อัญเจียแขฺมร์ : แด่ความตายครั้งที่ 2 ของ แปน โสวัน

และแล้ว มหากาพย์ลับตอนสุดท้ายว่าด้วยระบบสังคมนิยมประเจียมานิจกัมพูชาก็ถึงกาลสิ้นสุดลง เมื่อ แปน โสวัน อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกได้ถึงแก่อนิจกรรมในปลายตุลาคม

อภิญญา

แปน โสวัน ตามตำแหน่งที่เคยเป็นถึงผู้นำประเทศ และ ส.ส.กำปงสะปือ สังกัดพรรคฝ่ายค้าน โดยหลังจากทำตั้งศพที่จังหวัดตาแก้วบ้านเกิดแล้วชั่วคราว หีบศพของเขาจึงถูกขอให้เคลื่อนมาทำพิธีที่เมืองหลวง เพื่อนำมาทำพิธีฌาปนกิจที่หน้าวัดบัวตุมวไต สถานที่ตั้งเมรุมาศสำหรับทำพิธีศพบุคคลสำคัญระดับชั้นออกญา สมเด็จ ผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ เช่นล่าสุดคือพิธีศพของสมเด็จเจีย ซิม ที่ผ่านมา

แต่กรณีโสวันซึ่งเป็นอดีตรัฐบาลแต่กาลก่อน ทั้งยังเคยสังฆกรรมกับคณะบุคคลในรัฐบาล สมเด็จฮุน เซน และรัฐมนตรีอีกหลายคน แต่ศพของเขากลับถูกปฏิเสธให้ตั้งทำพิธีในฐานะระดับเดียวกัน โดยผู้ว่าราชการกรุง แจ้งว่า-ไม่อนุญาต

“ท่านเอกอุดมแปน โสวัน เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ เคยทำคุณความดีหลายอย่างให้บ้านเมืองจนถูกต่างชาติจับไปขังคุกกว่า 10 ปี ความกล้าหาญของท่านมันยิ่งใหญ่ แล้วทำไมเราจะไม่แสดงความเคารพอาลัยต่อท่านบ้างเป็นครั้งสุดท้าย” คณะกรรมการพิธีศพของ แปน โสวัน ระบายอารมณ์ต่อวิทยุท้องถิ่น

นอกจากนี้ แม้จะไม่มีโอกาสทำพิธี ณ เมรุกลางแจ้งหน้าวัดบัวตุมวไตแล้ว วัดอีกแห่งหนึ่งยังอ้างงานบุญทอดกฐินเพื่อเลี่ยงจัดพิธีศพอดีตนายกฯ และ ส.ส. ท่านนี้อีกด้วย

อภิญญา

ทว่า ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งพิธีเคลื่อนขบวนศพ ฯพณฯ แปน โสวัน เข้ากรุง โดยมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมส่งความอาลัย

“คุณพ่อของฉันได้รับน้ำใจจากประชาชนที่มาร่วมพิธีและแสดงความรัก พวกเขาสงสารว่าท่านอุทิศชีวิตแก่บ้านเมือง ฉันรู้สึกตื้นตันใจ และเชื่อว่าจะทำพิธีเผาที่ไหนก็ไม่เป็นไร วิญญาณคุณท่านคงไม่น้อยใจ”

แปน บูนา ลูกสาวคนเดียวของโสวันแสดงบุคลิกภาพกล้าหาญ ที่น่าประทับใจต่อสาธารณชนครั้งแรกในวันที่พ่อของตนหมดลมหายใจ

สำเนียงเสียงกัมพูชาใต้ของเธอแจ่มชัด ไม่หวั่นไหวเจ็บช้ำทั้งยามที่ต้องเผชิญหน้าต่อคำถามที่ชาวกัมพูชาคาใจ อย่างเช่น นั่นคือ จริงหรือไม่ที่เธอและแม่เป็นญาติใกล้ชิดกับ ฟาม วันดง?

“ไม่เป็นความจริงเลย ดิฉันไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำเวียดนามท่านนี้เลย แต่ดิฉันเป็นเขมรทั้งชีวิตและจิตใจ”

ฉายชัดถึงลักษณะเด็ดเดี่ยวแบบเดียวกับ แปน โสวัน ที่ได้รับการยกย่องถึงอุปนิสัยที่กล้าหาญและมีมีจิตใจเปิดกว้าง

“ไม่ว่าเขาจะถูกทำร้ายรังแกและจับขังลงโทษ แต่เขากลับไม่เคยกล่าวอาฆาตมาดร้ายต่อคนที่กระทำต่อเขาสักครั้งเดียว มุ่งแต่เรื่องบ้านเมือง และอนาคต โดยไม่นึกถึงตัวเองเลย”

