จัตวา กลิ่นสุนทร : สถาบันพระมหากษัตริย์ (5)

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

สิ่งเหล่านี้มีเจ้าของ ลงมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โขลงช้าง ไม่ใช่ของคนทั่วไปเป็นของแผ่นดิน เป็นของพระมหากษัตริย์ มีข้าราชการกรมช้างคอยทำบัญชีติดตามเรื่องอยู่เสมอ ใครจะไปจับไม่ได้

แม้แต่ฝูงควายป่าก็เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงไว้ เวลาราษฎรไม่มีควายจะไถนาก็ไปจับเอามาแจกให้ราษฎรใช้ทำนา ไถนาได้

ฝูงควายป่านั้นมีอยู่หลายแห่ง แห่งที่สำคัญคือที่จังหวัดกาญจนบุรี จนปรากฏว่า เรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” ขุนไกรพ่อขุนแผนอยู่กรมอาทมาตย์ แกเป็นมอญใช้สืบราชการลับพม่าได้ เพราะมอญกับพม่าดูกันไม่ออก ยามศึกสงครามก็อยู่กรมประมวลข่าวกลาง แต่ในยามสงบแกก็อยู่เฉยๆ ไม้รู้จะไปสืบอะไรก็เลยได้มอบให้ไปดูฝูงควายป่าเพื่อรักษา–อนุรักษ์ฝูงควายป่า

วันดีคืนดีสมเด็จพระพันวษาเสด็จตรวจราชการจะทอดพระเนตรฝูงควายป่าว่ามีมากน้อยแค่ไหน ระหว่างประทับอยู่ ขุนไกรก็ต้อนฝูงควายป่ามาให้ทอดพระเนตร ควายเกิดตื่นแกก็เสียสติ กลัวควายจะมาเหยียบบุกรุกขึ้นมาบนพลับพลา ก็ใช้หอก ใช้อะไรแทงควายตายเป็นว่าเล่นกองพะเนินเทินทึก–ก็เลยกริ้วสั่งตัดหัวขุนไกรเลย

ก็น่าจะกริ้ว เพราะควายเหล่านี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และแกฆ่าตายสุมกันเป็นกองพะเนินอย่างนี้หน้าพระที่นั่ง–เกิดเสด็จไม่หยุดจะทำอย่างไร แกมิต้องขายเนื้อเค็มหรือ–คนอย่างนี้เลี้ยงไว้ไม่ได้ เห็นใจกันบ้าง

เท่านี้แหละครับ ก็เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์

 

ศัพท์ที่ 3 เรียกพระมหากษัตริย์เป็น เจ้าชีวิต–หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งปวง

ในสมัยก่อนมีระบบถือว่าราษฎรไทยทุกคนต้องสังกัดกรมกองราชการของพระมหากษัตริย์ มีศักดินาลดหลั่นกันลงมาแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของแต่ละคน

พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่จะใช้คนเหล่านั้นได้ในราชการแผ่นดินทุกคน ไม่ว่าจะเป็นยามสงครามหรือยามสงบ

และในฐานะทรงเป็นเจ้าชีวิต มีพระราชอำนาจที่จะประหารชีวิตคนได้

คนอื่นไม่มีอำนาจนอกจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น

 

ศัพท์ที่ 4 ใช้เรียกพระมหากษัตริย์ว่า ธรรมราชา คือหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงรักษาธรรมะโดยวิธีปฏิบัติธรรมด้วยการอยู่ในศีลในธรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งปวง

นอกจากนั้นแล้วทรงเป็นต้นแห่งความยุติธรรม คือ เป็นอำนาจตระลาการสูงสุดสำหรับตัดสินคดี ศาลไทยมี 3 ศาล ศาลสูงสุดเรียกว่า ศาลฎีกา นั่นคือ ถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้ตระลาการเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสิน แต่ก่อนก็ทรงตัดสินด้วยพระองค์เอง

เรื่องพระราชอำนาจทางกฎหมายนี้ ผมอยากจะขอพูดไว้หน่อย คือคนไทยทุกวันนี้มักเข้าใจว่าในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทางนิติบัญญัติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่แน่นักว่าความเห็นเช่นนั้นจะถูกต้อง เพราะกฎหมายของไทยสมัยโบราณที่เรียกบทพระอัยการที่มีมาแต่โบราณ เข้าใจว่าจะผ่านมาทางมอญจากอินเดีย

บทพระอัยการนี้ เป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าได้มาจากขอบฟ้าหิมพานต์แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องศึกษา

