถูกส่งกลับไปพนมเปญและบางคนกลับประเทศ

คราวหนึ่ง บูลเบต์ขับจี๊ปไปรับพวกหมูบิน! เพื่อเห็นแก่ความรื่นรมย์ พวกเขาพากันสังสันทน์ความเห็นอกเห็นใจด้วยการดื่มกินที่บ้านบูลเบต์ ด้วยการลิ้มรสเครื่องดื่มท้องถิ่นรสเลิศจากดากาม่อน ในเวลาเดียวกัน ก็ใช้เวลาว่างนั้นตีเปตองไปด้วย

บาบาลจับคู่กับครูหนุ่มบรูเนต์และคุณหมอหลุยส์ โจสสิเนต์ ผู้มีอายุ 70 ปีแล้ว แต่สายตา น้ำหนักเท้าและอารมณ์ขันของเขาที่เปี่ยมล้น ส่วนกีย์คู่กับบลูเบต์ เปตองจอมเก๋าผู้เปี่ยมไปด้วยทักษะร่วมกับฌ็องคล็อด ซาล (ชื่อจัดตั้ง) เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอองค์กรด้านอาหารเพื่อผู้ยากไร้และความหิวโหย (FAO)

ครบทีมข้างละสาม บรูโน เดสกอร์ส์ ครูหนุ่มอีกคนจึงเป็นกรรมการ

ทั้งหมดเล่นกันอย่างมาราธอนถึง 20 ชั่วโมง กว่าที่ฝ่ายกีย์จะพิชิตชัย และก็พบว่ามันเลยเวลาเคอร์ฟิวไปแล้ว พวกเขาทั้งหมดจึงพักค้างที่บ้านของฌ็อง ผู้มีภริยาเป็นชาวเขมร และมีญาติๆ อีกเกินโหลในชายคาเดียวกัน

ส่วนคุณหมอหลุยส์ชรานั้น เล่าถึงประสบการณ์ขาดแคลนยารักษาโรคที่จำเป็นต่อผู้ป่วย แต่แม้ยามสงครามที่แร้นแค้นเช่นนั้น คุณหมอก็ไม่เคยเลือกปฏิบัติต่อคนไข้ไม่ว่าจะเขมรหรือต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นที่รักยิ่งของชาวพระตะบอง

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและนักภูมิศาสตร์ต่างชาติในพระตะบองเริ่มพบว่า พวกเขาต้องทำงานยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะนักรบในชุดดำ และระบบคอมมูนของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหลังปี พ.ศ.2516 ไปแล้ว

หลังจากนั้นพระตะบองก็กลายเป็นทุ่งสังหารในกาลต่อมา

———————————————————————————————————-
(*) อิงจากบันทึกส่วนตัวของฟร็องซัวส์ บิโซต์ ที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สารคดี “Behind The Gate” (2557)