แต่มันน่าเศร้า เพราะทันทีที่เขาสิ้นลมหายใจไปเพียงไม่ถึง 48 ชั่วโมง ก็มีผู้ปล่อยคลิปฉาวของเขากับสรัยกำนัล/หรือหญิงเสน่หาทางโซเชียลมีเดีย

การโจมตีที่ไม่ต่างจากการสังหารบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วอีกครั้ง ได้สร้างความเดือดดาลต่อนักวิจารณ์สังคมบางกลุ่มที่เก็บอาการต่อ แปน โสวัน ในบทบาทที่พวกเขาใคร่ยกย่องและทนไม่ไหวต่อความต่ำทรามทางจริยธรรม ที่พวกเขากล่าวว่า ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมเขมรมาก่อน

แปน โสวัน ตายไปแล้ว กระนั้นร่างของเขานอนนิ่งไม่รับรู้ใดๆ อยู่ในโลงไม้ ก็ยังถูกสังหารซ้ำ อย่างน่าเคลือบแคลงว่า

แต่ใครกันที่อยู่เบื้องหลังการกระทำในครั้งนี้?

อภิญญา

มันเกิดขึ้นในค่ำวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายนวันที่ 20 เมื่อ 35 ปีก่อนของปี พ.ศ.2524 ขณะที่ แปน โสวัน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการเล่นกีฬาและกำลังกลับที่พักเขาสังเกตว่า เขาถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่เวียดนามมาสักระยะหนึ่ง แต่นั่นก็ยังไม่น่าแปลกใจที่ว่า ในวันนี้ดูเหมือนตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งคอยติดตามเขามาอีกคณะหนึ่ง

นั่นเองที่พบว่า เมื่อ แปน โสวัน ถึงเรือนรับรองเขาได้พบแขกผู้มาเยือน 2 คนที่จะทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาลนับจากวันนั้น

คนหนึ่งชื่อสหายสาย ภูทอง และอีกคนคือสหายฮุน เซน ซึ่งต่อว่า แปน โสวัน กรณีที่เขาดำริให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ ถกปัญหาชาวอพยพเวียดนามที่พากันทะลักไหลเข้ามาตั้งรกรากในกัมพูชา และว่าคนกลุ่มนี้ที่มาตั้งภูมิลำเนาก็เหมือนพวกคนเขมรสามัญทั่วไป

“บองเป็นคนคับแคบแบบพวกชาตินิยมคลั่งชาติเป็นผู้นำพรรคที่ไม่เหมาะสม เราไม่ควรมีคณะกรรมาธิการอะไรนั่น เราและเวียดนามควรเป็นหนึ่งเดียวกัน”

“มีคนในพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้” และคนทั้งสองร้องขึ้นว่า

“บองเป็นกบฏชาติ!”

จากนั้น ฮุน เซน ก็ควักเอากระดาษในกระเป๋าเสื้อออกมาอ่านเขามาหยุดยืนตรงหน้า แปน โสวัน แจ้งต่อเขาว่า

“การิยาลัยพรรคปฏิวัติกัมพูชาสมัยประชุมวิสามัญภายใต้อธิปไตยแห่งสหายเฮง สัมริน ได้มีมติว่าให้ปลดสหายบองแปน โสวัน โดยการิยาลัยประชุมพรรคให้มีมติเอกฉันท์ดังต่อไปนี้

1. นายแปน โสวัน ต่อต้าน/ประชังต่อระบบคอมมิวนิสต์สังคมนิยมเศรษฐกิจเสรี

2. นายแปน โสวัน เป็นคนมีจิตใจคับแคบเกินเหตุ ต่อต้านเวียดนามไม่ให้มาตั้งภูมิลำเนาที่กัมพูชา

3. เรื่องเกี่ยวกับ นายแปน โสวัน ไม่อนุญาตเครื่องบินเวียดนามและไม่เคารพนโยบาย-ก.5

โยงตามการิยาลัยประชุมพรรคทั้งหมดนี้ มีคำสั่ง นายบองแปน โสวัน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประกาศรัฐประหารนี้ ชีวิตของ แปน โสวัน ต้องขาดหายไปจากนั้นถึง 10 ปีกับอีก 52 วันที่เขาต้องใช้วิตอยู่ห้องขังเดี่ยวเรือนจำกรุงฮานอย

ทุกๆ เช้าเมื่อตื่นขึ้นมา เขาจะเขียนที่ฝาพนังห้องด้วยข้อความว่า “(ฉัน) ต้องไม่ตาย ต้องสู้ ต้องอยู่รอด”

 