เวลาเกิดถ้อยร้อยความ ผู้พิพากษาเป็นคนตัดสินว่าใครผิดใครถูก ถ้าจำเลยผิดจริงก็เอาบทพระอัยการ คือบทกฎหมายมาเปิดดูว่าผิดมาตราอะไร ก็จะต้องลงโทษกัน ในการสู้ความไม่พูดถึงกฎหมาย พูดถึงข้อเท็จจริงตลอดเวลา

บทพระอัยการนี้ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงตราไว้ เป็นของมีมาแต่โบราณใช้กันมาทุกสมัย

ทีนี้เมื่อบทพระอัยการคือกฎหมายเก่า ก็จำเป็นที่จะต้องสับสน บางมาตราไม่ตรงกัน หรือบางมาตราซ้ำกัน บางมาตราอ่านแล้วแปลไม่ออกว่าหมายความว่าอย่างไรเพราะเป็นภาษาโบราณ ผู้ที่จะชี้ขาดได้ก็คือ องค์ธรรมราชา องค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นต้นแห่งความยุติธรรม

ในฐานะเป็นผู้สูงสุดในธรรม ทรงมีพระราชอำนาจที่จะชี้ขาดว่ามาตราบทพระอัยการนี้แปลว่าอย่างไรให้ปฏิบัติอย่างนั้น

และเมื่อทรงชี้ขาดไปแล้ว พระราชดำรัสชี้ขาดนั้นเรียกว่า พระราชบัญญัติ–พระราชบัญญัติเท่านั้นต้องทำบันทึกเอาไว้ เป็นการแปลกฎหมายดั้งเดิมตามความเห็นของพระมหากษัตริย์ ในแต่ละยุค เมื่อมีปัญหาขึ้น

ส่วนพระราชกำหนด ซึ่งเดี๋ยวนี้ถือเป็นกฎหมายเหมือนกัน พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงตราขึ้นจริงแต่ไม่เกี่ยวกับคนทั่วไป พระราชกำหนดนั้นเป็นกำหนดว่าด้วยการปกครองประเทศ มีผลบังคับข้าราชการเท่านั้น เช่น พระราชกำหนดปกครองหัวเมือง เจ้าเมือง ปลัดเมือง กรมการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องทำอะไรบ้างนี่เป็นพระราชกำหนด

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ดั้งเดิมมา ผมคิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมาก แต่จะมาเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

ทีนี้ ทั้งหมดนี้ก็ได้พูดกันมานานถึงเรื่องความเป็นเทวราชของพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่เราลืมไม่ได้ก็คือ ตั้งแต่แรกมา ประเทศไทย คนไทยนับถือศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธมีธรรมะอีกอย่างหนึ่ง ทรรศนะอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ตรงกับศาสนาฮินดู เพราะฉะนั้น ธรรมะสำหรับพระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์ไทยทรงนับถือศาสนาพุทธ จึงเป็นธรรมะที่มีความสำคัญ มีอำนาจอิทธิพล เหนือองค์พระมหากษัตริย์ทุกยุคทุกสมัย

ในสมัยพระเจ้ารามคำแหงไม่มีปัญหาเพราะระบบพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชพิธีเข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่พอถึงกรุงศรีอยุธยาทั้งที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้า แต่ก็ทรงปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธศาสนา ได้แก่ “ทศพิธราชธรรม” คือ ทาน-การให้, ศีล-การสังวรกาย และใจให้สุจริต, บริจาค-การเสียสละ, อาชวะ-ความซื่อตรง, มัทวะ-ความอ่อนโยนในการประกอบพระราชกรณียกิจทั้งปวง, ตปะ-คือ การทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์โดยครบถ้วนไม่บกพร่อง และดีขึ้น, อโกธะ-ความไม่โกรธ, อวิหิงสะ-คือความไม่เบียดเบียนผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์, ขันติ-ความอดทน, อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม

ผมอยากจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Objectivity หมายความว่าคิดจะทำการทั้งปวงโดยปราศจากความรู้สึกตัว หรืออารมณ์ยินดียินร้าย ไม่ว่าจะคิดทำอะไรต้องคิดต้องทำเหมือนกับเรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับตัวเราเอง

คือมองไปแล้วไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของเรา ซึ่งพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องทำทั้งหมด นี้เป็น “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงปฏิบัติตลอดมา แม้จะทรงดำรงอยู่ในฐานะเทวราช แต่ในการปฏิบัติทรงปฏิบัติตามพระธรรมนี้