คําบอกเล่าจากปากคำบุตรบุญธรรมที่ดูแล แปน โสวัน เมืองตาแก้ว และเรื่องราวที่เปิดเผยเพียงเล็กน้อยในคุกโดดเดี่ยวที่เขาเก็บงำเป็นความลับตลอด 10 ปีกับอีก 52 วัน

เมื่อถูกปล่อยตัวออกมานั้น ตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่นั้น แปน โสวัน ไม่เคยปริปากพาดพิงถึงผู้ใด

ต่อครั้งหนึ่งเมื่อปลายชีวิตที่เขารับเชิญไปตรวจสุขภาพที่ออสเตรเลีย

ที่นั่น ซีมอน ฮิม สตรีวัยคราวลูกกล่าวถึงเขาด้วยน้ำตาคลอเบ้า ว่าสิ่งที่เขาทำไว้แก่ประเทศ ครั้งนั้นยังผลให้พวกเธอได้มีชีวิตใหม่ เธอไม่ลืมการกระทำของเขาอยากให้ชุมนุมชาวเขมรโพ้นทะเล ได้ตอบแทนน้ำใจต่อเขาบ้าง

และตอนนั้นเองที่ชาวเขมรโพ้นทะเลคนหนึ่งได้ขอให้ แปน โสวัน เล่าถึงเรื่องราวในคุก

ผู้คนต่างพากันจดจ่อรอฟัง แต่พอ แปน โสวัน เริ่มเอ่ยปากเท่านั้น โรคเก่าลิ้นคับปากก็กลับมากำเริบ

มันยังเป็นความลับที่ดับไปกับร่างที่วายปราณไปแล้วนั่น เพราะถึงจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครรับรู้ความจริงว่า เกิดอะไรขึ้นกับ แปน โสวัน ตลอด 10 ปี 52 วันที่เขาเดียวดายอยู่ในคุก

ยังเป็นความลับมืดดำต่อไปอย่างนิรันดร์

 

วันที่ 20 พฤศจิกายน ขณะกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้อย่างบังเอิญว่าเมื่อ 35 ปีก่อน และมันคือวันมรณะที่ แปน โสวัน สูญเสียตำแหน่งสำคัญทางการเมืองแก่สหายผู้กระทำรัฐประหาร

หากแต่ตลอด 25 ปีที่เขามีโอกาส แปน โสวัน ไม่เคยลดละความทุ่มเททางการเมืองซึ่งครึ่งหนึ่งของเวลาที่เหลือนั้น คือความสำเร็จที่เดินมาได้เพียงครึ่งทาง

ขณะที่หลายชีวิตที่เขาเคยหยิบยื่นโอกาสกลับรุ่งเรืองโชติช่วงตลอดช่วงชีวิตการเมืองมาตลอด ใน 3 ทศวรรษของตนซึ่งครั้งหนึ่งสหายแปน เคยแต่งตั้งร่วมรัฐบาลประเจียมานิจ ซึ่งล้วนแต่เป็นอดีตปัญญาวรรณในรัฐบาลเขมรแดง

แปน โสวัน ยืนยันว่าพวกเขาผ่านทุกข์เศร้าของประเทศมาไม่ต่างจากตน ที่สำคัญพวกเขาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ

แต่นั่นทำให้เขามีมติขัดแย้งกับพรรคที่ยึดหลักการไม่ส่งเสริมชนชั้นปัญญาวรรณ

ปัญญาวรรณหลายคนที่ แปน โสวัน หยิบยื่นโอกาสให้ หลายคนยังมีชีวิตและบางคนยังมีตำแหน่งในรัฐบาล เช่น นายกง สมโอล รมต.สำนักพระราชวัง และ นายฮอ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมต.ต่างประเทศหลายวาระ รวมทั้ง สมเด็จเฮง สัมริน อดีตหัวหน้าการิยาลัยประชุมพรรคเมื่ออดีต

และอัครมหาเสนาบดีเดโชสมเด็จฮุน เซน ชนผู้อัปเปหิชีวิต แปน โสวัน พ้นจากวัฏจักรการเมืองกัมพูชาทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม

แต่อนิจจา แม้จะได้รับน้ำใจของ แปน โสวัน มาบ้าง แต่เมื่อเขาตายไปแล้ว อดีตสหายเก่าเหล่านี้ไม่เคยแม้จะกล้าหาญปรากฏตัว เพื่อแสดงน้ำมิตรและจิตใจครั้งสุดท้ายต่อเขาเลย

การตายของ แปน โสวัน จึงเปรียบเหมือนหลุมโพรงความรู้สึกอันตายซากอันมืด ดำและว่างเปล่าของสหายบางคน

ซึ่งเชื่อกันว่าทั้งโลกย์นี้และโลกย์หน้า พวกเขาไม่น่าจะพบกันอีก