ทีนี้อีกอย่างหนึ่งที่ศาสนาพุทธฉลาดมากนั้นที่ผมจะต้องพูดไว้คือ พระมหากษัตริย์ฮินดู ความเชื่อถือของพราหมณ์นั้น พระองค์ทรงปกครองประเทศในฐานะที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันภัยพิบัติไม่ให้เกิดแก่ประเทศ และทำให้ประเทศมีชัยชนะในสงครามอื่นๆ ด้วยการบูชายัญแต่อย่างเดียวไม่มีนโยบายใดๆ หรือวิเทโศบาย ใช้บูชายัญอย่างเดียว คือ บูชายัญต่อพระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์ และจะบรรลุผลต่างๆ ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย อุดมสมบูรณ์

คติของไทยก็มีทางนั้นอยู่แล้วอย่างที่ผมได้กล่าวมาเช่นกัน พระราชพิธีต่างๆ ที่ทำขึ้นเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง

แต่ศาสนาพุทธสอนไว้อีกทางหนึ่ง พระพุทธจ้าทรงเป็นผู้ฉลาดหาที่เปรียบมิได้ ได้ทรงนำเอาพิธีบูชายัญของพราหมณ์ต่างๆ นั้นมาเปลี่ยนแปลงเป็นราชธรรมของพระมหากษัตริย์

เป็นสังคหวัตถุ 4 ประการ

 

1.สัสเมธ – ศัพท์นี้มาจากคำว่าอัศวเมธของพราหมณ์ ถึงศาสนาพุทธเป็นสัสเมธ–สัตว์ประเภทนี้ อัศวเมธ คือ การปล่อยม้าอุปการ เอาม้ามาแล้วก็ปล่อยไปจากเมือง ม้าวิ่งผ่านเมืองใดถ้าใครไม่ยอมรับ ถือว่าเมืองนั้นเป็นศัตรูก็ยกทัพไปรบ ถ้ายอมให้ม้าเขาเมืองได้ ก็ถือเป็นประเทศราช เอากันง่ายๆ อย่างนี้แหละ โดยในที่สุดม้าวิ่งรอบเมืองได้เมืองขึ้นหรือไม่ได้ ม้าวิ่งกลับมาก็เอาม้าฆ่าบูชายัญต่อเทวดาถือว่าเป็นการดี เผยแพร่พระราชอำนาจ

พระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนสัสเมธ แทนการฆ่าม้าบูชายัญ กลายเป็นคำสั่งสอนให้พระมหากษัตริย์ทรงรู้อุบายที่จะบำรุงพืชผล ให้ทรงรู้วิธีการส่งเสริมการเกษตร ทำให้ผลสมบูรณ์

2. เรียกว่าปุริสเมธ – ฆ่าคนบูชายัญ พระมหากษัตริย์ฮินดูฆ่าคนบูชายัญเป็นพลีกรรมต่อเทวดา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระองค์เอง และของบ้านเมือง ศาสนาพุทธเปลี่ยนปุริสเมธให้แปลว่าพระมหากษัตริย์ควรจะมีความรู้จักคนว่า ใครชั่ว ใครดี ใครมีความสามารถแค่ไหน ใครซื่อสัตย์สุจริต หรือคดโกงอย่างไร เมื่อทรงอยู่ในความรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะได้ใช้คนเหล่านั้นในราชการได้อย่างถูกต้อง และรู้จักใช้ได้ถูกกับความสามารถ

3. สัมมาปาสะ – เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของพราหมณ์ คือ การบูชายัญมนุษย์ เป็นการบูชายัญเพื่อทำให้คนอื่นรับ แต่ศาสนาพุทธใช้เป็นทำนองที่ว่า พระมหากษัตริย์ต้องรู้จักผูกใจคนทั้งประเทศ ให้ภักดีต่อพระองค์ ในการปกครองที่ดี ไม่ใช่บูชาเทวดา

4. วาจาเปยยะ – นี่เป็นของพราหมณ์ เป็นการต่อพระชนมายุพระมหากษัตริย์ โดยทำพิธีบูชายัญ พระพุทธเจ้าเปลี่ยนมาเป็นว่า วาจาเปยยะ–ของพราหมณ์ วาจาเปยยะ แปลว่า พระมหากษัตริย์ต้องพูด หรือสั่งด้วยคำพูดที่อ่อนหวานควรดื่มด่ำไว้ในใจ

5. นิรัคคหะ – ความจริงก็ไม่ใช่อะไร นิรัคคหะแปลว่า สภาพที่ไม่ต้องลั่นกุญแจบ้านเมือง ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติได้พร้อมหมดทุกประการแล้ว บ้านเมืองจะสงบสุข

ไม่ต้องใส่กุญแจบ้านเมือง